นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ เพราะวันนี้ (18 มิ.ย. 2567) พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อย โดยที่ประชุมมีจำนวนผู้ลงมติ 152 คน ถือว่าครบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง ซึ่งสิทธิประโชน์จาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่คนกลุ่มนี้จะได้รับมีอะไรบ้าง

สิทธิประโยชน์ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

เมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในไทย "สมรสเท่าเทียม" จะมีประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังยอมรับการสมรสเฉพาะแค่เพศชาย-หญิง เท่านั้น แต่หากมีการผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่าง ดังนี้

  • บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น "คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย"
  • "คู่สมรส" จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
  • ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น "คู่สมรส", ชาย-หญิง ปรับเป็น "บุคคล", บิดา-มารดา ปรับเป็น "บุพการี"
  • ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการหมั้น, สิทธิจดทะเบียนสมรส, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ เป็นต้น
  • ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
  • คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  • มีการปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)

...

สำหรับร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อจากนี้ทางวุฒิสภา จะส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นนายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยจะมีผลใช้บังคับหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้

สมรสเท่าเทียม เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ใช้เวลาเสวนา รณรงค์ และต่อสู้มากว่า 23 ปี อ่านต่อที่นี่ โดยการเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภา และได้รับการถูกบรรจุวาระแรกได้นั้นก็เป็นในปี 2565 หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้น สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายทั้งหมด โดยวันที่ 27 มีนาคม มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมสรเท่าเทียม ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมสภามีมติ เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง

จากการต่อสู้อย่างยาวนานของกลุ่ม LGBTQIAN+ โดยมีประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนช่วยกันสนับสนุน จนในที่สุดวันนี้ก็มาถึงในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นี้ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศแรกในอาเซียน และได้ใช้สิทธิของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ถือเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ในเดือนไพรด์ในปี 2567 ของคนกลุ่ม LGBTQIAN+ ในประเทศไทย ที่สามารถฟันฝ่า ต่อสู้ และช่วยกันผลักดันให้เกิดการยอมรับในสังคมไทยได้ในที่สุด

ภาพ ธนัท ชยพัทธฤทธี