Rocket Media Lab ชวนสำรวจลานกีฬาในกรุงเทพมหานคร ต่อยอดจากกระแสกีฬาโอลิมปิก 2024 พบว่ากรุงเทพฯ มีลานกีฬา 1,126 แห่ง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษา จึงทำให้มีลานกีฬาที่เข้าถึงได้เพียง 521 แห่ง
Rocket Media Lab ออกรายงานที่มีชื่อว่า กรุงเทพฯ มีลานกีฬาที่ไหน แล้วเล่นกีฬาอะไรได้บ้าง
Rocket Media Lab อ้างอิงข้อมูลจากกองสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดเก็บข้อมูลลานกีฬาใน 50 เขตของกรุงเทพฯ พบว่า มีลานกีฬาทั้งหมด 935 แห่ง
ในเวลาเดียวกัน ยังมีลานกีฬาในกรุงเทพฯ ที่จัดเก็บข้อมูลโดยกรมพลศึกษา จำนวน 247 แห่ง เมื่อนำทั้งสองข้อมูลมารวมกันและลบข้อมูลลานกีฬาที่มีความซ้ำซ้อนออก พบว่า กรุงเทพฯ มีลานกีฬาอยู่ 1,126 แห่ง โดยไม่นับรวมลานกีฬาที่อยู่ในสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เนื่องด้วยลานกีฬาเหล่านั้นถูกจัดเก็บข้อมูลภายใต้การจัดประเภทว่าเป็นสวนสาธารณะ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ลานกีฬาที่มีอยู่ทั้งสิ้น 1,126 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่แล้วอยู่ในสถานศึกษามากที่สุด 419 แห่ง รองลงมาคือชุมชน 324 แห่ง ตามด้วยเอกชน 148 แห่ง เป็นต้น
...
จากกราฟเห็นได้ว่า ลานกีฬาในกรุงเทพฯ มีจำนวนและขนาดพื้นที่มากที่สุดในสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งในแต่ละสถานศึกษามักจะมีสนามกีฬา สำหรับเล่นฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือบาสเกตบอล การนับรวมลานกีฬาที่อยู่ในสถานศึกษาจึงทำให้ตัวเลขลานกีฬาในกรุงเทพฯ มีจำนวนสูง
ขณะที่ ลานกีฬาที่เป็นลานกีฬาสาธารณะมีเพียง 107 แห่งเท่านั้น ส่วนลานกีฬาชุมชนที่มีจำนวนไม่น้อย 324 แห่ง มักเป็นเพียงลานอเนกประสงค์ที่ใช้ในการทำกิจกรรม กีฬา และสันทนาการ เช่น เต้นแอโรบิก ฟุตซอล แบดมินตัน (แบบไม่มีเน็ต) เป็นต้น
ที่น่าสนใจก็คือ การเข้าถึงลานกีฬายากง่ายแค่ไหน โดย Rocket Media Lab ได้นำข้อมูลของลานกีฬาทั้ง 1,126 แห่ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- เข้าถึงได้ หมายถึง คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้
เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข หมายถึง คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้ ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องสมัครสมาชิก ต้องขออนุญาต หรือเฉพาะในช่วงเวลา เช่น โรงเรียน ที่อาจจะต้องหลังเวลาเลิกเรียนแล้ว
เข้าถึงไม่ได้ หมายถึง คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้
จากทั้ง 3 ประเภท เป็นลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง คิดเป็น 2,309,113.16 ตร.ม. เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข 410 แห่ง คิดเป็น 2,597,080.08 ตร.ม. และเข้าถึงไม่ได้ 195 แห่ง คิดเป็น 531,748.6 ตร.ม. แม้ลานกีฬาที่เข้าถึงได้จะมีจำนวนมากที่สุด แต่หากพิจารณาจากขนาดพื้นที่รวมกันจะพบว่า ลานกีฬาที่เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไขมีพื้นที่รวมกันมากที่สุดในกรุงเทพฯ
เมื่อเจาะเฉพาะลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง เห็นได้ว่า แม้ลานกีฬาที่ตั้งอยู่ในชุมชนจะมีจำนวนมากที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบจากขนาดพื้นที่รวมแล้วพบว่าลานกีฬาสาธารณะนั้นมีพื้นที่รวมมากที่สุดแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าลานกีฬาในชุมชนถึง 3 เท่า
ในขณะที่ลานกีฬาในสถานศึกษา ซึ่งในประเภทที่เข้าถึงได้ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัย แม้จะมีจำนวนน้อยที่สุดแต่มีขนาดพื้นที่รวมเป็นอันดับสาม และในส่วนของลานกีฬาที่อยู่ในกองทัพ/ตำรวจนั้น พบว่าในประเภทที่เข้าถึงได้ส่วนมากอยู่ภายในพื้นที่ของตำรวจ
ประเด็นต่อมาคือประเภทของกีฬาที่สามารถเล่นได้ เมื่อดูจากข้อมูลลานกีฬา 1,126 แห่ง จำแนกว่าสามารถเล่นกีฬาอะไรได้บ้าง 5 อันดับแรก คือ แบดมินตัน 570 แห่ง รองลงมาคือฟุตบอล 539 แห่ง ตะกร้อ 532 แห่ง บาสเกตบอล 430 แห่ง สนามเด็กเล่น 395 แห่ง นอกจากนั้นยังมีฟุตซอล วิ่ง วอลเลย์บอล แอโรบิก เทเบิลเทนนิส เปตอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาเฉพาะในส่วนของลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง พบว่ากีฬาที่สามารถเล่นได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แบดมินตัน 265 แห่ง ตะกร้อ 245 แห่ง ฟุตบอล 229 แห่ง สนามเด็กเล่น 167 แห่ง และฟุตซอล 154 แห่ง
จากตัวเลขข้อมูลชี้ว่า แบดมินตันเป็นกีฬาที่มีจำนวนมากที่สุดในลานกีฬาทั้งหมดและลานกีฬาที่เข้าถึงได้ในกรุงเทพฯ และในฐานข้อมูล ระบุว่าเป็นลานกีฬาที่สามารถเล่นแบดมินตันได้ แต่จากการสำรวจพบว่า ลานกีฬาดังกล่าวเป็นลานที่มีเพียงพื้นที่ไม่ได้มีสนามหรือตาข่ายในแบบสนามแบดมินตันอย่างชัดเจน จึงไม่อาจสรุปว่าลานกีฬาในกรุงเทพฯ มี “สนามแบดมินตัน” มากที่สุดได้
...
สุดท้ายเป็นเรื่องของ การจัดการดูแลและงบประมาณลานกีฬาของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว ดูแลทั้งลานกีฬาที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพฯ โดยตรง หรือลานกีฬาที่โดยพื้นที่อาจเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานอื่น แต่มอบให้กรุงเทพมหานครดูแล โดยในงบประมาณปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร พบว่า มีงบประมาณอยู่ที่ 982,035,780 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถออกกำลังกาย เล่นกีฬา ได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธีโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการกีฬา และทำกิจกรรมนันทนาการได้ตามอัธยาศัย โดยจัดให้มีสถานที่ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สะอาด ได้มาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงบุคลากรทางด้านกีฬาที่มีความรู้ความสามารถให้คำแนะนำในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
อย่างไรก็ดี กรุงเทพฯ ได้อัปเดตข้อมูลลานกีฬาและโครงการปรับปรุงลานกีฬาในกรุงเทพฯ ในเวลา 4 ปี จากปี พ.ศ. 2566-2569 ซึ่งปีที่แล้ว มีเป้าหมายปรับปรุง 180 แห่ง ปีนี้ 2567 มีเป้าหมาย 162 แห่ง ปีหน้า พ.ศ.2568 มีเป้าหมาย 108 แห่ง และปี พ.ศ.2569 มีเป้าหมาย 104 แห่ง เพื่อรองรับการที่กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 2025 นอกจากนี้ยังมีนโยบายการพัฒนาลานกีฬา 1 เขต 1 ลาน และนโยบายการพัฒนาลานกีฬานำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของลานกีฬาอีกด้วย