จากเหตุการณ์รถบัสไฟไหม้นอกจากสร้างความเศร้าสะเทือนใจให้กับผู้คนที่เสพข่าวสารแล้ว ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงย่อมเกิดผลเสียรุนแรงต่อจิตใจเป็นอย่างมาก แล้วเราควรรับมืออย่างไรดีหากต้องเจอกับความรุนแรงดังกล่าว
เมื่อคนที่เจอเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องที่คาดไม่ถึงและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต จะทำให้เกิดความกลัว กังวล รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีการตอบสนองต่อการเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงที่แตกต่างกัน จนทำให้มีความรู้สึกกังวล เศร้า โกรธ นอนไม่หลับ เสียสมาธิ คิดวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีอาการค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง แต่บางคนยังคงมีอาการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาจเกิดเป็นโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง posttraumatic stress disorder (PTSD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน Acute stress disorder (ASD)
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) เผยว่าอาการที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่ กังวล เศร้า หรือกลัวมาก, ร้องไห้บ่อย, โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจมาก, สมาธิความจำไม่ดี, ฝันร้าย นอนไม่หลับ, คิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กลัวว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีก, หลีกเลี่ยงสถานที่ ผู้คน หรือสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น, แยกตัวจากสังคม, มีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง เหงื่อแตก ใจสั่น และตื่นตกใจง่าย
7 วิธีรับมือความเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง กระทบจิตใจ
- เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีความเครียด มีอารมณ์ร่วมกับข่าวมากไป ให้ดึงตัวเองออกจากการรับรู้ข่าวสาร งดการเข้าไปมีส่วนร่วมกับข่าว ทั้งการแชร์ การคอมเมนต์ที่รุนแรงเกรี้ยวกราด เนื่องจากเป็นการส่งต่อความรุนแรง
- ใช้เวลาอยู่กับคนที่คุณอยู่ด้วยแล้วสบายใจ ไว้ใจ พูดคุย ระบายความรู้สึก อย่าแยกตัวไปอยู่คนเดียว
- สงบจิตใจตัวเองด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิกำหนดลมหายใจ เข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง ออกกำลังกาย
- ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ดูแลตัวเอง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ควรใช้สุรายาเสพติด
- ถ้ามีความรู้สึกอยากร่วมช่วยเหลือในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถมีส่วนร่วมได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น บริจาคเงิน
- ถ้ามีคนรู้จักมีความเครียดมากในเรื่องนี้ คุณสามารถช่วยเขาได้โดยการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างไม่ตัดสินความคิดความรู้สึกของเขา ช่วยเหลือเขาเท่าที่คุณสามารถทำได้
- สังเกตอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง หากเครียดมากไป ไม่สามารถรับมือได้ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา
...
ทั้งนี้ การจัดการความเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทน ผู้ที่พบเจอเหตุการณ์ความรุนแรงควรใจเย็นและค่อยๆ เรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม แต่ถ้าไม่สามารถจัดการความเครียดได้ แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
สำหรับบุคคลทั่วไปที่เสพข่าวสารเหตุการณ์ความรุนแรงจนเกิดความเครียดวิตกกังวล ผศ.นพ.วัลลภ อัจฉริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่านี่คือภาวะ Headline Stress Disorder คือ ภาวะเครียดหรือวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่างๆ ที่มากเกินไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
หากมีอาการดังกล่าวสามารถจัดการกับ “ภาวะเครียดจากการเสพข่าว” ได้ด้วยตนเอง ดังนี้
- จำกัดเวลาในการเสพข่าว
- หากเครียดมาก ควรงดเสพข่าว หรืองดใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
- อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
- ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก
- อ่านข่าวที่ดีต่อสุขภาพจิต อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
- ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายจากภาวะเครียด เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจและอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวด้วย