ทุกครั้งที่มีการกดแอปพลิเคชันสั่งอาหารเดลิเวอรี (food delivery) มีข้อมูลที่น่าสนใจที่ไม่เพียงสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนว่ากำลังสนใจอะไร ชอบกินอะไร อยู่ที่ไหนกันบ้าง แต่ยังมีฐานข้อมูลที่บ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศด้วย

อย่างที่ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า แอปพลิเคชันสั่งอาหารเดลิเวอรี่สามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้อย่างละเอียดชนิดที่รู้ว่าคนไทยชอบรับประทานอะไร ชอบสั่งร้านไหน จนถึงขั้นชอบสั่งไปส่งที่ย่านไหน อย่างของไทยมีฐานข้อมูลที่บ่งบอกถึงร้านอาหารและฐานลูกค้ากระจุกตัวอยู่ใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจมากกว่า เพราะในระบบการสั่งอาหารและธุรกรรมที่เกิดขึ้น จะเห็นข้อมูลที่มีจำนวนไรเดอร์อยู่กันอย่างหนาแน่นในบริเวณใจกลางเมืองดังกล่าว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทาง

ตัวอย่างแรกคือ ความร่วมมือระหว่างวงในกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในช่วงปี 2559 ที่มีการใช้ข้อมูลร้านอาหารทั้งหมดในเมืองไทยซึ่งมีประมาณ 1 ล้านร้าน ที่เก็บข้อมูลทั้งขนาดและระยะเวลาในการเปิดร้านไปจนถึงในกรณีที่ร้านปิด เห็นการเริ่มและเลิกกิจการ เห็นอัตราการเปิด-ปิดร้าน และการกระจุก-กระจายตัวของร้าน

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai

...

ตัวอย่างที่สองคือ สิ่งที่อิสริยะเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘ดัชนีกะเพรา’ ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2565 ที่มีข่าวเรื่องหมูราคาแพงขึ้น จึงมีการจัดทำข้อมูลราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยขึ้นมาเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพกับเงินเฟ้อในช่วงนั้น อย่างข้อมูลที่ LINE MAN Wongnai ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ เมื่อปี 2565 ได้เปิดเผยรายงานดัชนีราคาอาหารจานเดียวทั่วประเทศไทย ระหว่างปี 2563-2565 โดยใช้ข้อมูลราคาที่ขายจริงจากร้านอาหารกว่า 7 แสนร้านที่ขายเดลิเวอรีบนแพลตฟอร์ม LINE MAN ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วประเทศแพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างพฤษภาคม 2564 และพฤษภาคม 2565 ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์

ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพและปริมณฑล เฉลี่ยจานละ 7 บาท แต่ต่างจังหวัดราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าในกรุงเทพและปริมณฑล โดยอาหารเมนูหมูยังราคาใกล้เคียงเดิม แต่เมนูไก่ราคาแพงขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

สำหรับข้าวผัดกะเพราราคาพุ่ง แพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาท ภายใน 4 เดือนแรกของปี 2565 (ข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565) จากเฉลี่ยจานละ 56 บาท เพิ่มเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท

ในตอนท้าย อิสริยะกล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชน แม้ข้อมูลหลายส่วนจะเป็นความลับทางธุรกิจ ทว่ามีข้อมูลหลายประการที่สามารถเปิดเผยได้เพื่อที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ โดยเฉพาะในแง่การออกนโยบายและการวางแผนต่างๆ แต่ที่ต้องคำนึงถึงคือ ความสามารถในการเก็บรักษาข้อมูล โดยเฉพาะความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐติดต่อมาขอรับข้อมูลจากเราอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือ ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานภาครัฐจะสามารถเก็บรักษาข้อมูลที่เราให้ไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะข้อมูลหลายอย่างเป็นเรื่องที่อ่อนไหว (sensitive) ถ้าหลุดไปแล้วจะมีผลกระทบตามมา”

“เพราะฉะนั้น ผมมองว่าภาครัฐต้องมีกลไกหรือกรอบทางกฎหมายบางอย่างที่ทำให้ภาคเอกชนเชื่อใจได้ว่า ถ้าให้ข้อมูลไปแล้วจะไม่มีปัญหา” อิสริยะทิ้งท้าย

ที่มาข้อมูลและภาพ: งานสัมมนา dataCon 2024: Data Sparks Orbit, Change Takes Flight! วันที่ 5 ตุลาคม 2567 Rocket Media Lab, Skooldio, WeVis, Punch Up, Boonmee Lab, HAND, 101 และ 101PUB