เป็นที่จับตามองไปทั้งประเทศ สำหรับการสยายปีกขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วของ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นอกจากจะยึดหัวหาดครองความเป็นหนึ่งในฐานะผู้นำวงการอุตสาหกรรมสื่อเมืองไทย ที่มีครบทั้งสื่อหนังสือพิมพ์, สื่อทีวี และสื่อออนไลน์ทุกช่องทาง ยักษ์ใหญ่หัวเขียวยังดิสรัปตัวเองขนานใหญ่ ด้วยการบุกเบิกไปเปิดธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อหาช่องทางสร้างรายได้เสริมความแกร่ง ทดแทนเม็ดเงินโฆษณาที่หดเล็กลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในเรือธงสำคัญที่เป็นความหวังใหม่ของ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ก็คือ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ธุรกิจขนส่งรูปแบบใหม่ครบวงจร ที่ต่อยอดจากศักยภาพความพร้อมของรถขนส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการขนส่งและการกระจายหนังสือพิมพ์มาแล้วหลายทศวรรษ

...

ในฐานะซีอีโอรุ่นใหม่ของ “บริษัท ไทยรัฐ โลจิสติคส์ จำกัด” ที่ได้รับภารกิจจากครอบครัววัชรพล ให้เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้งธุรกิจขนส่งน้องใหม่ตั้งแต่ปี 2564 “มัดหมี่-วราพรรณ วัชรพล” บอกเล่ากับทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถึงความท้าทายจากการเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติคส์ ซึ่งถือเป็นน่านน้ำใหม่ โดยยอมรับว่าเป็นภารกิจหนักอึ้งที่สุดในชีวิต!! แต่เพราะเริ่มต้นจากศูนย์ที่ไม่รู้อะไรเลย ทำให้กล้าคิดนอกกรอบไม่เหมือนใคร จนสามารถพลิกโฉมหน้าการให้บริการโลจิสติคส์เมืองไทย สู่รูปแบบคัสตอมไมซ์ ที่ช่วยลูกค้าบริหารจัดการระบบซัพพลายเชนแบบครบวงจรจริงๆ

“เรามาคุยกันในครอบครัวว่า อยากจะมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆที่ไม่ได้มาจากแวดวงเดิมของสื่อ ซึ่งต้องพึ่งรายได้จากโฆษณาเป็นหลัก “พี่จูเนียร์” (วัชร วัชรพล) เป็นคนนำเสนอไอเดียว่าน่าจะลองบุกธุรกิจขนส่งโลจิสติคส์ เพราะเป็นอะไรที่ไทยรัฐค่อนข้างมีความชำนาญระดับหนึ่ง เราขนส่งหนังสือพิมพ์เองมาตลอด 60-70 ปี ด้วยรถของเราเองทุกวัน ออกจากสำนักงานที่วิภาวดีทุกวัน ขนส่งหนังสือพิมพ์จากกรุงเทพฯไปกระจายยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ตรงนี้น่าจะเป็นศักยภาพอีกอย่างที่เราสามารถแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆออกไปได้ และเราก็มีรถขนส่งหนังสือพิมพ์ที่ยังว่างอยู่จำนวนหนึ่ง จึงอยากนำรถเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ เป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของเราเอง”...ซีอีโอไฟแรงบอกเล่าถึงเบื้องหลังการบุกเบิกธุรกิจใหม่ของไทยรัฐกรุ๊ป

ทำไมเดอะแฟมิลี่ถึงเลือก “มัดหมี่” มาลุยธุรกิจใหม่

งานโคตรช้าง!! คงเป็นจังหวะของหมี่พอดี (ยิ้ม) เหตุผลที่หมี่รับงานนี้อาจเป็นเพราะหมี่ไม่รู้อะไรเลย แต่หมี่มีความกระหายหิวว่าฉันต้องรู้ หมี่เป็นคนชอบความท้าทายและชอบเอาชนะ ยิ่งโดนดูถูกยิ่งอยากทำให้สำเร็จ หมี่คิดว่าเป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้นเหมือนได้ผจญภัยในโลกไม่คุ้นเคย การที่ไทยรัฐบุกเข้าไปทำธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่อุตสาหกรรมสื่อ มันเป็นการเปิดโลกกว้างสำหรับไทยรัฐและสำหรับตัวหมี่เอง เมื่อทุกคนลงความเห็นว่าให้หมี่ทำธุรกิจใหม่ หมี่ก็ลุย!! ทั้งๆที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องขนส่งโลจิสติคส์ ร่ำเรียนจบมาทางอินทิเรียดีไซน์ แถมยังขับรถไม่เป็นด้วยซ้ำ

“ไทยรัฐกรุ๊ป” เห็นโอกาสอะไรในธุรกิจโลจิสติคส์

เป็นการต่อยอดจากจุดแข็งที่เรามีอยู่ ซึ่งก็คือทรัพยากรรถขนส่งหนังสือพิมพ์ที่เรามีอยู่จำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ว่างภายในสำนักงานใหญ่ไทยรัฐกรุ๊ป โจทย์ที่หมี่ได้รับมาคือ ไทยรัฐมีรถขนส่งหนังสือพิมพ์ที่ยังว่างอยู่จำนวนหนึ่ง จะนำรถเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ อย่างไร เราคุยกันในครอบครัวตั้งแต่เริ่มเกิดโควิด-19 ในปี 2563 และลงมือศึกษาถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จากนั้นช่วงต้นปี 2564 “บริษัท ไทยรัฐ โลจิสติคส์ จำกัด” ก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท หมี่เริ่มต้นธุรกิจกับพนักงานแค่ 6 คน จนทุกวันนี้มีพนักงาน 80 คน (รวมพนักงานขับรถ) โดยภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ การบริหารจัดการรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 18 คัน และรถบรรทุกจัมโบ้ 4 ล้อ จำนวน 12 คัน ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

...

ใครคือลูกค้ารายแรกของ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์”

ลูกค้ารายแรกที่ทำให้เราได้เรียนรู้คือ การขนส่งพัสดุให้ลาซาด้า ช่วงต้นปี 2564 ยังเป็นช่วงที่โควิดกำลังแพร่ระบาด และมีการล็อกดาวน์ในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศ โดยห้ามคนที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิดเดินทางข้ามจังหวัด โชคดีที่พนักงานของไทยรัฐได้รับวัคซีนโควิดครบถ้วน จึงสามารถรับงานขนส่งพัสดุจากคลังสินค้าของลาซาด้าไปส่งตามศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัดต่างๆ เราได้วอลลุ่มมหาศาลจากลาซาด้า เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเมืองที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการช็อปปิ้งออนไลน์เติบโตรวดเร็วมาก ปีแรกสามารถทำรายได้มากกว่า 10 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่มันก็ยังไม่ใช่ภาพของ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ที่หมี่อยากเห็น เพราะกลุ่มการให้บริการขนส่งพัสดุมีสงครามราคาที่รุนแรงมาก ลูกค้าไม่เน้นคุณภาพ ขอแค่ขนส่งให้ทันกำหนดเวลา สิ่งที่เราถูกบีบคือการบริหารต้นทุน เพื่อแลกกับมาร์จินบางเฉียบไม่ถึง 10% ไทยรัฐไม่อยากไปแข่งกับคู่แข่งทั่วไป ที่เพียงแค่คุณมีรถอะไรก็ได้ก็สามารถรับงานขนส่งพัสดุ ช่วงแรกๆหมี่ไปนั่งเป็นแวนเกิร์ลกับพนักงานขับรถขนส่งของไทยรัฐ ทำให้ค้นพบว่างานนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไทยรัฐต้องการ มันไม่คุ้มค่าเหนื่อย และมันผิดที่ผิดทางสำหรับเรา รถของเรามีศักยภาพมากกว่านั้น หมี่ตั้งเป้ากับตัวเองว่าวันไหนที่เราหลุดออกจากกลุ่มบริการขนส่งพัสดุได้ วันนั้นคือความสำเร็จก้าวแรก ซึ่งก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะหาช่องทางอื่นมาชดเชยรายได้

...

หมุดหมายใหม่ที่ค้นพบคืออะไร

การบริการขนส่งสินค้าให้กลุ่มอุปโภคบริโภค และกลุ่มค้าปลีกโมเดิร์นเทรดต่างๆ ที่ต้องมีการกระจายสินค้าไปตามสโตร์ทั่วประเทศ กลุ่มนี้ทำให้เราเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีกว่าเดิมมาก

ไทยรัฐพลิกโฉมหน้าการให้บริการโลจิสติคส์เมืองไทยอย่างไร

เราพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็น 3PL หรือผู้ให้บริการโลจิสติคส์ครบวงจร ที่ดูแลสินค้าของลูกค้า ตั้งแต่การจัดเก็บ, การขนส่ง, การกระจายให้ถึงมือผู้บริโภค เรามีทีมและมีระบบที่จะบริหารจัดการให้หมดในแต่ละกระบวนการ ทำให้ลูกค้าสามารถโฟกัสในคอร์บิสเนสของลูกค้าได้ ส่วนเรื่องโอเปอเรชันหลังบ้านของลูกค้า และการเคลื่อนย้ายต่างๆ เดี๋ยวเราทำให้!! อีกสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างคือเราช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าลูกค้าได้ ผ่าน value added service ซึ่งคือการทำการตลาดผ่านช่องทางสื่อต่างๆที่ไทยรัฐกรุ๊ปมีอยู่ หมี่เชื่อว่าเราสามารถเป็นโซลูชันตอบโจทย์ปัญหาจุกจิกที่เกิดขึ้นใน day to day operation ของลูกค้าได้

...

อะไรคือหัวใจความสำเร็จของ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์”

คุณภาพของการให้บริการ และการบริการที่เอาใจใส่ เพราะเราคือ service you can trust ขณะเดียวกันไทยรัฐก็มีช่องทางสื่อครบวงจรที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าลูกค้าได้ ทำให้ลูกค้าได้โปรโมตสินค้าผ่านช่องทางสื่อต่างๆของเรา

เป้าหมายมีไว้พุ่งชนของซีอีโอคนใหม่คืออะไร

แผนปีนี้คือต้องสร้างรายได้ให้ทะลุ 100 ล้านบาท ซึ่งผ่านไปแค่ 6 เดือน ก็สามารถทำได้สำเร็จแล้ว หมี่คิดว่ามันเป็นแนวโน้มที่ดี และพิสูจน์ว่าเราน่าจะมาถูกทางแล้ว หลังจากปรับกลยุทธ์ใหม่หันมาให้บริการซัพพลายเชนครบวงจร ทำให้ได้คู่ค้าใหญ่ๆหลายราย รวมถึงร้านกาแฟพันธุ์ไทย และร้านสะดวกซื้อแมกซ์มาร์ท ภายในปั๊ม PT ทั่วประเทศ เป้าหมายต่อไปคือ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า หมี่อยากโฟกัสที่ลูกค้าเป็นหลักด้วยไอเดียใหม่ๆที่เราเริ่มกันมา หมี่อยากทำให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด ทุกลูกค้ามีการเซอร์วิสที่แตกต่างกัน ทุกอย่างเป็นแบบคัสตอมไมซ์จริงๆ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและวอลลุ่มของลูกค้า เป็นการเทเลอร์เซอร์วิสให้ตรงตามความต้องการจริงๆของลูกค้า หมี่ไม่กล้าฝันว่าจะเป็นเจ้าแม่โลจิสติคส์ แต่อยากจะนำทีมของเราให้พัฒนาและเติบโตไปด้วยกัน หมี่เรียนรู้จากคำสอนของพระเจ้าว่าเราจะต้องสละตนเองในการรับใช้ผู้อื่น หน้าที่ของหมี่คือจะซัพพอร์ตทีมยังไงให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาให้ได้ และข้ามอุปสรรคต่างๆไปให้ได้

เอาจริงๆมัดหมี่เป็นซีอีโอสไตล์ไหน

หมี่ค่อนข้างบ้าพลังและเข้าถึงได้ แต่เมื่อมาอยู่ในจุดผู้บริหารยอมรับว่าไม่สามารถปล่อยพลังได้เหมือนเดิม มีจุดที่คิดถึงตัวเองว่าฉันเคยเป็นคนพูดเสียงดัง อยากทำอะไรก็ทำ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก แต่ทุกวันนี้มันไม่ได้แล้ว หมี่ต้องบาลานซ์การเป็นตัวตนใหม่ให้เหมาะสมกับบริบท เพื่อประคับประคองทุกคนในทีมของเรา หมี่อยากสร้างทีมเวิร์กที่สตรอง สร้างเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถ และพัฒนาตัวเองให้เติบโตไปด้วยกัน

ถึงตอนนี้ให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่

ให้ 8 เต็ม 10 ค่ะ จากวันแรกจนถึงวันนี้ หมี่เห็นการเติบโตและพัฒนาการของตัวเอง หมี่แฮปปี้มากกับทีมงานของหมี่ ภูมิใจกับความสำเร็จของทีมที่เราสร้างขึ้นมา หมี่รู้ว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น มันต้องมีอุปสรรคอีกเยอะ แต่หมี่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้ในทุกวัน.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่