เตือนภัย 5 โรคติดต่อจากน้องแมวสู่คนที่ถูกพบบ่อยที่สุด และมีผู้ป่วยจากโรคติดต่อเหล่านี้ทั่วโลกถึง 79%

ปัจจุบันโรคติดต่อของมนุษย์บางชนิดมักจะมีพาหะที่เกิดขึ้นมาจากสัตว์หลายชนิด ส่วนใหญ่เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสุนัขและแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมสุดน่ารักของใครหลายๆ คน

ความร้ายแรงของโรคติดต่อเหล่านี้ในแต่ละชนิดจะมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสุขอนามัย สภาพแวดล้อมของสัตว์เลี้ยง และสัตว์ต่างๆ ซึ่งมีผลสำรวจที่ตรวจพบว่า “ทั่วโลกมีผู้ป่วยจากโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมากถึงร้อยละ 79”

ยิ่งในปัจจุบัน น้องแมวเป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงคู่บ้านที่คนนิยมรับมาอุปการะเลี้ยงดูกัน แต่รู้หรือไม่ว่าหากปล่อยปละละเลยขาดการเอาใจใส่ สภาพแวดล้อมโดยรอบไม่เป็นใจ และยิ่งช่วงฤดูฝนนั้นอาจทำให้แมวสุดน่ารักในบ้านของคุณเป็นพาหะนำโรคร้ายได้โดยไม่รู้ตัว

5 โรคติดต่อยอดนิยมจาก "น้องแมว" สู่คน

1. โรคพิษสุนัขบ้า

โรคที่ติดต่อยอดนิยมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และน้องแมวก็เป็นอีกหนึ่งในพาหะสำคัญ โดยเฉพาะน้องแมวจร แมวเลี้ยงระบบเปิด ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนที่ครบถ้วน ทำให้หากเมื่อเราถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากัด เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้สามารถวิ่งเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณนั้น ลุกลามไปถึงสมอง หากไม่ได้รับการรักษาหรือวัคซีน ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน : นำแมวเหล่านี้ไปรับฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง และทุกครั้งควรมีสมุดประจำตัวแมวติดตัวไปด้วย เพื่อแสดงหลักฐานว่าได้ฉีดจริง เวลาแมวไปกัดใครเข้า คนอื่นๆ จะได้ปลอดภัยเนื่องจากมีหลักฐานครบ ผู้ที่ถูกกัดจะได้ไม่ต้องไปฉีดยาเพื่อป้องกัน

...

2. โรคเชื้อราบนผิวหนัง

แม้โรคเชื้อราบนผิวหนังจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นหนึ่งในโรคที่สามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัส และติดต่อได้ง่าย ยิ่งในช่วงฤดูฝนจะทำให้แมวเป็นโรคนี้บ่อย ต้องหมั่นตรวจสอบและเช็กอาการให้ถี่ถ้วน เพราะโรคนี้จะทำให้ผิวหนังเป็นรอยเชื้อราจ้ำเป็นวงกว้าง และรักษาหายได้ยาก โดยส่วนใหญ่มักจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้เจ้าของเป็นประจำ

วิธีการป้องกัน : หมั่นสังเกตอาการของน้องแมวของคุณ หากมีอาการเกา คัน ขนหลุด ให้รีบพาแมวของคุณไปหาหมอเพื่อติดตามอาการ เพราะหากยิ่งรักษาเร็ว จะรักษาได้หายอย่างทันท่วงที รวมถึงการทำความสะอาดที่พักและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดของแมวด้วย

3. โรค Toxoplasmosis (โรคเชื้อราขึ้นสมอง)

เกิดขึ้นได้จากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในอุจจาระแมว ซึ่งมีโอกาสติดต่อจากแมวที่มีพาหะเท่านั้น โดยติดต่อจากการสัมผัสขี้แมวโดยตรง เช่น การเก็บอุจจาระแมวโดยไม่สวมถุงมือ เกิดการสัมผัสโดน

โรคเชื้อราขึ้นสมองจึงเป็นหนึ่งโรคที่สามารถสังเกตอาการได้ยาก เพราะไม่มีอาการที่ชัดเจน สำหรับอาการที่เกิดในแมวที่เป็นพาหะส่วนใหญ่จะเป็นแมวที่มีลำไส้อักเสบ ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ ปอดบวม สมองอักเสบ และอาจมีอาการชักหรือกระตุก

ส่วนอาการของคนอาจพบต่อมน้ำเหลืองบวม มีไข้ เกิดพยาธิสภาพที่ตา และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยอาการที่ติดในคนนั้นหากเกิดกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ เชื้อนี้อาจทำให้แท้งลูกได้

วิธีป้องกัน : ทุกครั้งที่เอากระบะอุจจาระแมวไปทำความสะอาด ควรใส่ผ้าปิดจมูกป้องกันการฟุ้งกระจาย เวลาหลังจากล้างเสร็จควรนำไปตากแดดฆ่าเชื้อโรคก่อนเป็นประจำ และเวลาเก็บอุจจาระแมว ควรสวมถุงมือและสวมหน้ากากอนามัย และเก็บอุจจาระแมวใส่ถุงที่บรรจุปิดอย่างมิดชิดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย

4. โรคหอบหืดภูมิแพ้

โรคหอบหืดภูมิแพ้ส่วนใหญ่เกิดจากขนแมว ขี้ไคลแมวที่แมวมักจะเอามาป้ายเจ้าของ ส่วนใหญ่พาหะจะมาจากแมวที่ชื่นชอบการกัดหรือเล่นแมลงสาบ แมวที่ชอบไปคลุกฝุ่น

วิธีป้องกัน : หมั่นอาบน้ำให้แมวเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการเอาแมวมานอนบนที่นอน

5. โรคติดเชื้อจากแผล เช่น โรคบาดทะยัก การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออย่างเฉียบพลัน (Cellulitis)

ช่องปากของแมวมีเชื้อโรคมากมาย ยิ่งกว่าเชื้อโรคตามพื้นถนน ดังนั้นการโดนแมวกัดจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก สังเกตได้ว่าแผลโดนแมวขบเล็กๆ ทิ้งไว้เพียงวันเดียวก็สามารถแดงบวมขึ้นกลัดหนองได้

วิธีป้องกัน : หากโดนแมวกัด ก็ควรล้างน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด และสังเกตว่ามีลักษณะปวดบวมแดงร้อนหรือไม่ หากมีก็อาจจะต้องเจาะล้างหรือกินยาปฏิชีวนะ ส่วนเรื่องของบาดทะยัก หากใครก็ตามที่ฉีดมานานกว่า 10 ปี ก็สมควรไปฉีดกระตุ้นเสมอ โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงแมวและโดนกัดหรือข่วนเป็นประจำ

ข้อมูล : เว็บไซต์มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาพ : istock