จากการรายงานล่าสุดที่พบว่ามีคนไทยติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย จึงทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย และมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม
ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1 คืออะไร
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox หรือ Mpox) แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ Clade 1 และ Clade 2 ซึ่งติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด การสัมผัสผิวหนัง พูดคุย หรือหายใจใกล้ชิดกัน รวมถึงเพศสัมพันธ์ ไวรัสจะทำให้มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด และเกิดแผลพุพองตามร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
เมื่อปี 2565 ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนภัยสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ที่อาการไม่รุนแรงนัก แม้จะระบาดไปกว่า 100 ประเทศ รวมถึงในยุโรปและเอเชีย โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 87,000 คน และเสียชีวิต 140 คน อัตราการเสียชีวิตที่ 4 ใน 100 แม้จะติดต่อได้ทั่วไป แต่พบว่าการระบาดส่วนมากกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงรับมือได้โดยการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง
...
แต่การระบาดของฝีดาษลิงรอบนี้กลับเป็นสายพันธุ์ Clade 1 ซึ่งมีความรุนแรงกว่าเดิมมาก มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อสูงสุดร้อยละ 10 เนื่องจากไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงช่วงประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อพบการกลายพันธุ์จนเกิดเป็น Clade 1b สายพันธุ์ใหม่ขึ้น ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และบางคนขนานนามสายพันธุ์นี้ว่าอันตรายที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ทำไม ฝีดาษลิง Clade 1 ถึงน่ากังวล?
- อัตราการเสียชีวิตสูง: ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1 มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- อาการรุนแรง: ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Clade 1 มักมีอาการรุนแรงกว่า เช่น ไข้สูง ผื่นจำนวนมาก และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายใน
- การแพร่ระบาด: แม้ว่า Clade 1 จะไม่แพร่ระบาดง่ายเท่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการแพร่กระจาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด
อาการฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1
อาการของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1 นั้นคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อื่นๆ โดยทั่วไปอาการจะเริ่มแสดงภายใน 5-21 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ และอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ คอ หรือขาหนีบ
- มีผื่นขึ้น เริ่มจากใบหน้าแล้วลามไปทั่วร่างกาย มีหลายระยะ เริ่มจากตุ่มเล็กๆ สีแดง ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และสุดท้ายตกสะเก็ด
- อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย หรือมีการอักเสบของเยื่อบุตา
การแพร่เชื้อของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1
- การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง หรือของเหลวจากตุ่มน้ำของผู้ป่วย เป็นวิธีการแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุด
- การสัมผัสกับสิ่งของปนเปื้อน เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า เครื่องใช้ส่วนตัว หรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนด้วยสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางการแพร่เชื้อที่สำคัญ
การป้องกันโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะเจาะจงสำหรับการรักษาโรคฝีดาษลิง การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ได้แก่
- ห้ามใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการหายใจร่วมกันหรือว่าการอยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลานาน
- เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส
- ล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกา ควรเลี่ยงการสัมผัสสัตว์กลุ่มฟันแทะและลิง
- ฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง
...
ล่าสุด สภากาชาดไทย โดยสถานเสาวภา เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งมีค่าฉีดเริ่มต้นที่เข็มละ 2,200 บาท.
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข้อมูลกรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็น "ฝีดาษวานร" (Mpox) Clade 1 รายแรกในไทย ที่เดินทางจากประเทศในแถบแอฟริกา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ยืนยัน 100% ว่าเป็นสายพันธุ์ใด
สำหรับการแพร่ระบาด ผู้ติดเชื้อจะต้องมีอาการ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่ม มีผื่นขึ้น ติดต่อกันโดยสารคัดหลั่ง แต่ประสิทธิภาพในการติดเชื้อของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมไปถึงช่องทางในการรับเชื้อ โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่สามารถหายเองได้ ยกเว้นคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
ความแตกต่างของสายพันธุ์ Clade 1B กับสายพันธุ์ Clade 2 นั้น เดิมสายพันธุ์ Clade 2 ที่ระบาดในไทยเป็นสายพันธุ์ที่พบในผู้ใหญ่เยอะ แต่ Clade 1B พบในเด็กเยอะ ซึ่งสายพันธุ์ Clade 1B นั้นรุนแรงกว่า Clade 2 แต่ไม่ได้รุนแรงจนน่ากลัว และไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด ขอทุกคนตระหนักถึงความสำคัญแต่อย่าตระหนก