การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (ภาษาอังกฤษ : Monkeypox) หรือ ฝีดาษวานร กำลังเป็นที่จับตามอง หลังจากที่กรมควบคุมโรคได้แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษลิงล่าสุดในไทย ระบุว่า พบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย โดยผู้ป่วยเป็นชาวยุโรป และมีประวัติเดินทางมาจากประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B ซึ่งกรมควบคุมโรคจะยืนยันผลการตรวจที่แน่ชัดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับ "ฝีดาษลิง" ทั้งสาเหตุและอาการของฝีดาษลิง รวมถึงวิธีป้องกันที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันมาฝากกัน

รู้จัก "ฝีดาษลิง" เกิดจากอะไร เป็นโรคติดต่อรุนแรงหรือไม่?

ฝีดาษลิง คือ โรคติดต่อจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus (กลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ) เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา โดยมีสัตว์กัดแทะทุกชนิดเป็นพาหะ เช่น หนู ลิง กระรอก กระต่าย เป็นต้น แม้ว่าการติดเชื้อของโรคฝีดาษลิงจะไม่รุนแรงมาก แต่หากนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตลอดจนเด็กทารกที่ร่างกายยังไม่แข็งแรง ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

"โรคฝีดาษลิง" ติดต่อกันได้อย่างไร?

ฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร สามารถติดต่อแพร่เชื้อกันได้ทั้งจาก "สัตว์สู่คน" และจาก "คนสู่คน" โดยมีลักษณะการติดต่อกัน ดังนี้

โรคฝีดาษลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน : มีความเสี่ยงเมื่อเราสัมผัสสัตว์ป่วย, สัตว์ที่เป็นพาหะ, ซากสัตว์ที่ตาย, เนื้อสัตว์ เลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือถูกสัตว์กัดและข่วน 

...

โรคฝีดาษลิง ติดต่อจากคนสู่คน : มีความเสี่ยงผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ไอ จาม น้ำลาย หนอง ผื่น หรือสิ่งของปนเปื้อนเชื้อและของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย

เช็กอาการเริ่มต้นของโรคฝีดาษลิง ที่ควรสังเกตมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว "ฝีดาษลิง" จะมีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 5-20 วัน ขึ้นอยู่กับว่าเราสัมผัสเชื้อมากหรือน้อย อาการเริ่มต้นของฝีดาษลิงที่สังเกตได้ง่ายๆ มีดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดกระบอกตา
  • เริ่มมีผื่นแดงนูนๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา และใบหน้า
  • ผื่นแดงกลายเป็นตุ่มใส มีตุ่มหนองที่มีสะเก็ด 

ไขข้อสงสัย โรคฝีดาษลิงหายเองได้ไหม?

ฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต (ยกเว้นแต่ในกลุ่มเสี่ยงที่ร่างกายอ่อนแอและเปราะบาง ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ) โดยการรักษาตามอาการและตามคำแนะนำของแพทย์ ตลอดจนการดูแลตัวเองในช่วงที่ป่วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง 2567 

ส่วนการป้องกันโรคฝีดาษลิงนั้น ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่แออัด ล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ตา และปาก ไม่ใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย หากถูกสัตว์กัดหรือข่วน ควรรีบไปพบแพทย์

โรคฝีดาษลิง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไหม?

ในบางประเทศมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้ โดยเน้นฉีดให้กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง ในขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษก็ช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เช่นเดียวกัน สำหรับในประเทศไทยยังไม่ถือว่ามีการระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันฝีดาษลิงโดยตรงในประเทศไทย

...

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ฝีดาษลิง 2567 ยังคงอยู่ในขั้นของการเฝ้าระวัง หลังจากที่มีผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคฝีดาษลิงรายแรกในไทย การติดตามข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ รวมถึงดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม