สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงจำนวนประชากรไทยที่มีสถานะการครองตัวเป็นโสดมีมากขึ้น พร้อมปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสด รวมถึงวิธีการสนับสนุนจากภาครัฐ หลังประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการมีลูก เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

หนึ่งในประเด็นทางสังคมไทย ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คือ สังคมไทยมีคนโสดเพิ่มขึ้น คนมีความกังวลเกี่ยวกับชีวิตคู่และเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการมีลูก เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กที่เกิดน้อยลงอยู่ ณ ปัจจุบัน

โดยนโยบายส่งเสริมการมีลูก โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อย เป็นแนวทางที่สำคัญ คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีลูก การสร้าง ความสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูลูก การเสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยให้คุณค่า “ทุกการเกิดมีความสำคัญ” และการสนับสนุนให้ผู้ที่ตัดสินใจมีลูกได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ

สถานการณ์คนโสด

รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาวะสังคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า ‘สถานการณ์คนโสด’ ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (ช่วงวัยที่มีอายุ 15-49 ปี) ระบุว่า คนโสดทั้งหมดมีถึง 40.5% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมในประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 

โดยในจำนวนดังกล่าวกว่าครึ่งอยู่ในช่วงอายุ 15-25 ปี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง และ 1 ใน 3 ส่วนมากเป็นผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 42.0 ซึ่งสูงกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว (ร้อยละ 25.7) 

นอกจากน้ีหากพิจารณาในกลุ่มคนมีคู่ ยังพบว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ร่วมกันมากขึ้น สะท้อนได้จากคนที่แต่งงานแล้ว ที่มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 57.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 52.6 และจำนวนการหย่าร้างเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.0 จากปี 2560

...

จากการรวบรวมสถิติทั้งหมด พร้อมระบุว่า สถานการณ์คนโสดของประเทศไทย มีจำนวนเท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดในปี 2566 

ทำไมคนไทยถึงยังโสด

1. ค่านิยมทางสังคม

ค่านิยมทางสังคมคนโสดในไทย ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  • SINK (Single Income, No Kids) คนโสดที่มีรายได้ดี เน้นการที่ไม่มีลูก โดยคนเหล่านี้จะใช้จ่ายความสุขให้ตนเอง เช่น อาหาร การเดินทางท่องเที่ยว 
  • PANK (Professional Aunt, No Kids) ผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ดี อาชีพการงานมั่นคง และไม่ต้องการมีลูก โดยคนเหล่านี้จะให้ความใส่ใจในการดูแลหลานและครอบครัวแทน
  • Waithood กลุ่มคนที่โสดและยังรอการมีความรัก เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจทางสังคมที่ยังไม่ดี รวมทั้งความรักที่ดีในอนาคต

2. ความต้องการและความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน

ความต้องการเหล่านี้มาจากวัฒนธรรม รสนิยม และพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น การคาดหวังของวัฒนธรรมคนเอเชียที่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ควบคู่กับการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งในยุคสมัยใหม่ที่ความคิดเปลี่ยนไป หรือความชอบ และรสนิยมที่ไม่สมดุลกัน เช่น ผู้หญิงไม่ชอบผู้ชายตัวเล็กกว่า และไม่เดตกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า รวมทั้งผู้ชายไม่มองผู้หญิงที่มีความสูงมากกว่า และไม่คุยกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง หรือมีลูกแล้ว เป็นต้น

3. โอกาสพบปะผู้คนที่น้อยลง

อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนโสดที่ทำงานมีอัตราอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าภาพรวมของประเทศที่ 42.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้เกิดการออกไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ หรือโอกาสที่จะได้พูดคุยกับคนน้อยลงมากขึ้น รวมถึงทำให้เวลาที่เหลือทั้งหมดมักจะอยู่กับตัวเอง หรือพักผ่อนเป็นหลักเสียมากกว่า

4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด

การดำเนินงานของประเทศไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่คนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ต่างประเทศมุ่งเน้นไปในการส่งเสริมการมีคู่เป็นหลัก และครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่

จากปัจจัยต่อการเป็นโสดทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า ยังมีคนโสดที่อาจอยากมีคู่ แต่กลับพบอุปสรรค และข้อจำกัดที่ยังคงทำให้ต้องเป็นโสดอยู่ ณ ปัจจุบัน

แนวทางและวิธีแก้ไขปัญหาการเป็นโสด

รายงานของสภาวะสังคมไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เผยถึงวิธีที่จะทำให้คนโสดมีจำนวนน้อยลง

1. การสนับสนุนเครื่องมือ Matching คนโสด 

กิจกรรมที่สามารถสนับสนุนให้คนโสดที่อยากมีคู่ครอง หรือมีความพร้อม มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ รวมถึงบริการและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ดึงดูดคนโสด และเข้าถึงกันได้ง่ายและปลอดภัย

2. การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน

การยกระดับตนเองในหน้าที่การงาน เพื่อความมั่นคงทางการเงิน รวมทั้งความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจในความพร้อมต่อการมีคู่ครองและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพบเจอคนใหม่ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น คอร์สการอบรบทักษะ คอร์สเสริมสร้างความรู้ใหม่ๆ 

3. การส่งเสริมให้มี Work-Life Balance 

จากสถิติชี้ให้เห็นว่า คนไทยไม่มีเวลาพบปะผู้คนใหม่ๆ และส่วนใหญ่เสียไปจากการทำงาน ดังนั้นการสนับสนุนจัดการเวลาด้านการทำงานและความสุขในชีวิตให้มี Work-Life Balance เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สนับสนุนคนเหล่านี้ให้ได้มีเวลาพบปะผู้คน หรือพบเจอคนที่ชื่นชอบในสิ่งที่สนใจมากขึ้น

...

4. การส่งเสริมกิจกรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อสังคมประเทศ แต่ยังเป็นการทำให้คนโสดเหล่านี้ได้ออกมาพบเจอกันตามกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ข้อมูล : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภาพ : istock