ไปต่อไม่รอแล้วนะ!! ปลัดกระทรวงมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” พร้อมด้วย “ดร.วันดี กุลชรยาคง จุลเจริญ” นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และ “สยาม ศิริมงคล” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม รอบตัดสิน ระดับภาค (Quarter Final) ตอกย้ำความสำเร็จของผ้าไทยเกิดขึ้นได้ด้วยผู้นำการ Change for Good ของชาวมหาดไทย ในการน้อมนำแนวพระดำริสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน

สำหรับการประกวดครั้งนี้ ได้คณะกรรมการตัดสินจากหลากหลายวงการ อาทิ “ธีระพันธ์ วรรณรัตน์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) ประจำปี 2562, “ดร.ศรินดา จามรมาน” นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, “ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, “ศิริชัย ทหรานนท์” เจ้าของแบรนด์ THEATRE, “ภูภวิศ กฤตพลนารา” เจ้าของแบรนด์ ISSUE, “อนุชา ทีรคานนท์” คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “นุวัฒน์ พรมจันทึก” ช่างต้นแบบสิ่งทอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ, “ดร.กรกลด คำสุข” และ “ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน” จากวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว และ “มิลิน ยุวจรัสกุล” เจ้าของแบรนด์ Milin พร้อมคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน

...

ในฐานะโต้โผใหญ่ “ปลัดเก่ง-สุทธิพงษ์” บอกเล่าว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม เป็นไปตามแนวพระดำริ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ที่พระองค์ทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” อันเป็นการสนองพระราชปณิธานของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ช่วยทำให้ประชาชนมีความสุข และยิ่งกว่านั้นทำให้ได้โอกาสในการพัฒนาฝีมือการผลิตผ้าไทยและงานหัตถกรรมต่างๆ ด้วยการน้อมนำลายผ้าพระราชทาน, องค์ความรู้, ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ มาผลิตเป็นชิ้นงานที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดรายได้จากชิ้นงาน จากการใช้เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม, ผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จจากตัวเลขสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, เกิดรายได้จากผ้าไทยและงานหัตถกรรมเพิ่มขึ้นจากหลักพันล้านเป็นแสนล้าน โดยเฉพาะผ้าไทยมีรายได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจริงภายในระยะเวลา 3-4 ปี เป็นความสำเร็จที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในการช่วยกันสนองแนวพระราชดำริ ด้วยการทำให้งานทุกชิ้นงาน ทั้งผ้าไทย, หัตถกรรมไทย, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่มาจากทักษะฝีมือคนไทย ได้ตอบโจทย์และตอบสนองต่อรสนิยมของคนในสังคม ซึ่งแฟชั่นต้องมีการ “Change for Good” อยู่ตลอดเวลาจะเห็นได้ จากสิ่งที่พระองค์หญิงพระราชทานมาให้ คือหนังสือ “Thai Textiles Trend Book” ทั้งการใช้สีธรรมชาติ ลายผ้าพระราชทานใหม่ๆ อันมี Story telling มากมาย ซึ่งมีความหมายสื่อไปถึงความจงรักภักดีของพระองค์และประชาชนคนไทยทุกคน ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

สำหรับการจัดประกวดในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม โดยมีผู้ประกอบการ OTOP, ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม ส่งผลงานเข้าประกวดอย่างคึกคัก แบ่งเป็นประเภทผ้า 8,117 ผืน และงานหัตถกรรม 534 ชิ้นงาน รวมทั้งสิ้น 8,651 ชิ้นงาน โดยในรอบตัดสิน ระดับภาค มีผ้าและงานหัตถกรรมผ่านเข้ารอบ จำนวน 355 ชิ้นงาน ประกอบด้วย ประเภทผ้า จำนวน 334 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 21 ชิ้นงาน...นับเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่