อาร์ตทอย (Art Toys) หนึ่งในของสะสม ที่ถูกนำมาผสมผสานกับงานศิลปะ และถ่ายทอดงานผ่านของเล่น ด้วยคาแรกเตอร์ต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปินคนนั้นๆ ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนเกิดมูลค่าที่มหาศาล ตามความโด่งดังของผลงานชิ้นนั้นๆ และความต้องการของตลาดนี้เกิดการนำไปต่อยอดเพื่อการลงทุนได้ด้วย
อาร์ตทอยที่มีชื่อเสียงในตลาดตอนนี้มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะคาแรกเตอร์ต่างๆ จากแบรนด์ผู้ผลิตอาร์ตทอย ชื่อดังอย่าง POP MART ที่มีมูลค่าในตลาดสูงหลายหมื่นล้าน ที่รวมผลงานอาร์ตทอยคาแรกเตอร์ดังๆ จากศิลปินในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Molly (มอลลี่), Skull Panda (สคัล แพนด้า), Hirono (ฮิโรโนะ), Dimoo (ดิมู่), Crybaby (ครายเบบี้), Labubu (ลาบูบู้), Pucky (ปั๊กกี้) และอีกมากมาย
...
ผลงานที่กล่าวมาข้างต้น เปรียบเสมือนเป็นชิ้นงานหนึ่งที่เป็นลายเซ็นจากศิลปิน ที่ได้นำผลงานไม่ว่าจะเป็นภาพวาด งานปั้น งาน3D ของตนเองไปต่อยอดไอเดีย สร้างเรื่องราว ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ให้ผลงานเหล่านี้ออกมาน่าสนใจ เพื่อให้เหล่าแฟนคลับและนักสะสมได้เก็บสะสม
รวมถึงยังมีผู้ประกอบการที่เข้ามาเซ็นสัญญากับศิลปิน ในการเป็นทีมสนับสนุน เพื่อทำการตลาด สร้างมูลค่าให้กับชิ้นงานของศิลปินเหล่านี้ให้มีค่า และแพร่ขยายไปสู่สายตาของคนทั่วโลกในมุมต่างๆ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กาชาปอง (Gashapon) ไบลนด์บ็อกซ์ (Blind Box) รวมถึงตัวลิมิเต็ด ตัวซีเคร็ต ที่อาจจะมีการจับสลากขายเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
นอกจากสินค้าที่เป็นของเล่น ของสะสมแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จำพวกพวงกุญแจ ตุ๊กตา เคสโทรศัพท์ สายชาร์จ และอีกมากมายที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และสีสันของผลงานจากศิลปินให้ได้เลือกเก็บสะสม
แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ราคาการสะสมมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น โดยราคาและมูลค่าของอาร์ตทอยชิ้นนั้น ขึ้นอยู่กับความนิยมของชิ้นงานจากตัวศิลปินเอง รวมถึงความหายากของสินค้าในจำนวนที่ผลิตอย่างจำกัด ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มูลค่าของของเล่นอาร์ตทอยนั้นสามารถขยับขึ้น-ลงได้ตลอดเวลา ทั้งหมดจึงเป็นความน่าสนใจ ที่เป็นที่ชื่นชอบของนักสะสม และเป็นกระแสให้กับนักลงทุนที่เริ่มสนใจในตลาดของเล่นเป็นอย่างมาก ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
เรื่องราวความน่าสนใจ และแรงกระเพื่อมของกระแสตลาดอาร์ตทอยในปัจจุบัน ที่นอกจากทำให้ผู้คนที่ชื่นชอบของเล่น และนักสะสมได้เริ่มหันมาสนใจกันมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลไปถึงเด็ก เยาวชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบงานศิลปะ ได้นำไอเดียไปต่อยอดจินตนาการ เพื่อสานฝันในการเป็นศิลปิน มีช่องทางในการเติบโต และเป็นผู้ที่ผลิตชิ้นงานอาร์ตทอยสู่ตลาดกันมากยิ่งขึ้น
...
สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการอาร์ตทอย (Art Toys) ณ ปัจจุบันนี้ สำหรับเหล่าศิลปินที่อยู่ในวงการมาแล้วเกือบ 8 ปี จะมีความคิดเห็น และคำแนะนำอย่างไร รวมถึงทิศทางของตลาดอาร์ตทอยเหล่านี้จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในอนาคต ทั้งหมดนี้จะถูกแบ่งปัน เพื่อแชร์เป็นแนวคิด และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในการเป็น “อาร์ติสต์”
...
บทสัมภาษณ์จากศิลปินนามว่า “Poriin” หรือ ริน ศิรินญา ปึงสุวรรณ ศิลปินผู้ออกแบบอาร์ตทอยชาวไทยกลุ่มแรกๆ ที่ได้เซ็นสัญญากับแบรนด์ผู้ผลิตของเล่นจากจีนอย่าง Fujian 1983 กับคาแรกเตอร์ Fenni สุนัขจิ้งจอกเฟนเน็คฟ็อกซ์ (Fennec Fox) สีพาสเทลแสนน่ารัก ตัวแทนของความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ
เส้นทางสู่ศิลปิน ฝันที่ Poriin ต้องไขว่คว้า
ริน ศิรินญา หรือ Poriin เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีความชื่นชอบในงานศิลปะอย่างแน่วแน่ ตั้งแต่สมัยเด็ก โดย ริน ได้เล่าให้ฟังว่า “ในช่วงที่ทำงานศิลปะแรกๆ รินไม่เคยรู้จักคำว่า อาร์ตทอยดีไซเนอร์ (Art Toys Designer) เลยด้วยซ้ำ และก็ไม่รู้ด้วยว่าอะไรคือ ศิลปะ หรือไม่ใช่ศิลปะ แต่ที่แน่ๆ เลย คือ รินเองชอบสะสมของเล่นโมเดลฟิกเกอร์ รวมถึงชอบทำงานศิลปะ โดยเฉพาะงานประดิษฐ์ทุกประเภท และแอบทำของเล่นเองด้วยบางที” ริน ตอบด้วยรอยยิ้ม
...
ความฝันที่กล่าวมานี้ ยังคงหนักแน่น ริน ศิรินญา มักจะเอาตัวเข้าไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบอย่างศิลปะตั้งแต่เล็กจนโต กลายเป็นเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองว่า งานศิลปะมีอะไรบ้าง
“การที่รินเข้าไปอยู่กับงานศิลปะประเภทต่างๆ ทำให้เราค่อยๆ ได้ศึกษา และค้นหาตนเองว่าศิลปะแบบไหนที่เราชอบจนได้มาเจอกับคำว่า ‘อาร์ตทอย’ ในที่สุด”
ริน Poriin ได้เล่าถึงเส้นทางอาชีพศิลปินว่า “จริงๆ ตัวเองไม่ได้จบสายศิลป์ หรือเรียนอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะเลย โดยรินเองจบคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เอกคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำ ในยุคนั้น เราและครอบครัวยังไม่รู้ว่ามีอาชีพอะไรบ้าง เท่ากับสมัยนี้ที่มีให้เลือกมากมาย โดยครอบครัวรินเองก็เหมือนครอบครัวทั่วๆ ไป ที่พ่อและแม่ฝันไว้ว่าอยากให้ลูกเรียนจบ แพทย์ เภสัช ทันตแพทย์”
“แน่นอนว่ารินเองชอบงานศิลปะ จึงต้องค้นหาวิธีที่สามารถอยู่ใกล้กับวงการศิลปะโดยไม่ส่งผลต่อการเรียน คณะวิทยาศาสตร์ จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับริน เพราะรินเองก็มีความสามารถด้านนี้อยู่แล้ว บวกกับการได้ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าถึงงานศิลปะรูปแบบต่างๆ จนรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น และคิดว่านี่แหละ คือ ความฝันของริน”
ตกหลุมรักศิลปะที่ชื่อว่า 'อาร์ตทอย' ตั้งแต่แรกเจอ
“การได้พบกับงานศิลปะที่ชื่อ ‘อาร์ตทอย’ เป็นอะไรที่ว้าวมากๆ แน่นอนอย่างที่เล่าไปว่า เรามีช่วงที่ค้นหาตัวเอง และหางานศิลปะที่ตัวเองชื่นชอบอย่างแท้จริง ในช่วงปี 3 ของมหาวิทยาลัย รินเองได้ไปเดินเจอกับงานนิทรรศการศิลปะที่พารากอน ซึ่งในนิทรรศการนั้นมีโชว์ผลงาน Sculpture (ประติมากรรม) ที่มาในรูปแบบของเล่น ที่ดึงดูดสายตา ซึ่งจำได้ว่าได้เข้าไปดูงานอยู่นานมาก นอกจากนี้ การที่เราได้ไปยังสถานที่งานนิทรรศการต่างๆ ทำให้เราได้รู้จักกับศิลปินมากมายที่คอยให้ความรู้ และแรงบันดาลใจอย่างท่วมท้น”
“แน่นอนว่าหลังจากได้เห็นงานในวันนั้น ทำให้รินได้เปิดโลกตัวเองมาก และเป็นสิ่งใหม่ในสมัยนั้นว่างานแบบนี้ก็ทำเป็นอาชีพได้ แล้วทำไมตัวรินเองจะทำบ้างไม่ได้ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รินนั้นได้ศึกษา เสพงานอาร์ตทอย จนในที่สุดก็ได้เริ่มงานอาร์ตทอยของตัวเองขึ้นมา” เจ้าของผลงานอาร์ตทอย คาแรกเตอร์ Fenni กล่าว
คอนเซปต์งานอาร์ตทอย ลายเซ็นของ Poriin (ริน ศิรินญา)
ปัจจุบันได้มีผลงานอาร์ตทอยในนาม Poriin ทั้งหมด 10 ชิ้นงาน ประกอบด้วย Tobi, Fenni, Fenie, Hyde, Nita&Dov, LongLai, LongRak, Nein Cat, Fatni และ Yoppi ทุกตัวจะมีเอกลักษณ์ที่เป็นลายเซ็น คือ ความไม่สมบูรณ์แบบ โดยตัวคาแรคเตอร์ที่สร้างชื่อที่สุด คือ Fenni (เฟนเน่) ซึ่งเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ที่มีความหมายลึกซึ้ง
ริน Poriin เล่าถึงไอเดียนี้ว่า “ในสมัยเด็กๆ รินไม่ค่อยมีเพื่อน เราก็รู้สึกว่ามีแต่ตุ๊กตาที่เป็นเพื่อนเรา และเชื่อว่าต้องมีคนที่เป็นเหมือนกับเราอย่างแน่นอน เราเลยอยากสร้างคาแรกเตอร์อาร์ตทอยสักตัวขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนของ เพื่อน ที่ไม่เคยทิ้งเราไปไหน ไม่ว่าตัวเราจะดี จะร้าย หรือเป็นอย่างไรก็ตาม”
“เราจึงพยายามหาสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะในการถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้ได้จึงได้ค้นพบกับ เฟนเน็คฟ็อกซ์ (Fennec Fox) สุนัขจิ้งจอกที่มีคู่ครองตัวเดียวไปตลอดชีวิต เราจึงอยากให้น้องเฟนเน็คฟ็อกซ์ตัวนี้เป็นตัวแทนของเพื่อนที่จะอยู่กับคุณตรงนี้ไม่ไปไหน แม้ว่าคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม ‘Fenni (เฟนเน่)’ จึงเป็นตัวแทนของเพื่อนที่ว่าดังกล่าว”
นอกจากนี้แล้วดีไซน์ที่สำคัญเปรียบเสมือนนามปากกาของ Poriin เองที่ใส่มาในทุกตัวละคร คือ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ หรือ Wabi-Sabi โดยแต่ละคาแรกเตอร์ จะมีรอยบาดแผลซ่อนอยู่ ริน Poliin ได้สื่อความว่า ความไม่สมบูรณ์แบบนี้ไว้ว่า
“ทุกคนมีความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเอง ทุกคนมีบาดแผล แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะผ่านเรื่องราวอะไรมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้โลกสวยงามเสมอ เพราะความไม่สมบูรณ์อันนี้จะทำให้เราเติบโต และสามารถใช้ชีวิตต่อไปบนโลกนี้ได้อย่างมีความสุขที่สุด มีความรักที่ดีได้ รวมทั้งยังทำให้เราเติบโตไปอย่างมีประสบการณ์ และมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
เส้นทางของศิลปะที่เรียกว่า “อาร์ตทอย”
แน่นอนว่าในอดีตคำว่า ‘อาร์ตทอย’ หรือแม้แต่กระทั่งอาชีพที่ชื่อว่า ‘อาร์ตทอยดีไซเนอร์’ ก็ยังไม่มีคนรู้จัก ริน เล่าว่า “7-8 ปีที่แล้ว เวลารินไปท่องเที่ยว หรือไปตามคาเฟ่ต่างๆ ก็มักจะพกของเล่นที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าอาร์ตทอย ติดมือไปถ่ายรูปด้วยเป็นประจำ คนรอบๆ ก็จะมองว่าของชิ้นนี้มันคืออะไร ฟิกเกอร์ของเล่นทั่วไป หรือลูกเทพหรือเปล่า” คำตอบเคล้าเสียงหัวเราะ
กลับกันในปัจจุบัน ทำให้เห็นถึงกระแส และพลังของความนิยมอาร์ตทอยที่มีมากขึ้นหลายเท่าตัว คนเข้ามาในวงการ เริ่มสะสม แล้วเข้าใจงานศิลปะมากขึ้น หรือแม้แต่กระทั่งเข้ามาทำธุรกิจ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับศิลปินได้อย่างมหาศาล
งานอาร์ตทอยกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน บางชิ้นงานเป็นที่รู้จัก และมีนักสะสมอยู่มาก ทางทีมงานจึงสอบถามถึงว่า อาร์ตทอย นั้นมีสูตรสำเร็จที่ทำให้ชิ้นงาน หรือคาแรกเตอร์นั้นๆ ประสบความสำเร็จหรือเปล่า ทาง Poriin เจ้าของงาน Fenni ได้ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า
“จริงๆ แล้วเรื่องความชอบ หรือความนิยมของชิ้นงานนั้นๆ มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เนื่องจากมันคือหนึ่งในชิ้นงานศิลปะ ก็จะขึ้นอยู่กับรสนิยม หรือความชอบของผู้สะสม และผู้ผลิตมากกว่า บางครั้งงานที่เราทำออกไปอาจจะไม่โดนใจลูกค้ากลุ่มนึง แต่อาจจะโดนใจลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้”
“อ่อ อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องราว หรือคอนเซ็ปต์ของชิ้นงานที่อาจจะไปทำให้ผู้สะสมนั้นเกิดความประทับใจก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้ชิ้นงานนั้นๆ ประสบผลสำเร็จ หรือเป็นที่โด่งดังได้เช่นกัน” ริน กล่าว
ผลงานอาร์ตทอยสุดประทับใจในมุมของ ริน Poriin
สูตรสำเร็จของงานศิลปะด้านความชอบไม่มีถูก ไม่มีผิด และไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับรสนิยม มุมมอง และผลงาน ทางทีมไทยรัฐจึงสอบถามถึงไปยัง ริน ศิรินญา ในฐานะอาร์ตทอยดีไซเนอร์ว่ามีผลงานอาร์ตทอยคาแรกเตอร์ไหน ของศิลปินท่านใดที่รู้สึกชอบ และประทับใจมากที่สุด Poriin เอ่ยคำตอบ อย่างไม่ลังเลด้วยรอยยิ้มสุดประทับใจ
“ตัวแรกที่ทางรินเองเริ่มเก็บนั่นก็ คือ ‘Molly (มอลลี่)’ จาก Kenny Wong เป็นศิลปินผู้ออกแบบ ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่รินไปประเทศจีน และไปเจอกับป้ายหนึ่งที่เขียนถึงวันครบรอบ 10 ปีของ Molly ซึ่งตรงกับช่วงเวลาแรกๆ ที่รินเริ่มรู้จัก และสร้างผลงานอาร์ตทอย และก็แบบ ว้าว… เขาทำมา 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีคนรู้จักอาร์ตทอยด้วยซ้ำ เขาทำมันขึ้นมาได้ยังไง เอาความมั่นใจจากไหนในการทำอาชีพศิลปะที่เป็นอาร์ตทอยดีไซเนอร์ เราเริ่มรู้สึกว่านี่คือจุดเปิดในชีวิตที่เราว้าวมากๆ เลยทำให้เรามุ่งมั่นในเส้นทางสายนี้มากขึ้น”
กระแสลาบูบู้ (Labubu) ที่เข้มข้นอยู่ในวงการอาร์ตทอย
การที่ ริน Poriin เองพูดถึงมอลลี่ ทางทีมไทยรัฐออนไลน์เอง ก็อดที่จะพูดคุยกับเรื่องกระแสความนิยมในปัจจุบันของลาบูบู้ (Labubu) จากค่าย POP MART ซึ่งเป็นผลงานจากศิลปินที่เซ็นสัญญาในค่ายเดียวกันไม่ได้
ทางทีมจึงสอบถามไปยัง ริน Poriin ถึงปรากฏการณ์ในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นมา นอกเหนือจากคำว่ากระแสแล้ว ในฐานะอาร์ตทอยดีไซเนอร์เองมองเห็นความพิเศษด้านไหนอีกบ้างที่ทำให้ ลาบูบู้ นั้นประสบความสำเร็จ
“แน่นอนว่าการที่ ลิซ่า โพสต์ถึงที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้น้องกลับมาอยู่จุดสูงสุดของตลาดอีกครั้ง ริน ดูกระแสลาบูบู้มาตลอดตั้งแต่สมัยที่เราเริ่มเก็บงานอาร์ตทอยใหม่ๆ มันมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงเป็นระยะๆ แต่รินมองว่าเป็นเพราะ ค่าย POP MART ทำการตลาดมาดี มีการตีตลาดในหลายๆ ประเทศ ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักสะสมอาร์ตทอยเริ่มรู้จักผลงานศิลปะนี้มากขึ้น เห็นของเล่น เห็นกล่องสุ่มมากขึ้น และเข้ามาในวงการกันมากขึ้น เพราะก่อนหน้าที่ลิซ่าจะมาโพสต์ก็มีการรีเซล และอัพราคากันเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่สูงมาก แต่หลังจากโพสต์ก็ตามราคาที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งกระโดดไปไกลมาก” ริน กล่าว
นอกจากนี้ ริน มองว่า “ลูกเล่นของโปรดักซ์ที่นอกจากจะเป็นงานฟิกเกอร์แล้ว การทำให้น้องลาบูบู้เป็นตุ๊กตาที่สามารถแต่งตัวได้ นำมาห้อยกระเป๋า ขยับได้ เติมแต่งความคิด และดีไซน์ของตัวเองเข้าไปได้นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนสนใจ และกลับมาชื่นชอบลาบูบู้ก็เป็นไปได้เช่นกัน”
ความนิยม กระแส และการรีเซล ส่งผลอย่างไรกับดีไซเนอร์อาร์ตทอย
การเข้ามาของ POP MART รวมถึงค่านิยมของคนในตลาดอาร์ตทอย และกระแสลาบูบู้ในปัจจุบัน มุมมองของอาร์ตทอยดีไซเนอร์อย่าง ริน ศิรินญา หรือ Poriin มองผลกระทบของเรื่องนี้ไปในทิศทางใดบ้าง
ริน เล่าว่า “การเข้ามาทำตลาดของอาร์ตทอยจีน กระแสความนิยม การเข้ามาเพื่อการตลาดของกลุ่มคน กระแสเหล่านี้ ริน เห็นมาในทุกยุคและทุกๆ ปี ตั้งแต่เข้าในวงการ และเริ่มมาทำงาน แต่ว่ายุคที่เราเริ่มทำ คนยังไม่ได้รู้จักเป็นวงกว้างเหมือนตอนนี้ เขาเลยยังไม่ได้เห็นการแย่งชิง การเก็งกำไร และรีเซลที่มีมูลค่ามหาศาลจนเป็นกระแสเท่าปัจจุบัน”
ริน คิดว่า “ตลาดมันเพิ่งจะเปิดกว้าง คนกลุ่มอื่นๆ เพิ่งจะเขามาเห็นมูลค่า ณ จุดๆ นี้ ก็เลยเห็นตรงนี้เป็นประเด็นมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งก็ทำให้คนเห็นงานอาร์ตทอยของศิลปินไทยมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้น ตลาดกลับมาคึกคัก มีศิลปินคนไทยหน้าใหม่หันมาสนใจทำงานอาร์ต คนนอกวงการเข้าใจในงานศิลปะมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีส่วนที่ดีในจุดๆ นี้ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังหลายฝ่าย ถือเป็นมุมที่ดีของวงการศิลปะ”
กลับกันถ้าถามว่า อาร์ติสต์ รู้สึกอย่างไรกับการรีเซล “มุมที่ดีอย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือเป็นการทำให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่มันส่งผลเสียต่อผู้บริโภคที่ชื่นชอบในงานศิลปะจริงๆ อาจจะต้องจ่ายเงินค่างานศิลปะในราคาที่แพงขึ้น และจำนวนเม็ดเงินที่มากขึ้นตรงนั้น มันไม่ได้ส่งผลให้ตัวอาร์ติสต์เติบโต” Poriin กล่าว
ความสำเร็จสูงสุดของอาชีพอาร์ตทอยดีไซเนอร์
ถ้ามองถึงคำว่าอาร์ตทอยดีไซเนอร์เป็นอาชีพ ซึ่งก็เปรียบเสมือนนักศิลปะ หรือศิลปินคนหนึ่ง การได้เซ็นสัญญากับค่ายผลิตอาร์ตทอย การสร้างงานศิลปะชื่อดัง การได้ทำ Mass Production มีรายได้สูง หรือการทำงานที่ตนเองรักอย่างสบายใจอะไรที่เป็นตัวชี้วัด และเป็นจุดสูงสุดของอาชีพนี้
ริน ศิรินญา ตอบโดยไม่ลังเลว่า “จริงๆ แล้วความฝันของศิลปินอย่างเราๆ โดยส่วนใหญ่ คือ การให้ผลงานเราเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากกว่า ซึ่งผลงานมันจะนิยม (Mass) หรือไม่นิยมมันอาจจะไม่ใช่คำตอบซะทีเดียว แต่ความนิยมก็มีส่วนทำให้คนทั่วไปรู้จัก และจับต้องผลงานเราได้ง่ายมากยิ่งขึ้น”
“แต่ถ้าถามถึงความฝันสูงสุดในมุมมองของตัวรินเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน” รินตอบด้วยเสียงหัวเราะ และกล่าวเสริมว่า “จริงๆ แล้วความฝันสูงสุดของริน คือ การทำเป้าหมายในแต่ละปีให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เช่น ปีนี้เราอยากเริ่มเปิดตลาดได้ ปีต่อไปเราอยากขายงานในต่างประเทศอะไรประมาณนี้ ซึ่งปีนี้รินอยากจะให้ Fenni นั้นขยายตลาดสู่ประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้น” ริน ศิรินญา ตอบพร้อมแก้มที่เปื้อนรอยยิ้ม
แน่นอนว่าตลาดอาร์ตทอยในปัจจุบันกำลังเติบโตไปอย่างมาก จนมีศิลปินที่เข้ามาในวงการอย่างมากหน้าหลายตาทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งเด็กๆ รุ่นใหม่ ที่มีความใฝ่ฝันในการทำงานศิลปะไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ทีมไทยรัฐออนไลน์ อยากให้ ริน ศิรินญา หรือว่า Poriin หนึ่งในศิลปินที่มีประสบการณ์ได้แนะแนวคนที่มีความใฝ่ฝันเดียวกัน ว่าควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
“คำตอบง่ายๆ จากรินเลย คือ ถ้าคุณฝันอะไร และอยากจะประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาชีพศิลปินก็ได้ คุณควรเริ่ม และทดลองทำให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องรอใครทั้งนั้น แต่ถ้าในส่วนของการเป็นศิลปิน ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณได้เริ่มลงมือทำงาน คุณจะเริ่มรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณเองว่าชื่นชอบในงานศิลปะแบบใด มีตัวตนแบบไหน แล้วภาพจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
“ส่วนเทคนิคต่างๆ นั้น ยิ่งในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน ทุกช่องทางแทบจะมีแนวทาง ข้อปฏิบัติให้ได้เรียนรู้บนโลกออนไลน์อยู่มากมาย ซึ่งง่ายกว่าสมัยก่อนมากๆ คุณแค่ลองทำดูก่อน หาข้อมูล หรืออาจจะลองทักหาริน หรือศิลปินท่านอื่นๆ ทุกคนก็พร้อมที่จะแนะนำและสนับสนุนอย่างเต็มที่แน่นอน” ริน Poriin กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย