ปลาหมอคางดำ หรือปลาหมอสีคางดำ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ปัจจุบันกำลังกลายเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ไทยรัฐออนไลน์พาทำความรู้จัก ปลาหมอคางดำคือปลาอะไร มีที่มาจากไหน และมีลักษณะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
รู้จัก ปลาหมอคางดํา หรือปลาหมอสีคางดํา คือปลาอะไร
ปลาหมอคางดํา คือ ปลาชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศหรือปลาหมอสี เพียงแต่บริเวณใต้คางมีสีดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sarotherodon melanotheron Ruppell จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae เมื่อโตเต็มวัย จะมีขนาดยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่า
ปลาสายพันธุ์นี้ลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น ทนต่อความเค็มได้สูง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และแม้ว่าจะไม่สามารถระบุเพศได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ อย่างเพศผู้จะมีหัวและแผ่นปิดเหงือกที่มากกว่าเพศเมีย
ปลาหมอคางดํากินได้ไหม
ปลาหมอคางดำสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงปลาหมอคางดำ ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ ปลาย่างเกลือ ทอดมันปลา ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าการนำไปขาย เนื่องจากหากนำไปขายก็จะขายไม่ได้ราคาสูงมากนัก เนื่องจากมีปลาจำนวนมาก
...
ไขข้อสงสัย "ปลาหมอคางดํา" มาจากไหน
ปลาหมอคางดํามาจากประเทศอะไร กลายเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัย โดยปลาหมอคางดำมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา นิยมอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าปลาสายพันธุ์ดังกล่าวไปยังหลายทวีปทั่วโลก รวมถึงทวีปเอเชีย และในประเทศไทย ดังนี้
- พ.ศ. 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) อนุญาตให้บริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล
- พ.ศ. 2553 บริษัทได้นำปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว มาเลี้ยงที่ จ.สมุทรสงคราม โดยระบุว่าตายเกือบทั้งหมดและได้ทำการกำจัดทิ้งแล้ว
- พ.ศ. 2555 เกษตรกรชาวสมุทรสงครามพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
- พ.ศ. 2561 กรมประมงได้แก้ไขประกาศกระทรวงฯ ห้ามนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย
ปลาหมอคางดําอันตรายยังไง
เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนกับความเค็มได้สูง ในขณะเดียวกันปลาสายพันธุ์นี้สามารถกินได้ทั้งพืช สัตว์ หรือซากของสิ่งมีชีวิต และสามารถย่อยอาหารได้ดี จึงทำให้มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว
ปลาหมอคางดำเพศเมีย 1 ตัว มีไข่ประมาณ 50-300 ฟอง หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วัน ใช้เวลาฟักไข่ในปากเพศผู้เพียง 4-6 วัน ก่อนจะดูแลตัวอ่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ไว้ในปากเช่นเดิม ส่งผลให้อัตราการรอดสูงกว่าปกติ และสามารถผสมพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล ซึ่งนับว่าเป็นการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วนั่นเอง
ปัจจุบันยังไม่มีการระบุอย่างแน่ชัดถึงการนำเข้าของปลาหมอคางดำ แต่อย่างไรก็ดี ปลาหมอคางดำกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ รวมไปถึงชาวประมงและเกษตรกรไทย
อ้างอิงข้อมูล : นิตยสารสาระวิทย์ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี