นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นคอลเลกเตอร์พันธุ์แท้ของ “Louis Vuitton Trunks” หีบเดินทางในตำนานของ “หลุยส์ วิตตอง” ที่กลายเป็นของสะสมมูลค่ากำไรงาม ท็อปสเปนเดอร์ตัวจริง “บิว–วิชิตพงศ์ นิธิเลิศวิวัฒน์” ทายาทกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแถวหน้าของประเทศ ยังเป็นนักสะสมแรร์ไอเท็มหายาก ที่แม้แต่เศรษฐีแนวหน้าของไทยบางรายยังต้องเข้าคิวรอหลายปีกว่าจะได้ครอบครอง

จากความหลงใหลในลักชัวรีแบรนด์ ที่สร้างแรงปรารถนาให้อยากครอบครองได้อย่างไม่สิ้นสุด “คุณบิว” เปิดโลกแห่งความหรูหราให้เหล่าแฟชั่นนิสต้าได้เข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยการก่อตั้ง “The Happy Maison” ต่อยอดจาก “Happy Group (1988)” ที่ปลุกปั้นมาเองกับมือจนกลายเป็นผู้นำด้านการทำการตลาดดิจิทัลและอีเวนต์ออร์กาไนเซอร์ชั้นนำของเมืองไทย โดยงานนี้ตั้งใจสร้าง “The Happy Maison” ให้เป็นแพลตฟอร์มส่งมอบประสบการณ์ความลักชัวรีรูปแบบใหม่ ที่ให้บริการฝากขายสินค้าลักชัวรี และจัดการประมูลสินค้าหรูทางออนไลน์ (Luxury consignment and auction online platform) โดยรวบรวมทุกแขนงของลักชัวรีไลฟ์สไตล์ไว้ด้วยกัน ตั้งแต่แฟชั่น, นาฬิกา, จิวเวลรี, งานศิลปะ, แอนทีค ไปจนถึงไวน์ และเรียลเอสเตท

...

“ผมเรียนจบปริญญา ตรีและปริญญาโท สาขาวิชาการบัญชีมาโดยตรง เพราะครอบครัวทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแบบครบวงจรมากว่า 40 ปี คุณพ่อคุณแม่อยากให้มาสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ด้วยความที่ชื่นชอบด้านการตลาดด้วย และร่ำเรียนด้านการบริหารจัดการทางการตลาดมาจากอังกฤษ จึงลองออกมาหาประสบการณ์ทำงานด้านการตลาดที่บริษัทออร์กาไน เซอร์ชั้นนำระดับประเทศ โดยผมมีส่วนในการบุกเบิกธุรกิจน้องใหม่ที่ให้บริการด้านไพรเวทไลฟ์สไตล์เป็นเจ้าแรกๆในเมืองไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวในการจัดหาสิ่งพิเศษเหนือธรรมดาให้กับลูกค้า ผลจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงนั้น ทำให้เข้าใจถึงคอนเซปต์ “Money Can’t Buy Experience” และมองเห็นเทรนด์การมอบประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้ เสียดายทำได้แค่ 2 ปี ก็ต้องถอยกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ซึ่งมีลูกค้าอยู่มากกว่า 400 บริษัท”...คุณบิวบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการ

อะไรคือผลงานสร้างชื่อในยุคแรกของคุณบิว

ผลงานที่ภูมิใจในยุคแรกๆของการทำงานหลังเรียนจบคือ การปลุกปั้น “BMW Excellence Club” เราเห็นเทรนด์ว่าคนซื้อรถยนต์ BMW ซีรีส์ 7 อยากได้ประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้ จึงนำเสนอความเหนือระดับและประสบการณ์พิเศษที่ตอบสนองตัวตนและไลฟ์สไตล์อันโดดเด่น เช่น การจัดทริปพิเศษให้ด้วยเครื่องบินส่วนตัว, การมอบเอกสิทธิ์เฉพาะทางด้านการบริการ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้ทุกการเดินทางสะดวกสบายตลอด 24 ชั่วโมง และการมอบทางเลือกให้ได้สัมผัสประสบการณ์สุดเอกซ์คลูซีฟที่เงินหาซื้อไม่ได้จากการท่องเที่ยว, ช็อปปิ้ง และอาหารมิชลินสตาร์ระดับโลก

...

“Happy Group (1988)” ถือกำเนิดขึ้นอย่างไร

ผมช่วยธุรกิจครอบครัวทำออดิตและที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีอยู่ 2-3 ปี รู้สึกทุกอย่างค่อนข้างลงตัวเข้าที่เป็นระบบและจัดสรรเวลาได้ จึงอยากต่อยอดงานที่ชอบ เลยเปิดบริษัทของตัวเองเพิ่มเติมคือ “Happy Group (1988)” เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเริ่มเห็นเทรนด์ว่าคนอยากได้อะไรที่หายากและเงินซื้อไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทของเราเติบโตมาในยุคที่เมืองไทยเริ่มตื่นตัวเรื่อง “ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง” เริ่มมีดิจิทัลเอเจนซีเกิดใหม่ในบ้านเรามากมาย นักการตลาดเริ่มลงงบในสื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่ฝ่ายการตลาดของแบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่มีทีมดิจิทัลและออนไลน์ที่ชัดเจน “Happy Group (1988)” มุ่งเจาะไปที่กลุ่มลักชัวรีแบรนด์ โดยสร้างชื่อเสียงจากการจัดอีเวนต์แนวใหม่ให้กับค่ายรถยนต์หรู, แบรนด์แฟชั่น, จิวเวลรี, บิวตี้แอนด์คอสเมติก และเรียลเอสเตท รวมถึงการจัดงานไพรเวทอีเวนต์ที่เป็นซุปเปอร์ลักชัวรีจริงๆ เช่น งานแต่งงานของ “คุณปอย ตรีชฎา”

...

“Happy Group (1988)” พลิกโฉมหน้าวงการอีเวนต์ขนาดไหน

ตอนจัดงานอีเวนต์ให้ลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ระดับหรู เราเป็นเจ้าแรกที่นำพาร์ตเนอร์ที่เป็นไฮจิวเวลรี, แฟชั่น และแบรนด์เครื่องสำอาง มาครอสกับรถยนต์ และเรายังเป็นเจ้าแรกที่เชิญเซเลบริตี้เชฟเข้ามาปรุงอาหารแบบเชฟเทเบิลให้ชิมกันสดๆในโชว์รูมของ BMW ล่าสุดปีที่แล้วเพิ่งนำไฮจิวเวลรีของ “บุลการี” มาจัดงานในโชว์รูมของ BMW หรือแม้กระทั่ง Bottega Veneta ก็มาร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่กับรถยนต์ BMW ทำให้ทุกคนได้ฐานลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น พอมีลูกค้ามากขึ้นก็สามารถสร้างความหลากหลายได้มากขึ้น ตอบโจทย์ความเป็นไลฟ์สไตล์เอ็กซ์เพิร์ตได้อย่างครบครัน หรืออย่างช่วงโควิดถือเป็นช่วงที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจริงๆ เป็นช่วงที่เราทำรายได้สวนกระแสเศรษฐกิจ เพราะมาตรการปิดเมืองทำให้ทุกคนห้ามออกจากบ้าน และต้องมาทุ่มกับออนไลน์ เราเลยนำเสนอวิธีการใหม่ๆให้ลูกค้า เช่น มีบริการส่งรถยนต์หรูไปให้ทดลองขับถึงบ้านลูกค้า และมีบริการช่วยจัดหาของพิเศษๆให้ลูกค้าถึงบ้าน เช่น ลูกค้าอยากได้ของขวัญชิ้นหายากเพื่อไปเซอร์ไพรส์คนสำคัญ เราก็ช่วยจัดหาให้และส่งตรงถึงบ้าน

...

อะไรคือความลักชัวรีที่แท้จริงในมุมมองของคุณบิว

องค์ประกอบแรกของความลักชัวรีคือ ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ครั้งแรก ขณะเดียวกันก็ต้องเอกซ์คลูซีฟเฉพาะกลุ่ม และต้องมีจำนวนจำกัดเข้าถึงได้ยาก หรืออย่างเวลาและความสุขก็คือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และกำลังกลายเป็นความลักชัวรีใหม่ที่คนมากมายโหยหาในยุคหลังโควิด ความลักชัวรีอาจไม่ใช่ความรวย แต่เป็นเรื่องของรสนิยม การมีเงินซื้อของแพงๆมาใส่ไม่ได้ทำให้ดูลักชัวรี เช่นเดียวกับการสร้างแบรนด์ผ่านการทำแคมเปญมาร์เก็ตติ้ง ถ้าแคมเปญนั้นพยายามตะโกนว่าตัวเองลักชัวรี นั่นจะไม่ใช่ความลักชัวรี แต่เป็นความมักง่ายของการทำการตลาดเพื่อสร้างยอดขาย โดยส่วนตัวผมชอบ “Quiet Luxury” คือความแพงแบบไม่ตะโกน ไม่เน้นโชว์โลโก้ แต่ให้ความสำคัญกับการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างประณีตโดยช่างฝีมือดี

ไอเดียการสร้างแพลตฟอร์มส่งมอบความลักชัวรีมาจากไหน

ผมซื้อทุกอย่างจากความชอบไม่เคยคิดจะนำมาขายต่อ แต่วันหนึ่งมานั่งคุยกันในแวดวงเพื่อนๆว่าของแบรนด์เนมที่ซื้อไปมันเยอะมากจริงๆ อยากแบ่งให้คนอื่นได้ครอบครองบ้าง แต่ก็มีเพนพอยต์ตรงที่จะเอาไปฝากใครขายก็กลัว จึงคิดทำแพลตฟอร์มการส่งมอบประสบการณ์ความลักชัวรีรูปแบบใหม่ “The Happy Maison” ที่ให้บริการฝากขายสินค้าลักชัวรี และจัดการประมูลสินค้าหรูทางออนไลน์ โดยรวบรวมทุกแขนงของลักชัวรีไลฟ์สไตล์ไว้ด้วยกัน ตั้งแต่แฟชั่น, นาฬิกา, จิวเวลรี, งานศิลปะ, แอนทีค ไปจนถึงไวน์ และเรียลเอสเตท แพลตฟอร์มนี้จะสื่อสารหลักผ่านช่องทาง IG : Thehappymaison และมี IG เจาะเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มแฟชั่น Thehappymaison_fashion, กลุ่มนาฬิกาและจิวเวลรี Thehappymaison_watchesjewelry, กลุ่มศิลปะ Thehappymaison_ art, กลุ่มแอนทีค Thehappymaison_ antique, กลุ่มไวน์ Thehappymaison_ wine และกลุ่มเรียลเอสเตท Thehappymaison_realestate ในอนาคตเราจะมี THM art space และ Auction สำหรับจัดการประมูลสินค้าลักชัวรีทางออนไลน์ด้วย เราได้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละแขนงมาเป็นพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มของเราจึงมั่นใจได้ว่าสินค้าทุกชิ้นเป็นของแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากจะมีใบเซอร์แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ที่นำสินค้ามาฝากขายยังอยู่ในเครือข่ายของท็อปสเปนเดอร์ เรียกว่าในแวดวงลักชัวรีแบรนด์รู้จักกันหมด

เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ คุณบิวเห็นโอกาสอะไรในตลาดลักชัวรีเมืองไทย

ผมหลงใหลและชอบลักชัวรีแบรนด์มาตั้งแต่เด็ก แต่สมัยวัยรุ่นซื้อตามความชอบไปเรื่อยๆ เพิ่งจะมาได้คิดว่าการซื้อลักชัวรีแบรนด์ก็สามารถมองเป็นการลงทุนได้ เพราะราคาขึ้นทุกปี และมันมีแต่จะราคาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงหลังวิกฤติโควิด ราคาสินค้าแบรนด์เนมพุ่งขึ้นมากกว่า 50% ยกตัวอย่างเช่น เข็มกลัดทิฟฟานี “Bird on a Rock” ผมซื้อตอนช่วงโควิด ราคา 1 ล้าน 9 หมื่นบาท ปัจจุบันราคาขึ้นไปสูงถึง 3.4 ล้านบาทแล้ว คือราคาขึ้น 300% ทุกวันนี้แบรนด์ไฮจิวเวลรีตามซื้อคอลเลกชันเก่าๆกลับมาหมด ยิ่งชิ้นไหนถูกนำขึ้นโต๊ะประมูลโดยสถาบันการประมูลระดับโลก ราคาจะพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว หรืออย่างกระเป๋าทรงฟักทองสีเหลืองสดของหลุยส์ วิตตอง “Louis Vuitton x Yayoi Kusama” วางจำหน่ายปี 2023 ราคาเกือบ 3 แสนบาท ล่าสุด ในงานประมูลของสถาบันคริสตี้ส์สามารถขายไปได้ 1.2 ล้านบาท เช่นเดียวกับ “Louis Vuitton x Supreme Trunk” ปี 2017 ของหลุยส์ วิตตอง มีแค่ 3 ใบในประเทศไทย ราคาขายตอนนี้แตะ 10 ล้านบาทแล้ว ทั้งๆที่ซื้อมาในราคาล้านกว่าบาท ผมมองว่ายังมีโอกาสใหม่ๆในตลาดลักชัวรีเมืองไทย ที่กำลังเติบโตสูงสวนทางกับความท้าทายของเศรษฐกิจ และเชื่อว่าการซื้อลักชัวรีแบรนด์เป็นแพสชันอินเวสต์เมนต์ ต่อยอดการลงทุนจากความชอบ เราไม่ได้ซื้อมาเก็บอย่างเดียว แต่ระหว่างนั้นเราได้ใส่ของทุกชิ้นและชื่นชมมีความสุขกับมันไปด้วย ที่สำคัญเมื่อถึงวันหนึ่งไม่ได้ใช้แล้ว หรือมีเยอะเกินไปแล้ว ยังสามารถนำมาฝากขายกับแพลตฟอร์ม “The Happy Maison” ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ความลักชัวรีรูปแบบใหม่.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่