เป็นที่รู้กันดีว่าการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เป็นเพื่อนคลายเหงา แต่สัตว์เลี้ยงคือส่วนหนึ่งของครอบครัวที่สำคัญไม่แพ้คนหนึ่งคนเลยทีเดียว แต่ด้วยอายุขัยที่ไม่ยืนยาวเท่ามนุษย์ทำให้เราต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมและอาการที่เปลี่ยนไปในยามที่สัตว์เลี้ยงอยู่ในวัยชรา เพื่อดูแลรักษาร่างกายพวกเขาให้แข็งแรงและยืนยาวอย่างมีความสุข

เมื่อเพื่อนรักตัวน้อยของเรากำลังเข้าสู่วัยชรา ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันเริ่มอ่อนแอลง ดังนั้นการดูแลที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และจำเป็นต้องดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเรามีความสุข มีสุขภาพที่ดี และอยู่เป็นเพื่อนกับผู้เลี้ยงได้นานที่สุด

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

โดยอายุเฉลี่ยของสัตว์เลี้ยงนั้น ปกติแล้วอายุของสัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ขนาดร่างกาย และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่

สำหรับสุนัขนั้นจะมีช่วงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี แต่บางสายพันธุ์สามารถมีอายุนานถึง 15-20 ปีก็ได้ และสุนัขขนาดใหญ่มักจะมีอายุสั้นกว่าสุนัขขนาดเล็กโดยทั่วไป

...

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

ขณะที่แมวมักจะมีอายุประมาณ 15-20 ปี โดยมีรายงานพบว่าแมวบางสายพันธุ์อาจมีอายุยืนยาวกว่านั้น ส่วนกระต่ายมักมีอายุประมาณ 8-12 ปี แต่กระต่ายที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและได้รับการดูแลอย่างดีอาจมีอายุยืนยาวกว่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อแนะนำในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสูงวัยนั้น ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพราะสัตว์สูงวัยอาจมีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย และควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น

  • กินอาหารน้อยลง
  • น้ำหนักลด
  • ขนร่วง
  • เคลื่อนไหวช้าลง
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญคือควรการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะช่วยให้สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและรักษาได้ทันท่วงที

การปรับเปลี่ยนอาหารก็มีส่วนสำคัญ โดยอาหารสำหรับสัตว์สูงวัยควรมีคุณค่าทางอาหารสูง ง่ายต่อการย่อย อีกทั้งควรปรับปริมาณอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุ และสุขภาพของสัตว์ ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น ควรจัดเตรียมที่นอนนุ่มๆ ให้สัตว์เลี้ยงได้พักผ่อน และจัดเตรียมพื้นที่ให้เดินเล่นได้อย่างสะดวกสบาย แต่ที่สำคัญมากที่สุดนั่นคือ การให้ความรักและความอบอุ่นแก่สัตว์สูงวัยจะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยและมีความสุขด้วย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

ส่วนข้อควรระวังในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสูงวัย ผู้เลี้ยงควรเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการลื่นล้มหรือกระแทก หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหัน ระมัดระวังในการให้ยาใหม่หรือการรักษาใหม่ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากสัตว์สูงวัยมักเคลื่อนไหวน้อยลง และระวังภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยงสูงวัย รวมทั้งสังเกตอาการของโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในสัตว์สูงวัย เช่น โรคข้อเสื่อม โรคหัวใจ หรือโรคไต

เมื่อสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากขึ้น อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย และทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย โดยมีตัวอย่างของ 5 โรคหลักที่มักเจอได้บ่อยสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงวัย นั่นคือ

1. โรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยมีอาการที่พบได้ เช่น หอบ เหนื่อยง่าย ไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ ได้ อาจจะเป็นลม ร่วมกับบางตัวแสดงอาการไอ โดยควรทำการตรวจวัดความดันร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

...

2. โรคไตวายเรื้อรังมักพบในสัตว์สูงวัย

โดยอาการทางคลินิกของไตวายเรื้อรังที่เจอได้บ่อย คือ กระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะบ่อยขึ้น แนะนำให้ทำการตรวจเลือด Complete blood count (CBC) และตรวจปัสสาวะทุกๆ 6-12 เดือน ในสุนัขและแมวสูงวัย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

3. โรคข้ออักเสบ

โดยอาการต่างๆ ที่พบได้แก่ เดินกะเผลก ไม่ชอบขึ้นบันได ยืนหรือเดินลำบาก แสดงความเจ็บปวดเมื่ออุ้มขึ้นมา แสดงอาการเลียบริเวณข้อที่ปวดบ่อย หรือบางตัวเริ่มแสดงอาการหงุดหงิดง่าย ปัจจุบันแม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาโรคข้ออักเสบ แต่การให้ยาตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์หรือการดูแลด้านโภชนาการที่เหมาะสมก็สามารถลดอาการปวดและชะลอการลุกลามได้

4. โรคทางทันตกรรม

โดยอาจสังเกตเห็นว่าสัตว์เลี้ยงน้ำลายไหลมากเกินไป เริ่มมีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ หรือฟันโยกหรือฟันหลุด โรคฟันสามารถนำไปสู่ภาวะเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวลดลง เกิดการติดเชื้อในระบบร่างกาย ก่อให้เกิดโรคหัวใจ หรือโรคไตได้ในที่สุด ดังนั้นจึงควรพาพวกเขาไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์เป็นประจำ

...

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

5. โรคต้อกระจก

เมื่อเลนส์ตาขุ่นมัว เกิดฝ้าขาวๆ ที่เลนส์ตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด อาการที่พบ เช่น เดินชนสิ่งของ หรือเดินแล้วชะงักโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ เห่าสิ่งของในระยะที่ไม่เคยรู้สึกรำคาญมาก่อน ซึ่งการรักษาโรคต้อกระจกสามารถทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไข แต่ต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยทางสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตาก่อน

สำหรับผู้ที่ต้องการรับทราบข้อมูลการดูแลสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากกว่านี้ สามารถรับฟังข้อมูล และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยง และชมนวัตกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงอีกมากมายได้ภายในงาน Pet Expo Championship 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 สิงหาคม 2567 นี้ เริ่มตั้งแต่ 10.00-20.00 น. บริเวณฮอลล์ 6-8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ภาพจาก : iStock