กองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย แบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับ วิธีรับมือ และป้องกันภัยในช่วงฤดูฝน อาจมีฝนตกหนักที่ทำให้เกิดอุทกภัยได้ทุกเมื่อ

ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ถึงกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยได้เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยเป็นช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง และมีพายุฝนที่ตกหนักเข้ามาเป็นระยะๆ จึงอยากชวนคนไทยเฝ้าระวังอุทกภัยที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

กองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลทั้ง 4 วิธี ให้กับประชาชนในการเตรียมตัว และรู้เท่าทันฟ้าฝน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ปลอดภัย และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย 

4 วิธีเตรียมความพร้อมรับภัยน้ำท่วม

วิธีที่ 1 : ติดตาม

ประชาชนควรติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ในช่องทางต่างๆ เช่น เสียงตามสาย วิทยุ โทรทัศน์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ นอกจากนี้ควรติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยารายวัน ที่จะคอยเตือนภัยของลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

วิธีที่ 2 : เตรียมพร้อม

  • ยกสิ่งของขึ้นชั้นบน หรือที่สูง
  • ศึกษา บันทึก หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
  • ศึกษา และเรียนรู้เส้นทางการอพยพไว้ล่วงหน้า
  • เมื่อเกิดอุทกภัย ควรรีบไปอยู่ในที่ปลอดภัย และใกล้บ้านที่สุด 
  • อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉิน อาหารแห้ง น้ำดื่ม
  • ยารักษาโรคประจำตัว และยาสามัญประจำบ้าน
  • หากทราบว่าตนเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ควรเตรียมกระสอบทราย เพื่อใช้อุดปิดช่องทางที่น้ำจะไหลเข้าบ้านได้ในทุกช่องทาง 
  • นำรถยนต์ และพาหนะไปจอดไว้ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง 
  • ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส และยกเบรกเกอร์ ก่อนออกจากบ้าน
  • ควรมีป้ายระบุบริเวณฟิวส์ หรือเบรกเกอร์ ว่าตัวใดควบคุมการใช้ไฟตรงจุดใดของบ้าน

...

วิธีที่ 3 : การดูแล และปฏิบัติตัว 

  • หากต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทกันน้ำ และหลังเดินลุยน้ำต้องล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง 
  • ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลาก หรือพื้นที่น้ำท่วมขัง (น้ำท่วมสูงเพียง 15 เซนติเมตร ทำให้ยานพาหนะเสียหลักล้มได้ และสูงถึง 50 เซนติเมตร ทำให้รถจักรยานยนต์ลอยได้)
  • หากพบเห็นสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ควรแจ้ง 191 หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
  • ดูแล และให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ เด็ก และคนในครอบครัว ให้รู้จักป้องกันตนเอง เช่น ขณะน้ำท่วมต้องไม่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ 
  • ควรหลีกเลี่ยง และไม่ไปอยู่ใกล้ในทางน้ำหลาก 
  • สังเกต และพึงระวังสัตว์มีพิษ กัด ต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง
  • สังเกต และระวังแก๊สรั่ว โดยไม่ควรสูบบุหรี่ ถ้าหากต้องการจุดไฟในขณะที่น้ำท่วมขัง ควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ 
  • หากน้ำท่วมสูงให้อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่
  • เมื่อน้ำลด ควรทำความสะอาดบ้าน และข้าวของทันที จะช่วยให้ขจัดคราบสกปรกได้ง่าย และคัดแยกขยะก่อนทิ้ง

วิธีที่ 4 : ป้องกัน

นอกจากการติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อการแจ้งเตือนอุทกภัยอย่างใกล้ชิดแล้ว การเตรียมความพร้อมในบ้านก็สำคัญ หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาจมีการปรับระดับพื้นที่พักอาศัยให้สูงขึ้น ป้องกันการเกิดน้ำท่วมในอนาคต หรือจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม.

ภาพ : istock