ทำความรู้จักประวัติ เรือหลวงช้าง ที่วันนี้ ในหลวงและพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิม "เรือหลวงช้าง" ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีที่มาอย่างไร
ประวัติเรือหลวงช้าง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อภาษาอังกฤษคือ “H.T.M.S. CHANG” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่างๆ ในประเทศไทย
เรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงอีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือกู้ภัยเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นภารกิจในการป้องกันประเทศ อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล และท่าเรือ ซึ่งเป็นภารกิจในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
...
เรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของราชนาวีไทย มีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย แบ่งเป็น นายทหารสัญญาบัตร 26 นาย พันจ่า 39 นาย จ่า 96 นาย และพลทหาร 35 นาย โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้
ความยาวตลอดลำ 213 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 23,000 ตัน มีห้องพักกำลังพล และ/หรือ ผู้ประสบภัย รวมกัน ได้ 650 คน ซึ่งมากกว่าเรือหลวงอ่างทอง ที่บรรทุกได้ 360 คน และหากต้องปฏิบัติการอพยพประชาชนสามารถใช้พื้นที่ในดาดฟ้าบรรทุกรถ จัดพื้นที่รับผู้ประสบภัยได้เพิ่มเติมอีกกว่า 200 คน ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เพิ่มขึ้น แต่เรือหลวงช้าง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ไม่น้อยกว่า 800 คน ซึ่งรองรับจำนวนได้มากกว่าเรือหลวงอ่างทอง
สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 23 นอต นั้นหมายถึงใน 1,500 ไมล์ของทะเลไทยนั้น เรือหลวงช้างจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยไกลสุดคือ 1,500 ไมล์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วันกว่า หรือเดินทางจากสัตหีบถึงเกาะสมุย (200 ไมล์) ใช้เวลาเดินทางเพียง 8 ชั่วโมง และเรือหลวงช้างสามารถปฏิบัติการในทะเลได้ต่อเนื่องที่ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือที่ระยะทาง 8,000 ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต และมีความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย
นอกจากนั้นแล้ว เรือหลวงช้าง มีความคงทนทะเลอยู่ที่ Sea State 9 คือ คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร แต่การปฏิบัติภารกิจในสภาวะ Sea State 9 ต้องพิจารณาความปลอดภัย ในการปฏิบัติการซึ่งมีข้อจำกัดของการปฏิบัติการของอากาศยาน และเรือเล็ก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ พายุแฮเรียต ในปี 2505 (Sea State 8) พายุโซนร้อนกำลังแรงลินดา ในปี 2540 (Sea State 9) พายุโซนร้อนปลาปึก ในปี 2562 (Sea State 8) โดยพายุที่รุนแรงที่สุดได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 มี Sea State 9 คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร
เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 56 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 20 คัน เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) 6 ลำ หรือเรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้นยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกพร้อมอุปกรณ์ได้ถึง 650 นาย
...
จะเห็นได้ว่า เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกรถยนต์ประเภทต่างๆ รวมทั้ง เรือระบายพล เรือเล็ก ซึ่งจากขีดความสามารถเหล่านี้ ทำให้พิจารณาการลำเลียงยานพาหนะที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้หลากหลาย รวมทั้งดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ที่กองทัพเรือมีได้ทุกแบบ
ขีดความสามารถทางการแพทย์ มีห้องปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 11 ห้อง เป็นห้องผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง (ห้อง X-ray ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB ห้องฆ่าเชื้อ และห้องผ่าตัด) ซึ่งสามารถรองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับ 2 บนเรือได้
กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อเรือหลวงช้างขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เดินทางไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงช้าง ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการเดินทางกลับ เรือหลวงช้างได้ประกอบกำลังเดินทางกับเรือหลวงนราธิวาส รวมทั้งทำการฝึกการปฏิบัติงานในสถานีเรือต่างๆ เพื่อให้กำลังพล และเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึง
...
ข้อมูลอ้างอิง : กองทัพเรือ