ความแตกต่างของเหล้าเถื่อนและสุราชุมชน มีสิ่งใดควรพึงสังเกต เพื่อความปลอดภัยก่อนดื่ม

สุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นศาสตร์หนึ่งที่สามารถจำแนกแยกแตกออกมาได้หลากหลายประเภท ตามวัตถุดิบและกระบวนการผลิต โดยเสน่ห์ของเครื่องดื่มสายมึนเมานี้คือ วัฒนธรรม วัตถุดิบ กระบวนการ การนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์จากการกลั่นเหล้าของพื้นที่นั้นๆ โดยสิ่งนี้ถูกเรียกว่า “สุราชุมชน” หรือ “สุราพื้นบ้าน” ซึ่งในต่างประเทศสิ่งที่ชูออกมาทั้งหมดนี้ทำรายได้ได้อย่างมหาศาล 

ข้อมูลจากไทยรัฐพลัส กล่าวว่า “ด้วยกระแสกฎหมายสุราก้าวหน้าเมื่อปี 2565 ทำให้ยอดขายสุราชุมชนชนิดสุราขาวสูงขึ้นจนบางเจ้าผลิตไม่ทันถึงขั้นสั่งจองล่วงหน้า ‘เหล้าขาว’ หลายยี่ห้อเริ่มปรากฏผ่านสื่อหลัก ทั้งโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย เรื่องเล่าเบื้องหลังเหล้าเริ่มมีมิติ มีเสน่ห์หลากหลายจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว อ้อย ลำไย กล้วย มีสตอรี่เบื้องหลังที่แตกต่างน่าค้นหา สุราระดับราษฎรที่ผลิตจากวัตถุดิบอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่เห็นโอกาสว่าจะถูกผลักดันไปสู่ระดับโลกได้ไม่ยาก” ทำความรู้จักสุราชุมชนเพิ่มเติมที่นี่

อย่างไรก็ตาม กฎหมายแบบรูปธรรมนี้ยังไม่ได้ออกมาอย่างแน่ชัดมากนัก อุปสรรคของข้อกฎหมายทำให้การผลิตสุราต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจน และไม่ใช่ทุกคนจะสามารถต้มเหล้าหลังบ้านขายได้ง่ายๆ 

ทั้งหมดทำให้คำว่า สุราชุมชน กับ เหล้าเถื่อน ในบ้านเมืองเรายังมีเส้นบางๆ ขีดกั้นอยู่ เนื่องจาก “กฎหมายควบคุม” ของข้อจำกัดนี้อาจทำให้การกลั่น กระบวนการ ต้นทุน รวมถึงการหลบๆ ซ่อนๆ นี้ อาจเป็นช่องทางทำให้มีผู้ไม่หวังดีริเริ่มสร้างมันออกมาเพื่อรายได้ ทำให้คำสองคำข้างต้นนี้ดูจะคล้ายคลึงกัน และเริ่มไม่แน่ใจว่า “น้ำเมานี้อันตรายหรือไม่” 

...

สุราชุมชน Vs เหล้าเถื่อน “สุราชุมชน” คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในระดับชุมชน มีทั้งสุราแช่ เช่น อุ สาโท และสุรากลั่นที่เกิดจากการหมักพืชที่ให้น้ำตาล เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด ผสมกับยีสต์ เมื่อยีสต์กินน้ำตาลจนหมดจะได้เป็นแอลกอฮอล์ธรรมชาติ ผ่านกรรมวิธี หมัก ต้ม

ในส่วนของ “เหล้าเถื่อน” นั้น จะมีความแตกต่างเพราะเหล้าเถื่อนตัวนี้ส่วนใหญ่จะเกิดมาจากเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอล ซึ่งนี่คือสารเคมี เป็นสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเฉพาะตัว มีไว้ใช้ผลิตเชื้อเพลิง และเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารเคมีอื่นๆ จึงทำให้ยากต่อการแยกแยะจากเอทานอล (แอลกอฮอล์ที่ใช้ในการดื่ม)

 สารตัวร้ายนี้จึงมักเป็นที่นิยมในการนำมาทำเหล้าเถื่อนที่ไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากราคาต้นทุนน้อย ถูก และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือสารเคมีนี้ทำให้แยกแยะจากเอทานอลยาก คนมักจะเข้าใจผิดนำมาทดลองต้มกลั่นดื่มเอง รวมถึงบุคคลที่เห็นแก่ผลประโยชน์ นำมาจัดจำหน่ายในราคาล่อตาล่อใจแก่ผู้ที่เข้าข่ายติดสุรา และโรคพิษสุราเรื้อรัง 

การหลีกเลี่ยง สามารถดูได้จากการเลือกซื้อสุราที่มีสแตมป์อากรที่ผ่านการรับรองจากสรรพสามิตเป็นหลัก งดบริโภคและดื่มแอลกอฮอล์จากซุ้มยาดอง และไม่เลือกดื่มสุราที่ไม่มีที่มาที่ไป และรวมไปถึงการลด ละ เลิกในการดื่มสุรา 

สารเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอลจากเหล้าเถื่อนนี้จะสามารถทำให้ผู้ดื่มได้รับสารพิษ ส่งผลกระทบที่สะสมในร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว เวียนศีรษะ ปวดหัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ชัก และหมดสติ ส่งผลต่อชีวิตได้ อย่างไรก็ดีหากมีอาการน่าสงสัยจากพิษเมทานอล ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที 

ปัจจุบันแน่นอนว่ายังมีข้อมูลที่เป็นเส้นบางๆ ระหว่างสุราชุมชน และเหล้าเถื่อน ที่ยังมีคนส่วนมากยังไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้นแล้วการช่วยกันให้ความรู้ โทษ และภัยสุขภาพจากสุรา รวมถึงการรณรงค์ลดละเลิกเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจากเลี่ยงสารอันตรายต่อชีวิตแล้ว ยังสามารถช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้อีกด้วย

ข้อมูล : สสส. , thairath plus