หลายคนอาจยังจำความรู้สึกในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่แนะนำให้เรารู้จักกับญาติ เพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน ซึ่งท่านเหล่านั้นมักพูดเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ หรือกระทั่งอุปนิสัยของเราว่า ตรงนั้นเหมือนคุณพ่อ ตรงนี้เหมือนคุณแม่ จนเมื่อเราโตขึ้นแล้วกลับหวนนึกถึง ก็คงอยากบอกคนเหล่านั้นเสียเองว่า อะไรบ้างที่เราอยากเหมือนคุณพ่อ หรืออะไรบ้างที่อยากคล้ายอย่างคุณแม่ แต่เรื่องอย่างนี้จะว่าไปแล้วมันเป็นเรื่องของพันธุกรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ เราเลือกเองไม่ได้ ถึงกระนั้นความเหมือนหรือความคล้ายคุณพ่อคุณแม่ของเราก็ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ ในความเป็นจริงกลับเป็นแผนที่ถูกวางเอาไว้แล้วจากการคัดสำเนาและถ่ายทอดผ่านสารพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า DNA มาสู่คุณ

DNA พิมพ์เขียวชีวิตสู่พิมพ์เขียวสุขภาพ

DNA (Deoxyribonucleic Acid) ทำหน้าที่ในการรวบรวมสารพันธุกรรม และส่งผ่านไปสู่ลูกหลาน ซึ่งเป็นเหมือนรหัส (Genetic Code) ในการกำหนดลักษณะต่างๆ ของสิ่งชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันจะมี DNA ที่เหมือนกันถึง 99.9% ส่วนที่เหลืออีก 0.1% นั้น มากเพียงพอที่ทำให้สิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันแตกต่างกัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนแยกกันออกว่าใครเป็นใคร เช่น ลักษณะรูปร่างหน้าตาที่มองเห็นได้จากภายนอก หรือลักษณะภายในอย่างเรื่องของหมู่เลือดของเรา ไม่ยกเว้นแม้แต่โรคภัยหรือลักษณะความผิดปกติของร่างกายที่ได้รับผ่านมาทาง DNA จากบรรพบุรุษ

ซึ่งหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้ว สำหรับ DNA ในร่างกายเรานั้น ดูจะไม่ต่างอะไรกับ “พิมพ์เขียว” หรือแบบแปลนในการก่อสร้างอาคาร ที่จะบอกว่าอาคารนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาหรือการออกแบบเป็นอย่างไร ระยะเวลาในการก่อสร้างอาคารหรือการเติบโตสมบูรณ์ของร่างกายให้เป็นไปตามแบบนั้นจะนานแค่ไหน มีความคงทนแข็งแรงหรือความเปราะบางในจุดใดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษบ้าง

...

ทั้งนี้ DNA ยังกำหนดอายุการใช้งาน หรือระยะเวลาในการซ่อมแซมร่างกายด้วยว่า ต้องทำในช่วงอายุใด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว ความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือโรคร้ายต่างๆ อาจไม่ได้เกิดจาก “โชคชะตา” หรือ “เวรกรรม” อย่างที่ใครๆ ว่ากัน แต่อาจเป็นเพราะเราที่ไม่เคยรู้จักหรือเข้าใจ “พิมพ์เขียวสุขภาพ” ของเราเองเลย

แม้ความจริงที่ว่า เราไม่อาจแก้ไขปรับปรุง DNA หรือพิมพ์เขียวนี้ได้ แต่หากเราเข้าใจและไขความลับของ DNA ในตัวเราได้ จะนำไปสู่ประโยชน์ทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพเฉพาะบุคคล ตั้งแต่การ “ปรับเปลี่ยน” พฤติกรรม เสริมสร้างเพื่อ “ป้องกัน” สุขภาพ และเริ่ม “รักษา” ได้อย่างตรงจุด

DNA ข้อมูลการแพทย์แม่นยำ

ในหลักของ “การแพทย์แม่นยำ” หรือ “Precision Medicine” ซึ่งเป็นแนวทางการแพทย์สมัยใหม่ มองการเกิดโรคของคนไข้ว่ามาจาก 3 ปัจจัย คือ โรคเกิดจากพันธุกรรมที่ติดตัวมา สภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอาศัย และการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคนเรา

ก่อนหน้านี้ การวินิจฉัยผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากการที่หัวใจขาดเลือด มักได้รับการวินิจฉัยว่ามีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารและการใช้ชีวิต ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินโรคและมาแสดงอาการเมื่อสูงวัยขึ้น แต่ในปัจจุบันกลับพบผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูงที่มีอายุน้อย ซึ่งในบางรายไม่ปรากฏพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง แต่กลับอยู่ในกลุ่มผู้ป่วย “โรคคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม” โดยเมื่อสืบค้นไปจะพบว่า ผู้ป่วยหรือเครือญาติจะมีประวัติในลักษณะนี้

1. มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจแบบเดียวกันในทุกรุ่น รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก

2. มีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุ

3. สมาชิกในครอบครัวมีอาการหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุน้อยๆ

4. มีสมาชิกในครอบครัวป่วยโดยมีอาการทางโรคหัวใจ 

แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณา เช่น ขนาดของครอบครัวที่เล็กลงจนไม่สามารถสืบค้นประวัติโรคของเครือญาติพี่น้องได้ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งถ้าได้รับการวินิจฉัยแต่แรกโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการของโรคก่อน และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนวัยอันควรได้เป็นอย่างดี

...

ตรวจ DNA กางพิมพ์เขียวเช็กสุขภาพหัวใจ

การตรวจ DNA ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะช่วยในการทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรค แม้ว่าผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการหรืออยู่ในช่วงเริ่มต้นของโรค นั่นถือว่าเป็นคำตอบที่ดีเพื่อให้ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำ หาแนวทางการป้องกัน และรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ โดยอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ การดูแลเรื่องการบริโภคอาหาร รวมถึงการสร้างสมดุลในการทำงานและควบคุมความเครียด เพราะความเครียดสามารถส่งผลต่อสุขภาพทั่วไป และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ไม่เพียงเท่านั้น “พิมพ์เขียวสุขภาพ” ยังเป็นคู่มือในการดูแลสุขภาพ เพื่อใช้ในการออกแบบการออกกำลังกายหรือกิจกรรมให้เหมาะสมกับคนคนนั้นโดยเฉพาะ

สำหรับผู้ป่วย การตรวจ DNA นั้น การทำให้เข้าใจรหัสพันธุกรรม จึงช่วยในการพัฒนาการคัดกรองและการรักษาโรค เป็นการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และช่วยในการกำหนดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแบบเฉพาะราย ด้วยการเลือกยาที่เหมาะสมกับพันธุกรรม ที่เรียกว่า “ยาที่กำหนดโดยพันธุกรรม” (Pharmacogenomics) ซึ่งจะช่วยให้การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันข้อมูลรหัสพันธุกรรมสำหรับการวิจัยการรักษาโรคหัวขาดเลือดเฉียบพลัน ยังทำให้เกิดโอกาสในพัฒนายาใหม่ๆ โดยเฉพาะยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น จึงเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้นไปอีกในอนาคต

DNA สร้างแผนการดูแลสุขภาพจากพิมพ์เขียวของคุณ

ไม่ว่าตอนนี้คุณจะอายุเท่าไร หรือในอนาคตคุณจะอายุยืนแค่ไหน นับตั้งแต่ที่ปรากฏเป็นตัวอ่อนซ่อนอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ “DNA” หรือ “รหัสพันธุกรรม” ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับจากวันเริ่มต้นจนถึงวันนี้ เคยแสดงออกอย่างไรจะยังคงแสดงออกให้เห็นอย่างนั้นต่อไป

...

ดังนั้น การตรวจ DNA ณ เวลาใดก็ไม่ทำให้คุณรู้จักตัวเองน้อยลง ยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน และการวิจัยศึกษาเก็บข้อมูลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่อยู่ใน DNA มากขึ้น รูปแบบต่างๆ ที่แสดงออก รวมถึงอีกด้านหนึ่งความไม่เหมือนกันของ DNA ในแต่ละคน ยิ่งทำให้เราเข้าใจและชัดเจนในความเป็นคุณที่ไม่เหมือนกัน 

การเข้ารับการตรวจ DNA พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้คุณปรับการใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล และมีแผนชีวิตที่สอดคล้องเหมาะสมกับ “พิมพ์เขียวสุขภาพ” และ “พิมพ์เขียวชีวิต” ของคุณ ซึ่งนั่นก็เพื่อให้สุขภาพองค์รวมของคุณดีขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูล : นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2