นาทีนี้ชื่อของ เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หรือ น้องเทนนิส แชมป์เหรียญทองโอลิมปิกกีฬาเทควันโด 2 สมัย กลายเป็นตำนานที่คนไทยและคนทั่วโลกต่างให้การยอมรับในความสามารถ แต่กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ได้นั้น เธอต้องพบกับอุปสรรคและความผิดหวังมากมาย ซึ่งเธอมีวิธีก้าวข้ามผ่านมาได้อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องเทนนิสในงาน Night in Paris ที่จัดโดย Plan B เพื่อต้อนรับโอลิมปิก ปารีส 2024 ถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักกีฬาเทควันโดสู่การได้เป็นแชมป์โอลิมปิกที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทุกเพศทุกวัยในวันนี้

จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางนักกีฬา

หลายคนคงทราบกันแล้วว่าครอบครัวของน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เป็นครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง โดยมีคุณพ่อเป็นครูสอนว่ายน้ำ ส่วนคุณแม่เป็นครูสอนเต้นแอโรบิก ด้วยความรักในการออกกำลังกายจึงได้ตั้งชื่อลูกๆ ทั้ง 3 คนเป็นชื่อกีฬาทั้งหมด คือ โบว์ลิ่ง เบสบอล และเทนนิส

...

น้องเทนนิสเล่าว่ากิจกรรมที่ทำกันเป็นประจำในครอบครัวคือทุกเช้าทุกคนต้องตื่นมาออกกำลังกาย 1 อย่าง โดยเป็นกีฬาที่ทุกคนในบ้านชอบ ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำ วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน

“ตอนนั้นก็มีงอแงบ้างตามประสาเด็กที่ชอบดูการ์ตูนทีวีตอนเช้าแต่ก็ไม่ได้ดูเพราะพ่อปลุกให้ไปวิ่งทุกวันกลับมาก็ดูไม่ทันแล้ว แต่ถึงจะงอแงก็ปฏิเสธไม่ได้ ตอนนั้นร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เป็นคนผอมแห้ง ตอนเด็กกินเท่าไรก็ไม่อ้วน แพ้อาหาร แพ้อากาศ พ่อเลยบังคับให้เล่นกีฬาทุกวัน พอได้เล่นกีฬาก็ดีขึ้นก็เลยชอบเล่นกีฬาไปเอง”

เส้นทางสู่การเป็นแชมป์ที่เต็มไปด้วยน้ำตาและความผิดหวัง

กว่าที่น้องเทนนิสจะก้าวมาสู่การเป็นแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกเทควันโด 2 สมัยในวันนี้ได้นั้น เธอต้องพบกับอุปสรรคและความผิดหวังมากมายตั้งแต่วัยเด็กที่ยังเริ่มต้นค้นหากีฬาที่ตนเองชอบไม่เจอจนมาถึงปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

น้องเทนนิสเล่าว่าในวัยเด็กเธอยังค้นหากีฬาที่ชอบไม่เจอ ตอนแรกคุณพ่อให้เล่นกีฬาหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น วอลเลย์บอล วิ่งสามสิบเอ็ดขา เทควันโด และวิ่ง เป็นกีฬาทางเลือก 4 อย่างในชีวิต ในเวลานั้นเธอเริ่มได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งวิ่งในงานกีฬาสี ทำให้คุณพ่อเริ่มผลักดันมากเพราะคิดว่าจะเอาดีทางด้านนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง

“ตอนนั้นก็ทุ่มสุดตัวเหมือนกัน ก็ได้คัดตัวในกีฬาสี เป็นที่หนึ่งของสี ได้เป็นตัวแทนโรงเรียน พ่อก็คิดว่าจะมาเอาดีด้านนี้และพ่อก็ผลักดันมากๆ แต่ไปไกลสุดได้แค่ระดับอำเภอ พอไปคัดตัวระดับจังหวัดก็ไม่ผ่านรอบแรกด้วยซ้ำ ก็เสียดายมากเพราะพ่ออุตส่าห์ซื้อรองเท้าวิ่งแพงๆ ราคาหลายพันให้ จากเดิมที่วิ่งเท้าเปล่า ก็เสียใจที่ทำไมเราทำไม่ได้ดีแบบที่คาดหวังเอาไว้”

แต่น้องเทนนิสก็ไม่ย่อท้อ หันไปเล่นกีฬาอื่นอย่างวอลเลย์บอลแทน จากที่เคยเล่นในกีฬาสีโรงเรียนก็ได้เป็นตัวแทนโรงเรียน แต่เป็นได้แค่ตัวสำรองที่ไม่เคยได้ลงแข่งเป็นตัวจริงสักครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องเศร้าในชีวิตที่เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็รู้สึกดีที่ได้ไปเห็นบรรยากาศการแข่งขันในสนามร่วมกับเพื่อนๆ

จากนั้นเธอก็ไปแข่งวิ่งสามสิบเอ็ดขา ซึ่งเป็นการมัดขารวมกันกับเพื่อนอีก 30 คน แต่เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องแข่งกันเป็นทีม ทำให้แต่ละคนมีความพร้อมในการมาฝึกซ้อมไม่เท่ากัน ตอนไปแข่งก็เลยไม่เข้ารอบ และน้องเทนนิสคิดว่าเป็นกีฬาที่ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเธอที่คุณพ่อจะกำหนดตารางเวลาการซ้อมที่ชัดเจนทุกวัน จึงไม่ได้คาดหวังอะไรกับกีฬานี้มากนัก

...

จนกระทั่งตอนอายุ 9 ขวบ น้องเทนนิสได้ติดตามพี่ชายไปเล่นเทควันโดที่ยิม ซึ่งตอนแรกเธอกลัวมากเพราะรู้สึกว่าเป็นกีฬาที่รุนแรงเกินไปกับคนที่มีรูปร่างผอมบางอย่างเธอ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เธอเข้าสู่วงการเทควันโดได้มาจาก ความอยากไปเที่ยวภูเก็ต เนื่องจากจะมีการแข่งขันที่นั่น แต่คุณพ่อของน้องเทนนิสยื่นคำขาดว่า จะไม่พาไปเที่ยว เว้นแต่ว่าจะไปแข่งเทควันโดเท่านั้น ประกอบกับเสนอเงินรางวัลให้ถ้าหากชนะกลับมา

“ตอนนั้นพ่อบอกว่าถ้าได้เหรียญทองจะให้เงิน 3 พัน เหรียญเงิน 2 พัน เหรียญทองแดง 1 พัน ก็เลยลงแข่ง เพราะได้ไปเที่ยวด้วย ได้เงินด้วย แต่สุดท้ายก็แพ้กลับมาราบคาบ เพราะเราไม่จริงจังในการซ้อม”

ภาพจาก Tennis panipak wongpattanakit
ภาพจาก Tennis panipak wongpattanakit

น้องเทนนิสยอมรับว่าการแพ้ครั้งนั้นเธอรู้สึกเจ็บปวดมากที่สุด จากการไม่เตรียมพร้อมของเธอเอง เพราะที่ผ่านมาเธอไม่ฝึกซ้อมจริงจัง อีกทั้งยังโดนเพื่อนๆ ดูถูกว่าทำไมอ่อนหัด แพ้กลับมาง่ายๆ ชนิดที่กรรมการสั่งหยุดไล่ออกจากสนาม จึงเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เธอกลับมาทุ่มเทกับกีฬานี้อย่างจริงจังจนถึงวันนี้

...

“เพราะเราไม่อยากแพ้ และไม่ชอบโดนดูถูก ก็เลยเป็นข้อดีที่ทำให้เราพยายามถีบตัวเองทุกครั้งที่แพ้ จนทุกวันนี้ก็เช่นกันเวลาที่แพ้กลับมาเราก็จะเห็นข้อผิดพลาดเยอะมากขึ้น เป็นความท้าทายที่อยากกลับไปชนะเขาให้ได้ ก็เลยหลงรักเทควันโด”

ภาพจากเพจ World Taekwondo
ภาพจากเพจ World Taekwondo

สำหรับการแข่งขันที่เธอประทับใจมากที่สุดคือการแข่งโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเหรียญทองแรกในชีวิตนักกีฬาของตัวเอง ซึ่งโอลิมปิกคือความฝันอันสูงสุดของชีวิตนักกีฬา และยังได้กลับไปแก้ไขความผิดหวังที่เคยได้เหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2016 ที่บราซิลด้วย

ส่วนการแข่งขันในโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศสนั้น น้องเทนนิสบอกกับเราว่า เธอจะทุ่มเทสุดตัวให้มากที่สุดเท่าที่คนหนึ่งจะทำได้โดยที่ไม่กดดันตัวเองมากเกินไปเนื่องจากทุกคนทุ่มสปอตไลต์มาที่เธอทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะได้เหรียญหรือไม่ได้ เธอก็จะไม่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

...

วิธีก้าวข้ามผ่านความผิดหวังในแบบเทนนิส

แน่นอนว่าการแข่งขันกีฬาย่อมมีทั้งการแพ้และชนะ สำหรับวิธีก้าวข้ามผ่านความผิดหวังและกดดันต่างๆ ที่เทนนิสต้องเจอคือการได้รับกำลังใจดีๆ จากคนรอบตัวที่ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น

“มีคนรอบข้างที่คอยซัพพอร์ตรู้ว่าควรพูดกับเราอย่างไร เพราะตอนแข่งมันกดดันมากๆ อยู่แล้ว คนรอบข้างเราเข้าใจรู้ว่าต้องพูดยังไงให้เราผ่อนคลาย คือ พี่ชาย พี่สาว เพื่อนๆ และนักจิตวิทยา”

สุดท้ายนี้ น้องเทนนิสบอกกับเราว่าอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัยในการก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่เคยพ่ายแพ้หลายอย่างมาในชีวิตว่าอย่าไปย่อท้อ และทำให้เต็มที่เพื่อไปถึงฝั่งฝัน

“อยากให้ทุกคนทำให้เต็มที่ในความฝันของตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้นก็ควรลงมือทำให้เต็มที่จนสุดความสามารถเท่าที่เราจะทำได้ เหมือนตอนที่หนูแข่ง ถ้าเวลายังไม่หมด เรายังไม่ตาย เรายังมีเวลาเหลือ ก็เต็มที่กับการใช้ชีวิต อยากทำอะไรก็ทำเลย เกิดมาแล้วเราก็ทำให้มันเต็มที่”

เช่นเดียวกับน้องเทนนิส ที่ในที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จในการแข่งขันอีกครั้งจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2024 กีฬาเทควันโดไปครองได้สมกับความสามารถและความตั้งใจที่ทุ่มเทไปอย่างสุดตัวอย่างที่เธอได้กล่าวไว้