เวลา และประสบการณ์อาจทำให้แต่ละเจเนอเรชัน มีมุมมองต่อเรื่องราวต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่ทุกเจเนอเรชันสามารถคุยกันและแบ่งปันความคิดไอเดียกันได้ ที่ไม่เพียงเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ แต่คือการนำพาสังคมและประเทศไปข้างหน้าด้วยกัน นี่คือส่วนหนึ่งที่ส่งสารออกมาได้อย่างชัดเจน จากงาน ไทยรัฐฟอรั่ม ครั้งที่สองของปี 2024 กับเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “Talk of the Gens เปิดเวทีความคิด ของคนหลายเจน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา 14.30-16.30 น. ที่ผ่านมา 

ผู้ร่วมเสวนาจาก 4 เจเนอเรชัน อย่าง พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง ตัวแทน BABY BOOMER, วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ครีเอเตอร์ ตัวแทน GEN X, โบ๊ท พชร อารยะการกุล CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัวแทน GEN Y และ แอนชิลี สก็อต-เคมมิส นางแบบ นางงาม ตัวแทน GEN Z ได้เปิดเผยมุมมองที่มีต่อการใช้ชีวิต การทำงาน มุมมองต่อสังคม และการเมืองอย่างเข้มข้น ตั้งแต่มุมมองที่มีต่อการใช้ชีวิตในแบบ Work Life Balance การอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ มุมมองต่อประเทศในอนาคต รวมไปถึงเรื่องราวที่อย่างส่งต่อของเจเนอเรชันต่างๆ 

Work Life Balance สไตล์ 4 Gens

ในมุมมองของพี่ตุ้ม ในฐานะคนรุ่นใหญ่วัยเบบี้บูมเมอร์นั้น ในยุคนั้นมีความเชื่อ เรื่องการทำงานหนัก เลือกที่ทำงานที่มั่นคง ไม่ลาออกเร็ว ฝังรากลึก อยู่ยาวนาน ซึ่งพี่ตุ้มมองว่า ตัวเองทำงานแล้วมีความสนุก เพราะมีความสุข งานไม่ใช่ภาระ จึงไม่ได้ต้องตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความคิดเรื่องการเก็บเงินคือไว้ใช้ยามเกษียณ แต่คนยุคนี้ ที่ใช้ชีวิตบาลานซ์ตั้งแต่วันนี้ก็เห็นด้วย สำหรับเจเนอเรชัน X อย่างวู้ดดี้นั้น ก็ทำงานหนักเช่นกัน ด้วยความคิดว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ให้ค่ากับความสำเร็จ แต่ก็นำมาสู่โรคจิตเวชในวัยนี้ 

...

สำหรับโบ๊ท ในฐานะคนเจนฯ Y ซึ่งทำงานในองค์กรที่ทำงานหนัก เต็มที่แต่ก็ Work Hard Play Hard เพราะเห็นรุ่นพี่ทำงานหนักมาก คนเจนฯ Y ส่วนใหญ่ย้ายงานบ่อย ถ้าอยู่ 3 ปี คือนาน เพราะอยากหาความก้าวหน้า ทดลองสิ่งใหม่ๆ และทำธุรกิจตัวเอง เก็บเงินไม่ใช่เพื่อเกษียณ แต่เพื่อลงทุน

สำหรับแอนชิลีเรื่องของการทำงานจะสมดุลหรือไม่ จะทนหรือไม่ที่อยู่ที่ความชอบ ถ้าใจรัก แม้จะเหนื่อยก็ทำต่อ แอนชิลีบอกว่า “เคลียร์ในสิ่งที่อยากทำ และไม่อยากทำ คิดว่าเจนฯ Z เห็นคุณค่าในคุณภาพชีวิตมากขึ้น การใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สร้างเมมโมรี่กับเพื่อนๆ และครอบครัว”

รัฐบาลในฝันของแต่ละคนเป็นอย่างไร 

พี่ตุ้มบอกว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดต้องมาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งนักธุรกิจ เกษตรกร ที่เราต้องเคารพเสียงเสียส่วนใหญ่ แล้ว  4 ปีค่อยว่ากัน เพราะเป็นกลไกประชาธิปไตยที่ควรเกิดขึ้น 

“คนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นผมตั้งคำถามไม่เหมือนเดิมเยอะขึ้น สิ่งที่ทำมาไม่สำเร็จในยุคผม ไม่ใช่ว่าจะไม่สำเร็จในยุคนี้ ประสบการณ์ยุคผมที่คิดว่า ต้องมีประสบการณ์ถึงจะบริหารประเทศ อาจเป็นรุ่นใหม่ ที่ไม่มีประสบการณ์ แต่มีวิธีคิดใหม่ วิธีการทำงานใหม่ที่คนรุ่นผมไม่รู้จักไม่คุ้นชิน และเชื่อแบบเดิมตลอดเวลา รุ่นผมอดีตยาว แต่อนาคตสั้น คนรุ่นใหม่นั้นอดีตสั้น แต่อนาคตยาว คนรุ่นผมต้องปล่อยวาง ต้องยอมรับความจริงว่าโลกเป็นของคนรุ่นใหม่ ควรจะให้โอกาส เปิดประตูความคิด ยอมรับความแตกต่างความคิด”

ขณะที่วู้ดดี้ ตอบชัดๆ ว่า รัฐบาลในฝัน ไม่ใช่รัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมด เราต้องยอมรับความจริง ที่ว่าเหมือนจะดีแต่ยังไม่ดี เหมือนจะได้แต่ยังไม่ได้ ที่ผ่านมาไปได้ดีกว่านี้ แต่น่าเสียดายมีหลายเรื่องเกิดขึ้นต้องยุบไป แล้วกลับมาใหม่ เราวนลูปอย่างนี้มานาน หวังว่าเจนฯ ต่อไป จะอยู่กับสิ่งที่มีเสถียรภาพ มั่นคงกว่านี้ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้สักวัน และมีความหวังจะเกิดขึ้น ตอนนี้ต้องให้โอกาส ยังมีตัวแปร และความชัดเจนไม่เกิดขึ้น อีกครึ่งปี หรือปีหนึ่งคงชัดเจนขึ้น 

...

โบ๊ท ให้ความเห็นว่า เกมการเมืองของไทยมองผลประโยระยะสั้น แต่งานระยะยาวหายไป จึงอยากเห็นโครงการที่ทำให้ประเทศไปได้ระยะยาาว ไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้รับเลือกตั้งครั้งหน้า

สำหรับแอนชิลีแล้ว ชอบรัฐบาลในฝันแบบประเทศ นิวซีแลนด์ ที่ผู้นำมีความเข้าอกเข้าใจประชาชน บริหารเพื่อคนในประเทศ ที่น่ากังวลของประเทศไทยคือ อาจลืมว่าคนไทยต้องการอะไรมาก ให้ความสำคัญการพัฒนา โดยไม่ดูแลคน เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าคนพัฒนาไปได้ ประเทศก็พัฒนา หรือคนไม่แข็งแรงมาก แต่อยู่ในทีมที่แข็งแกร่งประเทศก็ไปได้

ในส่วนทัศนต่อการเมืองไทย พี่ตุ้มมองว่า ถ้าย้อนเวลาช่วงเกิน 20 ปีก่อน การเมืองไม่ขัดแย้งขนาดนี้ คุยกันได้เหมือนเรื่องฟุตบอล แสดงความเห็นตรงไปตรงมา แต่ใช้คำพูดกันอย่างระวัง ส่วนวู้ดดี้นั้นมองว่าทุกรุ่นคุยเรื่องการเมืองหมด ให้ความสำคัญและความสนใจ แต่จะในระดับไหนมากกว่ากันเท่านั้นเห็น สำหรับโบ๊ท ในรุ่นของโบ๊ทนั้น มองว่าหลายคนอยากให้คิดไปทางเดียวกัน ใครคิดต่างจะแปลก แต่ก็แล้วแต่กลุ่ม แต่ปัจจุบันคิดต่างกันได้ ขณะที่แอนชิลี มองว่า เจนฯ Z กล้าพูดอย่างชัดเจนว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไร มีสิทธิพูดได้ เปิดใจคุยกันได้ง่ายกว่า เคารพความรู้สึกรู้สึกตัวเอง และคนอื่น

สิ่งที่อยากส่งต่อกันคืออะไร

พี่ตุ้มบอกว่า เบบี้บูมเมอร์นั้น เป็นวัยที่เห็นความงดงามของความช้าและการรอคอย อยากส่งมอบสิ่งนี้ และไม่อยากส่งต่อความเกลียดชัง ที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ และอยากฝากเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ที่ไม่ใช่ช่องว่าง แต่เป็นที่ว่าง เพราะช่องคือหลุมลึกที่ก้าวข้ามไม่ได้ แต่ทางสถาปัตย์แล้ว ที่ว่างนั้นมีความงาม เพราะสเปซคือสิ่งสำคัญ มุมมองที่แตกต่าง จึงควรมีที่ว่าง

“นึกถึงคำ พระไพศาล ที่บอกว่า สังเกตบอกว่าคนโกรธกันอยู่ใกล้กันแต่ ตะโกนเสียงดัง แต่คนรักกันจะพูดกันเบาๆ เพราะไกลใกล้อยู่ที่หัวใจ คนโกรธกันหัวใจไกลกัน ถ้ามีความรัก หัวใจใกล้กัน อยู่ไกลแค่ไหนก็พูดกันเสียงเบา”

...

สำหรับวู้ดดี้แล้ว สิ่งที่ไม่อยากส่งต่อกัน คือการตัดสินคนล่วงหน้าว่า หน้าตาแบบนี้ จบอย่างนี้ต้องเป็นแบบนี้ อยากให้มองทุกคนเท่าเทียมกัน จบอะไร รายได้เท่าไร  ทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน ย้ำว่า สิ่งไม่อยากส่งต่อ คือ การตัดสิน การไม่ให้เกียรติ ส่วนที่อยากส่งต่อ คือความอดทนเพราะอาจเป็นผลลัพธ์ที่รอคอยได้

ส่วนโบ๊ท ที่อยากส่งต่อ คือการที่ได้เห็น ข้อดีของเจนฯ อื่น เพราะอยู่ตรงกลาง รู้สึกทุกเจนฯ ดีหมด แม้กระทั่งการอาบน้ำร้อนมาก่อน “ผมเชื่อว่าคนอยู่มาก่อนนั้นมีจุดดี ส่วนเจนฯ ใหม่กล้าแสดงออก ก็เป็นเรื่องดี เรามองคนอื่น และมองจุดดีทุกเจนฯ ก็อยู่ร่วมกันได้”

ขณะที่แอนชิลี บอกว่า "อยากให้เจนฯ Z เลิกติดโทรศัพท์มือถือจนลืมการใช้ชีวิตจริง และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่อยากส่งต่อคือความกล้าที่จะพูด ถามคำถามที่ออกจากกรอบ"

...