ในทุกๆ ฤดูกาลของฟุตบอลลีก สิ่งที่ทำให้แฟนบอลเฝ้ารอคอยติดตามมากที่สุด ถ้าไม่นับเรื่องของการย้ายเข้า-ย้ายออกของนักเตะ หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องของชุดแข่งในฤดูกาลใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร โดยเฉพาะแฟนบอลสายคอลเลกเตอร์ ซึ่งเฝ้าติดตามชุดแข่งที่มองว่า “ของมันต้องมี” โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องซื้อเฉพาะชุดแข่งของทีมที่ตัวเองเชียร์เท่านั้น หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลที่ถือได้ว่า เป็นนักสะสมเสื้อฟุตบอล ก่อนที่จะต่อยอดร่วมเป็นผู้จัดงานเกี่ยวกับเสื้อบอลไปแล้ว เขาคือ ศุภชัย หนุมาศ หรือที่แฟนฟุตบอลในโลกออนไลน์รู้จักกันดีในชื่อ “เจ๊ดำ” แฟนคลับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตัวยง ที่มีเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูลเป็นสิบๆ ตัว
นี่จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่า เพราะอะไรทำไมคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ด พันธุ์แท้แต่กลับมีเสื้อของคู่ปรับตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูล ทั้งหมดเป็นเพราะว่า ลิเวอร์พูลเป็นทีมฟุตบอลทีมโปรดของคุณพ่อของเจ๊ดำ นั่นเอง โดยเฉพาะเสื้อลิเวอร์พูลฤดูกาล 2010-11 ที่ยังคงตราตรึงใจไม่เคยลืมเลือน
...
“เสื้อลิเวอร์พูลฤดูกาล 2010 เป็นปีที่สตีเวน เจอร์ราร์ด และหลุยส์ ซัวเรซ กำลังแข็งแกร่ง เป็นเสื้อที่เจ๊ซื้อให้คุณพ่อใส่ตอนที่ยังมีชีวิต ซึ่งซื้อที่ Behind stadium (หลังสนามศุภชลาศัย-ผู้เขียน) ราคาประมาณ 300-400 บาท ก็ถือว่าแพงสำหรับช่วงที่ยังไม่ค่อยมีเงินสักเท่าไร เป็นตัวที่คุณพ่อชอบใส่ เพราะคุณพ่อเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล” เจ๊ดำกระซิบพลางหัวเราะกับมุกตลกเกี่ยวกับการซื้อเสื้อฟุตบอลหลังสนามศุภฯ
เจ๊ดำเล่าให้ฟังต่อไปว่า วันที่คุณพ่อเสียก็เอาเสื้อลิเวอร์พูลตัวนั้น ใส่โลงแล้วก็เผาไปพร้อมกันเลย มันเลยเป็นความทรงจำฝังใจว่า เสื้อตัวนี้เป็นเสื้อตัวสุดท้ายที่พ่อเราได้ใส่
“ในช่วงหลังจากนั้น ลิเวอร์พูลเริ่มยิ่งใหญ่ ตอนที่ได้แชมป์ก็เขียนบนเฟซบุ๊กถึงคุณพ่อว่า ลิเวอร์พูลได้แชมป์แล้วนะ ปีนี้เข้าชิงชนะเลิศ ซึ่งมันก็จะย้อนกลับมาเสื้อตัวนี้เสมอ”
เรื่องตลกเกี่ยวกับชุดแข่งของลิเวอร์พูลในปี 2010 ไม่ได้หมดแต่เพียงเท่านี้ เจ๊ดำเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้เวลาที่เห็นเสื้อลิเวอร์พูลปีดังกล่าวจะต้องซื้อทุกครั้ง จนปัจจุบันแค่ปีนั้นปีเดียวมีไม่ต่ำกว่า 7-8 ตัวเข้าไปแล้ว เวลาที่ร้านขายเสื้อฟุตบอลที่สนิทสนมกับเจ๊ดำบอกว่า มีเสื้อตัวนี้เข้ามาก็จะแท็ก หรือดีเอ็ม (Direct Messages) เพื่อบอกว่า มีเสื้อลิเวอร์พูลปี 2010 เข้ามาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า คำตอบของเจ๊ดำก็คือ กด “F”
“นักเตะขวัญใจของคุณพ่อเจ๊ ก็คือ สตีเวน เจอร์ราร์ด ซึ่งเสื้อปีนี้ก็คือเสื้อที่มีมูลค่าทางจิตใจและความทรงจำมากๆ ตัวหนึ่ง”
เมื่อถามถึงความหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า เสื้อฟุตบอลของเจ๊ดำมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เขาตอบว่า “มันต้องย้อนกลับไปในวัยเด็กในช่วงวัยประถม” ซึ่งผมแซวว่า ตอนนี้เจ๊ดำอายุ 26 ปี ก็แปลว่า ก็ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วเท่านั้นเองสินะ เจ๊ดำชูนิ้วโป้งพร้อมเสียงหัวเราะพลางบอกว่า “เยี่ยมมาก”
“เสื้อฟุตบอล มันมีเสน่ห์ในตัวมันเอง ทำให้คนที่ ชอบฟุตบอลในยุคนั้นๆ รู้สึกหลงใหล คลั่งไคล้ หรือว่ามีแพสชัน (Passion) เกี่ยวกับเสื้อฟุตบอล มันจะ ‘ย้อนภาพ’ ช่วงเวลานั้นๆ คุณอยู่โมเมนต์ไหนกับเสื้อตัวนี้ มันจะลิงก์ทั้งตัวเราเอง ทีมฟุตบอล ทั้งเสื้อฟุตบอล เหตุการณ์ในโลกฟุตบอล” ผมแทรกขึ้นมาว่า โดยเฉพาะปีที่ได้แชมป์
“ใช่! หรือแม้แต่ปีที่พลาดแชมป์ก็ตาม ถ้าพูดหล่อๆ สวยๆ ถ้าพูดหล่อๆ สวยๆ มันก็ยังสวยงามอยู่ แต่ที่จริงกูเครียดชิบหาย” เจ๊ดำหัวเราะลั่น
อย่างไรก็ดี เรื่องของเสื้อฟุตบอลมันมาจากความหลงใหลที่ไม่เหมือนกัน บางคนหลงใหลในเรื่องของมูลค่า บางคนหลงใหลในเรื่องของแฟชั่น บางคนหลงใหลจากโมเมนต์ On thay day หรือ On this day ในวันนั้นวันนี้มันเกิดอะไรขึ้น บางคนหลงใหลเพราะมีอารมณ์ร่วมหรือประสบการณ์ร่วมกับเสื้อตัวนั้น ก็แตกต่างกันไป
“แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคที่เจ๊ยังเด็ก เรารักฟุตบอล เราชอบฟุตบอล แล้วเสื้อฟุตบอลคือหนึ่งในองค์ประกอบของฟุตบอล” เจ๊ดำพูดด้วยสายตาเป็นประกาย
...
ผมได้ชวนเจ๊ดำคุยต่อในเรื่องของเสื้อฟุตบอลตัวแรกในชีวิต เจ๊ดำบอกว่า นี่เป็นสิ่งที่จำได้แม่นยำ เสื้อตัวนั้นเป็นเสื้อทีมชาติอิตาลี ชุดลุยฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ
“ตัวนั้นคุณพ่อซื้อมาให้ แต่วันที่เจ๊ฝากซื้อ เสื้อที่ฝากเป็นเสื้อทีมชาติเยอรมนีตะวันตก แต่เมื่อไปถึงร้านที่เรียกกันว่า Behind stadium เสื้อเยอรมนีตะวันตกมันหมด” เจ๊ดำหัวเราะลั่น แล้วเล่าต่อไปว่า “ยุคนั้นไม่มีโทรศัพท์สื่อสาร คุณพ่อเลยตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างกลับมาให้ เพราะตอนนั้นใกล้เข้าสู่ช่วงฟุตบอลโลกแล้ว ด้วยความเป็นเด็กก็อยากใส่มาเชียร์ฟุตบอล คุณพ่อเลยตัดสินใจซื้อเสื้อทีมชาติอิตาลีมาให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า สีน้ำเงินมันสวยดี อีกอย่างคืออิตาลีเป็นเจ้าภาพนะ”
เมื่อได้เสื้อกลับมา เจ๊ดำบอกว่า เราก็งอแงตามประสาเด็ก อยากที่จะใส่เสื้อเยอรมนีตะวันตก เพราะจะเอามาใส่เชียร์ 3 ทหารเสืออย่าง โลธาร์ มัตเธอุส, เยอร์เกน คลินส์มันน์, อันเดรียส เบรห์เม รวมถึง โบโด อิลก์เนอร์ แต่เมื่อได้เสื้อทีมชาติอิตาลีมาแทน ก็เลยเลือกเชียร์ทีมอิตาลีตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้
ในเมื่อเสื้ออิตาลีปี 1990 เป็นเสื้อที่มาจากสถานที่ที่เรารู้กันในชื่อ Behind stadium แต่ถ้าเป็น “เสื้อแท้” ตัวแรกในชีวิตล่ะ เป็นเสื้อของทีมไหน
เจ๊ดำ ในวัย 26 ปี ตอบว่า น่าจะเป็นเสื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 1993-1995 ซึ่งได้จากเพื่อนที่ไปเรียนซัมเมอร์ที่ประเทศอังกฤษ
...
“เพื่อนเจ๊รู้ว่าเจ๊เป็นแฟนคลับของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลยซื้อเสื้อสีดำ ชุดเยือน โดยภาษาวงการเสื้อบอลเรียกชุดนี้ว่า ‘กังฟูคิก’ ที่เอริก คันโตนา กระโดดถีบใส่แมทธิว ซิมมอนส์ แฟนบอลของคริสตัล พาเลซ ที่เซลเฮิสต์ พาร์ค นั่นคือ เสื้อแท้ตัวแรก ที่ได้จากอังกฤษ”
เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานั้นหรือเวลานี้ เสื้อฟุตบอลเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง แต่ในเวลานั้นช่องทางการซื้อหาเป็นเจ้าของมีจำกัด ถ้าอยากได้ของแท้ต้องไปที่ร้านสตาร์ ซอกเกอร์ ราคาตัวหนึ่งก็ 3,000-4,000 บาท
“ตอนที่เพื่อนซื้อมาฝาก ตอนนั้นดีใจมากที่ได้เสื้อแท้ แล้วก็เป็นเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ดตัวแรก” ก่อนที่เจ๊ดำจะหักมุมด้วยการบอกว่า ตอนนี้เสื้อตัวนั้นไม่อยู่แล้ว พอถามว่าเพราะอะไรก็ได้คำตอบฮาๆ ตามประสาเจ๊ดำว่า “ให้ไปตอนเมา พอทวงคืนก็ทวงไม่ได้แล้ว”
ในฐานะคอลเลกเตอร์ เจ๊ดำยอมรับว่า เขาเป็นคนแปลกเวลาที่จะซื้อเสื้อฟุตบอล เพราะไม่ได้เป็นคนที่ซื้อเสื้อฟุตบอลที่นักสะสมนิยมเล่นกัน ไม่ได้เน้นของแรร์ (Rare) แต่เน้นไปที่ความเกี่ยวข้องกับตัวเองเป็นพิเศษ เช่น เสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด อาถรรพณ์สีเทา หรือเสื้อสีขาวฟ้า ที่ใส่ในครึ่งหลังเกมแพ้เซาแธมป์ตัน 6-3 หรือแม้แต่เสื้อลิเวอร์พูลปีที่แฟนบอลไม่ชอบในปีที่ผลิตโดยวอร์ริเออร์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเอง ชอบหรือไม่ชอบ แค่นั้นเอง
...
อย่างไรก็ดี ในเวลานี้กระแสเสื้อฟุตบอลแพร่กระจายไปในวงกว้างมาก ในมุมของนักสะสมก็คงต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ไม่ดี
เจ๊ดำให้ความเห็นว่า เรื่องนี้มันมีหลายส่วน แน่นอนว่าในเชิงปรากฏการณ์ของแฟชั่นเสื้อฟุตบอล (Bloke core) คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ในแง่ของการทำให้หาซื้อได้ง่ายขึ้น
“จากเดิมที่ต้องสั่งจากต่างประเทศเท่านั้น แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าเป็นของแท้ หรือไม่แท้ จะได้ของรึเปล่า แต่ยุคปัจจุบันคุณแค่ไถอินสตาแกรมก็มีแล้ว เฟซบุ๊กแฟนเพจก็มีแล้ว มันง่าย”
ต่อมาคือ มีตัวเลือกเยอะ เสื้อตัวเดียวกัน คนละร้านขาย สภาพต่าง ราคาก็ต่างกัน อย่างที่สาม คุณตัดสินใจด้วยตัวเองได้ แต่ก่อนเป็นไฟต์บังคับ มีตัวนี้ที่ร้านนี้ ถ้าเราไม่เอามีคนอื่นเอานะ คุณก็หมดสิทธิ์แล้ว และไม่รู้ของจะมาอีกเมื่อไหร่
ในมุมมองของข้อเสีย เจ๊ดำให้ความเห็นว่า เราไม่สามารถกำหนดราคาได้ พูดง่ายๆ คือราคามันเฟ้อแล้ว
“เสื้อบางตัวที่ซื้อในช่วงโควิด-19 ที่มีพี่ๆ น้องๆ เขาเดือดร้อน ก็เอาสินค้ามาขาย บางตัวหลักร้อย บางตัวก็พัน-สองพัน ตัดภาพเวลาผ่านไปสามปี บางตัวราคาหลักร้อยขยับไปเป็นหลักสองพัน ตัวที่เคยราคาหลักสองพันไปเป็นห้าพัน สามพันขึ้นไปเป็นหนึ่งหมื่น เพราะฉะนั้น ราคาเฟ้อก็เป็นผลดีต่อพ่อค้า เป็นผลเสียต่อคนซื้อ ซึ่งถ้ามองในฐานะนักสะสม ก็ถือว่าโชคดีที่ได้เข้ามาก่อนที่ราคาจะพุ่งไปไกล”
นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของเซเลบริตี้ คนดัง นักแสดง ศิลปิน หรือแม้แต่ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ใครก็ตามที่สวมใส่เสื้อฟุตบอล มันเกิดกระแสอยู่แล้ว บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า เสื้อที่ใส่เป็นของทีมอะไร ปีอะไร มีประวัติศาสตร์อย่างไร แต่เห็นดาราคนนี้ ศิลปินคนนั้นใส่ เฮ้ย! ของมันต้องมี มันก็เลยพาให้ราคามันสูง แต่เจ๊ดำก็มองว่า เป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณซื้อไหว คุณโอเค คุณก็ซื้อ
“ถ้าเฟ้อไปก็ไม่ต้องซื้อ มันง่ายแค่นั้นแหละ” เจ๊ดำแนะ
ในเวลานี้ เจ๊ดำก็ไม่ได้มีสถานะแค่นักสะสม แต่เพิ่มสถานะเป็นผู้ร่วมจัดงานแล้ว
“อันที่จริง คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักก็คือ พี่กล้า เกียรติกมล กล่อมแก้ว ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่รู้จักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยที่เขาเป็นแม่แรงของ Football Shirts Community of Thailand เป็นเพจที่ ออกร้าน ไลฟ์สดขายเสื้อฟุตบอล” เจ๊ดำเล่าต่อไปว่า "แต่ทีนี้ ถ้าต้องการให้เกิดชุมชน เจ๊ดำเลยได้คุยกับพี่กล้า จนกลายเป็นการจัดงานขึ้นมา เริ่มจากการจัดงานที่ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา จนขยับขยายมาเป็นศูนย์การค้าธนิยะ ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ รวมถึงครั้งล่าสุดที่ MRT พหลโยธิน ซึ่งในเวลานี้มีหลายต่อหลายที่ต้องการให้กลุ่มก้อนของคนรักและสะสมเสื้อฟุตบอลไปจัดงาน"
“พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ตลาดเสื้อบอล’ รวมร้านกันมา แรกๆ ก็มีแค่ 20 ร้าน ขยับขึ้นไปเป็น 40 ร้าน โดยงานที่เตรียมจัดขึ้นครั้งล่าสุด 14-16 มิถุนายนนี้ ที่ซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์ มีทั้งหมด 70 บูธ เต็มเรียบร้อย”
ด้วยความที่เวลาจัดงานคาบเกี่ยวกับช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ทำให้การจัดงานเสื้อบอลที่มีเจ๊ดำร่วมด้วย จึงมี Exhibition เกี่ยวกับยูโร 2024 ให้สอดรับกับกระแสฟุตบอลยูโรพอดี
“เพราะฉะนั้นแล้ว น่าจะเป็นการกระตุ้น เป็นการพบปะพูดคุยกันของนักสะสม ของพ่อค้า-ลูกค้า”
เจ๊ดำฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากเข้าสู่วงการเสื้อฟุตบอล “เรื่องนี้เป็นเรื่องของความชอบ เป็นความหลงใหล เป็นเรื่องของ Passion ความต้องการของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน”
เจ๊ดำบอกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเงื่อนไขงบประมาณที่พอจะซื้อได้ ถ้ามีเงินเยอะหน่อยก็กว้านซื้อได้เยอะ ถ้ามีเงินน้อยหน่อยก็ต้องเลือกซื้อเฉพาะที่ชอบ ทั้งนี้เสื้อฟุตบอลแท้ก็มีราคาค่อนข้างสูง บางคนเงินน้อยอาจต้องใช้ 2-3 ปี ซื้อสักหนึ่งตัว
“เจ๊อยากเน้นว่า เอาเท่าที่มีความสุขกับมัน อย่าให้ต้องถึงขั้นอดข้าว ทำให้ตัวเองและครอบครัวเดือดร้อนเพื่อมีเสื้อหนึ่งตัว ใส่โพสต์ลงโซเชียล อวดคนอื่นว่าเรามีเสื้อตัวนี้แล้ว”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่แฟนคลับถามมาที่เจ๊ดำเยอะมากว่า ไม่สะดวกเรื่องการเงิน แต่อยากเชียร์ทีมโปรด ซื้อเสื้อปลอม ดีหรือไม่
“เจ๊ไม่สนับสนุนเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าคุณมีความสุขกับการได้เชียร์ทีม กับการซื้อเสื้อที่ตลาดนัดสักหนึ่งตัวที่คุณจ่ายมันไหว แล้วคุณใส่เชียร์ทีม ก็เป็นสิทธิ์ของคุณ ก็แค่นั้นเอง มันไม่มีการเหยียดกันว่า ใส่ของปลอม หรือใส่เสื้อจริงของแพงโดนหลอก มันอยู่ที่ความพอใจของคุณ”
สุดท้ายแล้ว เจ๊ดำก็อยากให้แฟนฟุตบอลสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ เพราะต้องไม่ลืมว่า ของลิขสิทธิ์เหล่านี้แหละ ที่จะเป็นรายได้ไหลกลับเข้าไปที่สโมสรที่คุณเชียร์
“เงินเหล่านี้แหละ ที่เอามาจ้างแรชฟอร์ด, ไอ้หมุน (อันโตนี) สัปดาห์ละ 300,000-400,000 ปอนด์ ก็เพราะเงินเหล่านี้แหละ พูดไปพูดมาขึ้นซะงั้นเลย” เจ๊ดำปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ