การเล่นน้ำสงกรานต์ อาจเป็นพาหะนำพามาซึ่งโรคต่างๆ ได้ง่ายดาย ที่ส่งผลได้ทั้งภายใน และภายนอกร่างกาย ซึ่งมีผลมาจากความสะอาด สภาพอากาศ โดยน้ำยังเป็นพาหะที่นำพาเชื้อโรคได้ง่ายกว่าปกติ
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับ ‘วันสงกรานต์ 2567’ หลายคนคงสนุก และตื่นเต้นกับการเล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงวันไหลสงกรานต์ 2567 ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกเป็นสัปดาห์ต่อจากนี้
การเล่นน้ำสงกรานต์ สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้อยู่เช่นกัน ซึ่งเกิดได้หลากหลายสาเหตุทั้งภายนอกร่างกาย และภายในร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความสะอาดของน้ำ สภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย เชื้อโรค และแบคทีเรียที่ซ่อนมากับน้ำ
สิ่งที่ผู้ร่วมงานเทศกาลควรต้องระวังในการออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตที่มักจะเกิดขึ้น หลังจากการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยที่ผู้เล่นน้ำสงกรานต์ต้องระวัง
โรคยอดฮิตที่เกิดขึ้นหลังวันสงกรานต์
- โรคเชื้อรา (เชื้อราที่ผิวหนัง)
...
หนึ่งในโรคที่เกิดจากน้ำในการเป็นพาหะ และนำมาซึ่งการติดเชื้อ รวมทั้งความอับชื้นจากเสื้อผ้าที่เปียกน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยหลังจากวันสงกรานต์
อาการของโรคเชื้อรา จะทำให้ผู้ติดเชื้อ มีอาการคันบริเวณที่ติดเชื้อ เกิดผื่นแดง และแผลพุพองได้โดยจะมาในรูปแบบขุยสีขาว และก่อให้เกิดกลากขึ้นตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น มือ เท้า เล็บ หรือบนหัว และสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นทั้งคน และสัตว์เลี้ยงได้
วิธีการรักษา และป้องกัน : การรักษาโรคเชื้อรา สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา มีทั้งชนิดทา และชนิดกิน หากต้องการป้องกัน หลังจากเล่นน้ำสงกรานต์เสร็จให้รีบทำการทาครีม เพื่อป้องกันผิวแห้ง หากมีอาการคัน และผื่นหลังจากเล่นน้ำเสร็จ สามารถกินยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเกา รวมถึงการใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้สะดวก
- ไข้หวัด
ไข้หวัด เป็นหนึ่งในโรคติดต่อยอดนิยมจากวันสงกรานต์ สาเหตุมาจากความร้อน และความชื้นของอากาศ ยังรวมไปถึงการเบียดเสียด และการรวมตัวของผู้คนมากมายที่ออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมถึงน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในพาหะสำคัญในการส่งต่อโรคไข้หวัดนี้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดโรคโคโรน่า หรือ โรคโควิด-19 ที่ยังควรต้องเฝ้าระวังในช่วงเทศกาลนี้อีกด้วย
โดยอาการจะมีมากมายหลายรูปแบบไม่ว่างจะเป็นการเจ็บคอ มีเสมหะ เกิดน้ำมูกไหล รวมไปถึงอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก พร้อมทั้งอาจมีไข้ร่วมด้วย ที่สำคัญหากมีอาการเหล่านี้ให้ตรวจโรคโควิด-19 ร่วมด้วย
วิธีการรักษา และป้องกัน : แม้ว่าไข้หวัด กับการเล่นน้ำสงกรานต์อาจจะป้องกันได้ยาก แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการควรเล่นน้ำในสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่เบียดเสียดจนเกินไป หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด และให้อุปกรณ์ส่วนตัว อย่างไรก็ดีหากเกิดอาการให้มีการกักตัว พร้อมพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และรับประทานยารักษาตามอาการตามแพทย์กำหนด
- โรคภูมิแพ้
อาการภูมิแพ้หลังจากเล่นน้ำอาจมีหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นแพ้น้ำสงกรานต์ที่เล่น แพ้แป้ง หรือแพ้ความอับชื้น และสิ่งสกปรกจากอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถคาดเดาได้หลากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตามมักจะมาพร้อมกับอาการคัน เกิดผื่นพุพอง แดง บวม บางครั้งอาจตุ่มน้ำใสเล็กๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้
วิธีการรักษา และป้องกัน : เบื้องต้นหลังจากเล่นน้ำสงกรานต์เสร็จ ควรทำความสะอาดร่างกายทันทีเป็นอย่างแรก ให้ใช้ครีมอาบน้ำขัดถูตามผิวหลายๆ รอบจนแน่ใจว่าสะอาด จึงทาครีมสูตรอ่อนโยนเพื่อปกป้องผิวอีกหนึ่งชั้น นอกจากนี้หากเกิดอาการคัน ผื่น และแพ้ขึ้นมาสามารถ ทานยาแก้แพ้ ตามคำแนะนำจากแพทย์ และร้านขายยาพร้อมยาทารักษาร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเกาเพื่อไม่ให้เกิดการลุกลาม
...
- ผิวหนังไหม้แดด
ช่วงอากาศที่ร้อนของประเทศไทย ซึ่งมักจะตรงกับวันสงกรานต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างการเล่นน้ำสงกรานต์ อาจทำให้แดดสามารถเลียผิวให้เกิดการไหม้แดดได้อย่างไม่รู้ตัว
ทั้งหมดอาจทำให้ผิวเกิดอาการแห้ง และแดง มีอาการแสบร้อน ผิวลอก อักเสบร่วม และบางรายอาจมีตุ่มพุพอง และไข้ร่วมด้วยได้
วิธีการรักษา และป้องกัน : ให้เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดร้อนจัด หรือควรทาครีมกันแดดก่อนออกไปทำกิจกรรมสามารถช่วยบรรเทาอาการ และไม่เกิดผิวหนังไหม้แดดได้ หรือหากผู้ใดมีอาการผิวไหม้แดดสามารถรักษาได้ด้วยการทาครีมว่านหางจระเข้ หรือครีมสูตรอ่อนโยนที่รักษาอาการผิวไหม้แดดโดยตรง รวมถึงการประคบเย็น และทานยาตามที่แพทย์แนะนำได้
...
- ฮีตสโตรก (โรคลมแดด)
ฮีตสโตรก หรือโรคลมแดด เกิดจากภาวะที่ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเหล่านี้ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด การออกกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเช่น วันสงกรานต์ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งโรคนี้อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดฮีตสโตรกเกิดจากการอยู่อุณหภูมิอากาศที่สูงเกินไป ใส่เสื้อผ้าหนาและไม่สามารถระบายอากาศได้ดี รวมถึงการออกกำลังกาย และกิจกรรมกลางแจ้งอย่างหนักและต่อเนื่องทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน โดยจะมีอาการหน้ามืด ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ มีอาการชักเกร็ง เป็นลมหมดสติ ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ เหงื่อออกมาก หรือไม่มีเหงื่อออก อุณหภูมิร่างกายสูง ไข้ขึ้น เป็นต้น
วิธีการรักษา และป้องกัน : การหลีกเลี่ยงโรคฮีตสโตรก นอกจากการงดกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดร้อนจัดแล้ว การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากเกิดอาการฮีตสโตรก ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการพาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง โดยให้น้ำเย็น หรือน้ำอุณหภูมิปกติเช็ดตัว พร้อมทั้งปลดเสื้อผ้า และส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
ข้อมูล : agnoshealth
ภาพ : istock