ประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMO เมื่อหลายปีก่อน เพื่อตั้งใจทุ่มเทปลูกฝังรสนิยมด้านศิลปะให้เฟื่องฟูในสังคมไทย พร้อมสนับสนุนศิลปะไทยก้าวไกลสู่เวทีโลก ล่าสุด เจ้าพ่ออีเวนต์พันล้าน “จก-เสริมคุณ คุณาวงศ์” ลุกขึ้นมาเปิด “บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์” บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร ภายในซอยลาดพร้าว 54 เพื่อเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะไทยหลากหลายแขนงที่สุดมากกว่า 1,000 ชิ้น มีครบทั้งภาพเขียน, ประติมากรรม, ศิลปะตกแต่ง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์หายาก โดยนำมาจัดแสดงแบบมีชีวิตชีวา ทั้งด้านนอกอาคารและในอาคาร สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของศิลปะไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
...
“ตลอดระยะเวลากว่า 32 ปี ที่ได้สะสมผลงานศิลปะ ทั้งหมดเกิดจากแพชชัน, ความรัก, ความหลงใหลในความงามของศิลปะอย่างแท้จริง ซึ่งผลงานที่สะสมล้วนเป็นผลงานทรงคุณค่าจากศิลปินที่มีความโดดเด่น ผมสะสมไปตามรสนิยมส่วนตัว เรียบเรียงตามช่วงเวลาของงานศิลปะยุคโบราณจนถึงศิลปะร่วมสมัย โดยบ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์เป็นโครงการต่อเนื่องจากศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ซึ่งเปิดทำการเมื่อปี 2547 และได้หยุดดำเนินการในปี 2565 ผมได้นำคอลเลกชันทั้งหมดจากศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ มารวมกันที่บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ ใช้เวลาดำเนินโครงการและก่อสร้างมากกว่า 8 ปี คาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรวมผลงานสะสมที่จะสืบต่อถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะไทยที่มีชีวิตชีวาต่อไป โดยเป็นเจ้าของร่วมกันกับลูกสาวทั้ง 2 คน คือ เหมือนฝัน และวาดฝัน”...ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ถ่ายทอดความในใจ
“คุณจก-เสริมคุณ” ยังบอกเล่าอีกว่า “การเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งของ “บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์” เกิดจากความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์และสุนทรียภาพในการใช้ชีวิตกับศิลปะให้ผู้อื่น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีการขยายพื้นที่และสร้างอาคารเพิ่มเติมสำหรับจัดแสดงผลงานสะสมส่วนตัวรวมกว่า 1,000 ชิ้น บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร แต่ละโซนลุ่มลึกไปด้วยแนวคิดและลักษณะศิลปะที่มีความชัดเจน เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่ให้ความรู้, ความเพลิดเพลิน และเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะด้วย”
...
เมื่อถามว่าชีวิตนี้ภูมิใจกับอะไรที่สุด ได้คำตอบว่า “ในมุมมองของผม การลงทุนในศิลปะไม่มีกำไรหรอก แต่ผมทำเพราะแพชชันมากกว่า ผมคิดว่ามันเป็นพรหมลิขิตที่ทำให้ผมต้องมาเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ มาเก็บกอบงานศิลปะในอดีตรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ผมเชื่อว่าเมื่อรวยแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว เราทุกคนควรช่วยกันปลูกฝังรสนิยมศิลปะให้สังคมไทย หุ้นในกลุ่ม SET 50 ควรสนับสนุนศิลปะให้ครบทุกบริษัทและกระทรวงศึกษาฯควรให้ความสำคัญกับรสนิยมด้านศิลปะ ถึงวันนี้เมืองไทยมี “ครีเอทีฟ อีโคโนมี” ไม่ได้หรอก ถ้าเด็กไทยยังไม่มีรสนิยมด้านศิลปะ ผมเชื่อว่ารสนิยมจะสร้างประเทศ สร้างเศรษฐกิจ และสร้างคนรุ่นต่อไป อย่ามาอ้างข้าวไม่มีกิน อาร์ตยังไม่ต้องทำ”
...
ทั้งนี้ “บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์” ก่อตั้งขึ้น เพื่อส่งผ่านแรงบันดาลใจในงานศิลปะหลากหลายแขนง ตั้งแต่งานศิลปะที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน, ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยยุคบุกเบิก ไปจนถึงงานประติมากรรมหลากหลายของไทย ไม่ว่าจะเป็น หุ่นประเภทต่างๆ, เครื่องสวมศีรษะ, เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์, งานฝีมือแบบไทย, โบราณวัตถุ, จิตรกรรมจากไทยประเพณีสู่งานสมัยใหม่, งานประติมากรรมไทย, เฟอร์นิเจอร์สมัยต่างๆ ทั้งไทยและยุโรป โดยครอบคลุมผลงานหลากหลายเทคนิค ผ่านประวัติศาสตร์ต่างช่วงเวลา ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่าและผ่านการคัดสรร มีผลงานศิลปะจัดแสดงรวมกว่า 1,000 ชิ้น บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร จัดแสดงทั้งด้านนอกอาคารและในอาคาร โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มี 19 โซนย่อย แต่ละโซนก็มีเอกลักษณ์น่าทึ่งต่างกัน
...
CUBIC BUILDING (อาคารคิวบิค) อาคารอเนกประสงค์ 5 ชั้น ประกอบด้วย 7 โซนจัดแสดงสำคัญ โดยไฮไลต์อยู่ที่ “ห้องครุฑ” (Grand Garuda Room) ห้องรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการ ภายในห้องจัดแสดงครุฑ ผลงานของ “อ.ศิลป์ พีระศรี” และลูกศิษย์ ตั้งโดดเด่นน่าเกรงขาม รายล้อมด้วยเสาไม้แกะสลักทรงกลมผลงานศิลปะของ “ถวัลย์ ดัชนี” ลวดลายต่างกันถึง 8 ต้น, “ห้องพาเลอร์” (The Parlour) ห้องรับรองแขกสไตล์โมเดิร์น โดดเด่นด้วยผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นเยี่ยม เช่น ชลูด นิ่มเสมอ, อวบ สาณะเสน, สวัสดิ์ ตันติสุข, ชำเรือง วิเชียรเขต รวมถึงคอลเลกชันผลงานสำคัญของปรีชา เถาทอง จากปี 2558 จนถึงปัจจุบัน, “ห้องทำงาน” (The Study Room) ห้องทำงานส่วนตัวสไตล์วิกตอเรียน ภายในจัดวางผลงานศิลปะมากมาย เช่น ประติมากรรมของ อ.ศิลป์ พีระศรี, เขียน ยิ้มศิริ, ผลงานจิตรกรรมของ วสันต์ สิทธิเขตต์ รวมถึงคอลเลกชันประติมากรรมและจิตรกรรมของศิลปิน Cubism คนสำคัญของเอเชีย สมโภชน์ อุปอินทร์ และ “คชาเลานจ์” (Kacha Lounge) ห้องฟังเพลงและจัดปาร์ตี้สังสรรค์ภายในบ้าน จุดเด่นอยู่ที่การจัดวางประติมากรรม “คชา” เป็นประธานกลางห้อง รายล้อมด้วยผลงานศิลปะสไตล์เซอร์เรียลลิสต์จากหลากหลายศิลปินต่างยุคต่างเชื้อชาติ รวมถึงผลงานสะสมของ “ช่วง มูลพินิจ” กว่า 10 ชิ้น
THE RESIDENCE (เดอะ เรสซิเดนซ์) ส่วนของบ้านพักอาศัย อาคาร 3 ชั้น ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวคุณาวงศ์ในปัจจุบัน ภายในบ้านจัดแสดงผลงานศิลปะ ตั้งแต่โบราณวัตถุ, ศิลปะไทยประเพณี, ศิลปะร่วมสมัย, ประติมากรรม, เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากหลายยุคหลากเชื้อชาติ แบ่งเป็นโซนย่อย 11 โซน อาทิ โถงบทสนทนาของยุคสมัย, ห้องมรดกไทย, ห้องอ่านหนังสือ, ห้องรุ่งอรุณของศิลปะไทย, โถงบันไดพอร์ตเทรต, ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต, ห้องนั่งสมาธิ, โถงพุทธศิลป์, เพนท์เฮาส์ศิลปะนามธรรม, บันไดลับศิลปะ และสวนเขียน ยิ้มศิริ
THE GARDEN OF LIFE (สวนแห่งชีวิต) จัดแสดงผลงานประติมากรรมบริเวณสวนด้านหน้าบ้านพิพิธภัณฑ์ มุ่งสะท้อนให้เห็นแนวความคิดของพุทธศาสนา ธรรมะ ธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม
นอกจากนี้ ภายในบ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ ยังมีโซนน่าสนใจอีกมาก และจัดแสดงผลงานของศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์ อาทิ ก้องกาน, ครูปาน-สมนึก คลังนอก, ครูโต-ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, พัดยศ พุทธเจริญ, อินสนธิ์ วงศ์สาม, ยุรี เกนสาคู, เนียม มะวรคนอง, กมล ทัศนาญชลี, ไมเคิล เชาวนาศัย, มด-นิสา ศรีคำดี, พิณรี สันพิทักษ์ และ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ตลอดจนงานจัดแสดงศิลปะเครื่องเคลือบสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์, พระพุทธรูป, ตู้พระ, ชฎานาง, รัดเกล้าเปลว และหีบพระธรรมคัมภีร์สมัยรัชกาลที่ 4 รวมถึง “ในตู้หุ่น” จัดแสดงผลงานหลากหลายประเภท ทั้งหุ่นและศีรษะโขน ตลอดจนงานฝีมือชั้นครูจากหลากสำนัก
ร่วมชื่นชมและภาคภูมิใจไปกับอารยธรรมของไทย ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่ควรเก็บรักษาให้ลูกหลาน เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในวันที่ 4 พ.ค. 2567 จองผ่านเว็บไซต์ https://www.zipeventapp.com/ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ 06-1626-4241, e-mail : reservation@kunawonghouse useum.com และ Line Official : https://lin.ee/Tpr9qZK บ้านพิพิธภัณฑ์ฯเปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30-18.00 น. โดยมีค่าสนับสนุน 450 บาท และผู้เข้าเยี่ยมชมต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่