ความเครียด เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับ หรือหากเวลาหลับไปก็มี ‘โอกาสทำให้เกิดฝันร้าย’ ถึงเรื่องที่กำลังวิตกกังวลอยู่ก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ความวิตกกังวลที่มากขึ้น จนส่งผลกระทบไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ทั้งสภาพร่างกาย และจิตใจ ซึ่งมักพบได้บ่อยในเวลามีการสอบ หรือการสัมภาษณ์งาน

หนึ่งในปัญหาของวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงเรียนหนังสือ และเกิดขึ้นได้บ่อย คือ ความวิตกกังวล ซึ่งการวิตกกังวลนี้ส่งผลได้อย่างหลากหลายทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิต 

อาการฝันร้าย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบ ที่ทำให้ความกังวลที่กังวลอยู่มีภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยหากเป็นสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่จะทำให้ผู้ที่ฝันอยู่สามารถจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ 

การฝันร้ายนั้นมักจะมีเนื้อหาที่น่ากลัว และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่สบายใจโดยตรง เนื่องจากสมองของเราสั่งการให้เกิดความคิดเหล่านี้ ส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้เกิดการนอนหลับที่ไม่ต่อเนื่อง ตื่นมาแล้วไม่สามารถนอนต่อได้ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือโศกเศร้า และมีผลต่อสุขภาพกายในการนอนหลับที่ไม่เต็มอิ่ม

รายงานจาก BBC ที่ได้สัมภาษณ์ รายแรก โอลูวาโตซิน (Oluwatosin) เยาวชนวัย 17 ปี ทีกำลังจะเข้าเรียน A-level ที่ Leeds Sixth Form College โดยตัวเขากล่าวว่า “มักจะมีอาการฝันร้ายซ้ำๆ เหมือนเดิมในทุกวัน ในความฝันโอลูวาโตซินพบว่าตัวเองอยู่ในห้องสอบ มีกระดาษคำนวณอยู่ตรงหน้า แต่เขาสับสนในการทบทวนวิชาสถิติ และกลศาสตร์ และแบบทดสอบเต็มไปด้วยคำถามที่เขายังไม่ได้เตรียมไว้”

ความฝันดังกล่าวทำให้ โอลูวาโตซิน ตื่นขึ้นมามีเหงื่อออก และปวดหัว หลังจากนั้นจะเกิดความโล่งใจเมื่อพบว่าทั้งหมดเป็นเพียงความฝันจริงๆ 

...

ความเป็นจริง มนุษย์เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าความฝันที่จะเกิดขึ้นในเรื่องที่วิตกกังวลนั้นเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ไม่ใช่ทุกคนที่จำความฝันเหล่านั้นได้ แต่ทำไมถึงได้ฝันถึงเรื่องเหล่านี้ และมีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อหยุดฝันร้ายที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ 

คอลิน เอสปี (Colin Espie) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์การนอนหลับที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “สมองของเราตื่นตัวแม้ในขณะที่เราหลับอยู่ โดยสมองมักจะทำการประสานสิ่งที่เราได้พบเจอ ทำให้มีการเรียนรู้ เกิดการสร้างความทรงจำ และประมวลผลอารมณ์ของเราเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความฝัน”

คอลิน เอสปี กล่าวเพิ่มว่า “โดยในฝันนั้น เรามักจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความจริงที่กำลังทำงานกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ความฝันเกี่ยวกับการสอบ ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ทั้งหมดในเวลานั้นๆ และเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัวก็ตาม” 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน บางทีสมองของคุณ อาจจะคำนึงถึงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตนเองในเวลานั้น โดยมักจะมีเนื้อหาที่ต้องทำ หรือกำลังกังวลในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่” 

ทำไมการสอบ ถึงทำให้ฝันร้าย และเข้ามาอยู่ในฝันเป็นประจำ

“โดยปกติความเครียดจากการสอบ มักจะเข้ามาเป็นเรื่องราวในฝันของมนุษย์ลำดับต้นๆ เพราะคนเรามักจะฝันถึงทุกสิ่งที่กำลังคุกคาม ณ ขณะนั้น แต่ใช่ว่าสิ่งที่กำลังคุกคามอยู่นั่นเป็นเรื่องไม่ดี บางครั้งสิ่งเหล่านี้หมายถึงความท้าทายที่ก่อให้เกิดความกังวล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ การสอบ มักจะเข้ามาในสมองของเราก่อนเข้านอน” ศาสตราจารย์เอสปีกล่าว 

คอลิน เอสปี กล่าวเสริม “ความฝันเรื่องเกี่ยวกับการสอบ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นวิตกกังวลเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด บางครั้งอาจจะไม่ฝันเลย บางครั้งอาจฝันเป็นครั้งคราว และสำหรับบางคนก็เป็นปัญหาทุกคืน”

ฝันร้าย จึงเป็นความฝันทางอารมณ์ โดยสมองสามารถจัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความรู้สึกของเรา และถูกประมวลผลในขณะที่นอนหลับ ส่วนใหญ่จะเกิดจากเรื่องราวปัจจุบันที่ถูก "กระตุ้น" ด้วยอารมณ์ และความรู้สึกที่ผ่านมา และจะเกิดขึ้นแบบสุ่ม 

“ทำให้ความฝันนำเรื่องราวในอดีตที่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่น หากกำลังจะสัมภาษณ์งาน หรือทดสอบ บางครั้งในความฝัน อาจจะเกี่ยวกับข้อสอบโดยตรง หรือไม่เกี่ยวเลย แต่อาจเกี่ยวกับการถูกทดสอบในทางใดทางหนึ่ง" คอลิน เอสปี กล่าว

วิธีหยุดฝันร้ายในช่วงที่กำลังวิตกกังวล

ถ้าในปัจจุบันมีการสอบ หรือสิ่งที่กำลังจะมาถึงทำให้เกิดความกังวลในชีวิต ศาสตราจารย์คอลิน เอสปี ได้ให้คำแนะนำว่า “ควรมีการจัดตารางการใช้ชีวิต หรือการเรียนใหม่ให้ที่ดีขึ้น ลำดับแรก คือ ควรมีตารางเวลาที่มีการหยุดพักเป็นประจำ เพื่อที่จะได้ผ่อนคลาย และสร้างความมั่นใจกับตัวเอง ก่อนที่จะไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น"

“ลำดับที่สอง คือ ต้องหลีกเลี่ยงเรื่องราวที่วิตกกังวลในตอนกลางคืน ตัวอย่างเช่น หากเราล้มตัวลงนอนบนเตียง โดยมีสูตรคณิตศาสตร์วนเวียนไปมาในหัว ก็จะมีโอกาสที่จะตื่นขึ้นมาโดยที่สูตรคณิตศาสตร์ยังอยู่ในใจกลางดึก” ศาสตราจารย์เอสปีกล่าว 

การให้เวลาตัวเองพักจากเรื่องราวที่กำลังวิตกกังวล เป็นเรื่องดีที่ทำให้สุขภาพจิตเกิดการผ่อนคลาย และสุขภาพกายดีขึ้นจากการนอนหลับเต็มอิ่ม 

...

อย่างไรก็ตามความกังวลอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก ให้ป้อนความคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจในตนเองลงไป หรือหมั่นบอกตัวเองว่าหากเราได้นอนหลับเพียงพอ เพื่อหยุดการคิดถึงสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่วิตกกังวลอยู่จะดีขึ้นในวันถัดไป นอกจากนี้การผ่อนคลายด้วยการทำสิ่งอื่น เช่น ดูทีวี ฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ ก่อนนอนอาจเป็นตัวช่วยในการเลิกคิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก่อนนอนได้เช่นกัน

คอลิน เอสปี กล่าวเสริมว่า “แน่นอนความวิตกกังวล เป็นเรื่องยากที่จะทำให้หลุดออกจากความคิดได้ในเวลาอันสั้น ให้ทดลองทำ เลิกคิด และพยายามนอนหลับให้ได้”

นอนไม่หลับ ควรทำอย่างไร

ถ้าหากพบว่าตัวเองกำลังจ้องมองเพดานตอนตี 4 อยู่เหมือนเดิม ลำดับแรกให้ลองเปลี่ยนท่านอน และเปลี่ยนมุมมองจากความคิดว่า ‘นอนไม่พอ’ ให้เป็นการรู้สึก ‘โล่งใจที่ได้นอนต่ออีกสามชั่วโมงแทน’ เพราะการกังวลว่าตอนนี้คุณจะนอนหลับไม่เพียงพอ จะยิ่งทำให้เกิดการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ให้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที (โดยไม่จับโทรศัพท์) เพื่อให้ตัวเองกลับไปนอนต่อ 

ถ้าหากยังนอนไม่หลับอีก ให้ลองลุกขึ้นในช่วงสั้นๆ จนกว่าจะรู้สึกง่วงอีกครั้ง ค่อยกลับไปนอน และปล่อยให้ตัวเองหลับไป 

ศาสตราจารย์เอสปี กล่าวคำแนะนำต่อว่า “การนอนหลับไม่ให้ฝันร้าย หรือนอนหลับให้เพียงพอ คือ อย่าให้ตัวเองติดอยู่กับการพยายามมากเกินไป และเชื่อในการนอนหลับของตนเอง และพึงคิดเสมอว่า การนอนดึก นอนหลับช้า หรือ การนอนฝันร้าย ก็ยังดีกว่าการไม่ได้นอน”

ข้อมูล : BBC

...