คนจำนวนไม่น้อยมักจะเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่าคนที่มีบุคลิกแบบ Introvert ซึ่งชอบเก็บตัว เป็นกลุ่มเดียวกับโรคกลัวสังคม (Social anxiety disorder) ที่มักจะมีอาการวิตกกังวลเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ซึ่งแม้จะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความต่างของ Introvert และโรคกลัวสังคม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า Introvert เป็นคำที่บอกถึงลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่ชอบเก็บตัว พูดน้อย ไม่ชอบเริ่มบทสนทนาก่อนเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า บุคลิกภาพที่ชอบทำกิจกรรมต่างๆ เพียงคนเดียว ซึ่งผู้คนที่มีบุคลิกภาพประเภทนี้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และไม่ได้มีความวิตกกังวลเมื่อต้องพบปะพูดคุยกับผู้อื่น แม้ในบางครั้งอาจรู้สึกหมดพลัง แต่สามารถเพิ่มพลังให้กับตัวเองได้เมื่ออยู่คนเดียว
ขณะที่โรคกลัวสังคม หรือ Social anxiety disorder เป็นอาการวิตกกังวลอย่างหนึ่ง กลุ่มคนที่จะมีความกังวลอย่างรุนแรงในการเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับผู้อื่น กลัวการถูกตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ หรือกลัวว่าผู้อื่นมองว่าตนเองไม่ปกติ จนส่งผลให้หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เช่น การสนทนากับผู้อื่น หรือพูดคุยต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก และส่งผลต่อปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
...
ดังนั้น Introvert จึงเป็นลักษณะของบุคลิกภาพไม่ใช่ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งคนที่เป็น Introvert ไม่ได้กลัวการเข้าสังคมหรือกลัวการพูดคุยกับผู้อื่น แต่การสื่อสารกับผู้อื่นจะต้องใช้พลังงานมาก การที่ได้อยู่กับตนเองได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบจะเป็นการเติมพลังมากกว่าการพบปะผู้คน
ส่วนผู้ที่เป็นโรคกลัวสังคม จะมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องเจอคนแปลกหน้า เพราะกลัวว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าผู้อื่น จึงหลีกเลี่ยงสภาวะกดดัน จนไม่สามารถทำงานหรืออยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ ทำให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำหน้าที่หรือได้รับโอกาสที่สำคัญต่างๆ
แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกุล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital เผยว่า โรคกลัวสังคม (Social anxiety disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรควิตกกังวลที่สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเพศหญิง หรือเพศชาย โดยอาการจะเด่นชัดในช่วงวัยรุ่น
อาการโรคกลัวสังคม
- รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวการเข้าสังคมอย่างรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือสถานการณ์ที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- มีอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น เหงื่อออก พูดติดอ่าง หน้าแดง ท้องเสีย ปวดท้อง
- มีอาการทางจิตใจ เช่น รู้สึกกังวล กลัวถูกตัดสิน กลัวถูกปฏิเสธ
สาเหตุโรคกลัวการเข้าสังคมสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น สารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงไป, คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล, สภาพแวดล้อม เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกเพื่อนรังแก, ความกดดันจากการทำงาน และความผิดปกติด้านร่างกาย เช่น ใบหน้าเสียโฉม พูดติดอ่าง
...
โรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) สามารถรักษาให้หายได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยวิธีที่มักนำมาใช้รักษา ได้แก่ การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคกลัวสังคมมักเป็นยาในกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้าหรือยาต้านความวิตกกังวล ยาเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และการบำบัดด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) จะเป็นการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์เพื่อจัดการกับความกังวลด้วยการผ่อนคลายร่างกาย และปรับความคิดแง่ลบให้เป็นบวก ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรควิตกกังวล
อย่างไรก็ตาม โรคกลัวการเข้าสังคม อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในชีวิต เช่น โอกาสในการเรียน การทำงาน บางคนที่มีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นหากใครมีอาการกลัวสังคมต่อเนื่องกันนานเกิน 6 เดือน ควรรีบมาพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม