ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 35 ปี ในฐานะ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ไม่เพียงได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบของข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต และมีความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่ยังเลื่องลือในความเป็นนักปาฐกถา ที่มีวาทศิลป์ในการเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน แฝงอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยอรรถรส สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย จับจิตจับใจผู้ฟังทุกระดับ

หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” คือผลงานล่าสุดที่ถ่ายทอดบทเรียนชีวิตและแง่คิดคมๆของ “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่โลดแล่นในยุทธจักร แม้ปีนี้จะอายุล่วงเลยถึง 84 ปี แต่ก็ยังมุ่งมั่นทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอ และใช้ชีวิตได้อย่างน่าเคารพยกย่อง สมกับเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมไทย

“84 ปี หรือ 7 รอบนักษัตร ต้องถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรทีเดียว สำหรับชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปดู มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ตื่นเต้นโลดโผน ไม่ได้สงบราบเรียบ บางเหตุการณ์ที่นำมาเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อหวังใจว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ได้ใช้เป็นบทเรียนลัดที่สรุปชีวิตผมตลอด 84 ปี

...ชีวิตผมตั้งแต่แรกเกิดจนวัยนี้ คือการได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ บทเรียนชีวิตมีแต่เพิ่มพูนขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใด ฐานะใด ประสบการณ์สะสมเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ยิ่งเราดำรงชีวิตโดยครองสติตลอดเวลา ยิ่งเก็บเกี่ยวบทเรียนได้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นประโยชน์มากเท่านั้น

...อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่าชีวิตเป็นสนามรบด้วยเช่นกัน คนเราตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาก็ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อสู้เพื่อดำรงสังขาร ต้องแก้ไขปัญหาร้อยแปดพันประการ ไม่ว่าระหว่างรับราชการ หรือชีวิตส่วนตัว ต้องต่อสู้กับกามกิเลสต่างๆอย่างไม่ลดละ บางครั้งต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน

...

...อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชีวิตจะพลิกผัน หรือมีเส้นทางเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือเรื่องดวง ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีดวงชะตาของตัวเอง เหมือนชื่อหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ผมมีชีวิตการศึกษาในวัยเด็กกระท่อนกระแท่น พ่อแม่แยกทางกัน เติบโตมาก็ต้องไปเป็นนักเรียนนอก ที่ไม่ได้สุขสบายเลย ต้องระหกระเหินลำบากยากเข็ญ หนีภัยท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้ารับราชการ อยู่ๆก็ได้ไปวางแผนรับมือสงคราม และปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทุกขณะ

...สิ่งเหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับไปล้วนทำให้เราได้รับประสบการณ์กว้างขวาง ที่น้อยคนจะมีโอกาส แล้ววันหนึ่งก็โชคดีอย่างที่สุดในชีวิต ที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เป็นนักเรียนของพระองค์ท่านยาวนานถึง 35 ปี ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แสวงหา แต่ชีวิตลิขิตมาอย่างนี้”

วัยเยาว์ของ “ดร.สุเมธ” มีรสหวานปนขมอย่างไร

ผมเป็นคนเมืองเพชร โตมาในเรือนไทยหมู่ที่ปลูกติดกัน 5 หลัง ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตอนนั้นเราอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ไม่ต่ำกว่า 30-40 คน ผมโตมาแบบใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ตอนเล็กๆ คุณทวดจะให้ตักบาตรทุกเช้า ช่วยกล่อมเกลาให้คุ้นเคยกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ว่าด้วยเรื่องของเหตุและผล แม้บางช่วงชีวิตจะถูกเคี่ยวกรำหนักหนาเพียงใด ก็ยังมีหลักให้ยึดถือและน้อมนำจิตใจไปในทางใฝ่ดี ด้วยความที่ในวัยเยาว์เจ็บป่วยออดแอดเป็นระยะ ประกอบกับเป็นช่วงสงคราม ทำให้ไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนใดเลย เมื่อย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แม่จึงพาไปฝากที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ต่อมาเข้าเรียนชั้นประถมที่อัสสัมชัญ บางรัก ก็เรียนได้แค่หนึ่งปี ด้วยความที่สุขภาพร่างกายไม่ดี ทำให้ต้องลาออกมาเรียนที่บ้าน

อะไรคือบาดแผลใหญ่ในวัยเด็ก

ผมเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวแตกแยก หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน คุณแม่ต้องพาลูกชายคนเดียวระเหเร่ร่อน ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดอย่างลำบากยากเข็ญ ตอนนั้นพ่อเริ่มสมัครเป็นเทศมนตรีที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองโคราช เมื่อพ่อไปเล่นการเมืองเต็มตัว ก็ขายหุ้นบริษัทรวมแพทย์ทิ้ง รวมทั้งขายบ้านในซอยอารีย์ให้หลวงสถิตยุทธการในราคาแค่ห้าแสนบาท ส่วนแม่ต้องขายที่นาเพื่อเอาเงินไปช่วยพ่อเล่นการเมือง นี่จึงเป็นสาเหตุให้ผมไม่ชอบการเมือง เพราะทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ย่ำแย่ลง โดยฟางเส้นสุดท้ายมาถึงตอนที่พ่อตัดสินใจขายบ้าน ผมอายุแค่ 10 ขวบ เป็นความทุกข์ที่สุดจะทนสำหรับเด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่แยกทางกัน ผมมักให้กำลังใจคนที่ครอบครัวประสบปัญหาเดียวกันเสมอ ชีวิตเราคือชีวิตเรา ฉะนั้นต้องต่อสู้ ต้องสะกดกลั้น หน้าที่เราคือพยายามเอาชนะความรู้สึกให้ได้

ในความโชคร้ายย่อมมีโชคดีอยู่บ้าง

ทุกช่วงเวลาผมอยู่กับแม่ตลอด อย่างน้อยมีเครื่องยึดเหนี่ยว ถึงได้ชมแม่ว่าแม่ตัดสินใจถูก เล่าเรื่องทั้งหลายทั้งปวงให้ครูพงษ์เพ็ญฟังและฝากผมไว้ ถึงบอกว่าผมโชคดี ในขณะที่ไม่ได้อยู่กับแม่ แต่ก็ได้รับความรักจากครูพงษ์เพ็ญและคุณประสาร คุณะดิลก เข้ามาแทนที่ เป็นโชคประจำตัวอย่างหนึ่ง มีผู้ใหญ่เอ็นดูเมตตาโดยตลอด ชีวิตตอนเด็กๆของผมช่วงหนึ่งก็วุ่นวาย กดดันเหลือเกิน แต่จำต้องกัดฟันสู้เท่านั้น ถึงแม้ปัญหาในชีวิตจะเจ็บช้ำน้ำใจอย่างไรก็ต้องกัดฟัน ต้องเอาตัวเองให้รอด ยิ่งต้องสู้มากกว่าปกติ ผมเคยถูกเลี้ยงแบบไข่ในหิน อยู่ดีๆถูกปล่อยเกาะ การเล่าเรียนก็ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้ว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบเสมอไป หากใครไม่มีโอกาสเรียนในระบบ การศึกษานอกระบบก็เป็นไปได้เหมือนกัน ผมโชคดีที่แม่ตัดสินใจนำผมมาฝากไว้กับครูพงษ์เพ็ญ ซึ่งเปิดบ้านสอนภาษาอังกฤษและกีตาร์ ท่านทั้งสองมีบุญคุณกับผมเหลือเกิน เลี้ยงผมเป็นลูกเลย เจ็บป่วยยังไงก็นอนเฝ้า ถือเป็นบุญของเรา ภายหลังเมื่อท่านมีลูกสามคน ก็ปฏิบัติตนกับผมดุจพี่ชายคนโต กระทั่งผมสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จึงย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ ก่อนจะได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนที่เวียดนามและลาวเกือบ 6 ปี จากนั้นได้ทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีที่ฝรั่งเศส โดยเลือกศึกษาด้านรัฐศาสตร์ สุดท้ายอยู่เรียนต่อจนจบปริญญาโทและปริญญาเอก ระหว่างเรียนที่ฝรั่งเศส ช่วงปิดเทอมไม่ได้กลับบ้าน จะไปเที่ยวก็ไม่มีเงิน จึงรับจ้างเป็นกรรมกรอยู่ที่โรงงานน้ำแร่เอเวียง จากที่เหนื่อยแทบขาดใจก็ค่อยๆปรับตัวไปจนอยู่ได้ ตอนนั้นทำอยู่หนึ่งเดือนเต็ม ทำให้รู้ค่าของเงินขึ้นอีกมาก อยากแนะนำให้รุ่นลูกรุ่นหลานที่เรียนอยู่เมืองนอก ว่างๆลองไปทำงานหาเงินเองดูบ้าง จะได้เรียนรู้อะไรที่คุ้มค่ามาก อย่าถลุงเงินพ่อแม่จนเห็นเงินไม่มีความหมาย

...

ฉากชีวิตสำคัญที่จดจำได้ไม่มีวันลืม

ผมยังจำได้ติดใจ ครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ประเทศอังกฤษ ผมอัญเชิญถาดเครื่องกาแฟไปถวาย แล้วลงไปพับเพียบกราบ นั่นคือการเข้าเฝ้าฯครั้งแรก มีรับสั่งถามว่าเรียนอะไร เป็นอย่างไร จากนั้นสมเด็จ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็รับสั่งว่าดีนะ ได้แม่มาเป็นต้นเครื่อง อยู่ในวังคนเยอะนะ แต่ละคนก็นานาจิตตัง มีเสียงบ่นอะไรมาบ้าง แต่คุณประสานสุขเป็นคนอดทน ไม่ต้องห่วงนะ แม่อดทน แม่อยู่ได้

จริงไหมทุกประสบการณ์คือกำไรชีวิต

หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อย้อนคิดไปรู้สึกว่าชะตาชีวิตของคนเรานั้นแปลก ใครจะคิดว่าการได้ไปเรียนที่เวียดนามและลาว สุดท้ายวันหนึ่งผมต้องมาทำหน้าที่วางแผนการรบที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามที่เมืองไทย เหมือนกรรมขีดเส้นไว้ ต้องวางแผนเพื่อให้สงครามยุติลง โดยนำประสบการณ์ที่ได้จากสงครามเวียดนามกับลาวมาใช้ เพราะเราเป็นคนเดียวในที่ทำงานที่เคยเห็นสงครามในรูปแบบนั้นกับตา ทำให้เห็นภาพทั้งหมดที่เป็นจริง ทำให้รู้วิธีแก้ไข เหมือนให้ยาถูกโรค เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงใช้วิธีคิดแบบคนไกลที่มองต่างมุมจากคนอื่น นี่กระมังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสอนภายหลังว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในวัย 36 ผมลงพื้นที่ทุกแห่งที่มีการก่อการร้ายทั่วทุกภาคในประเทศไทย เพื่อวางแผนวางโครงการ โดยใช้วิธีทางการเมืองและการพัฒนานำการทหาร ทุกคนอุทิศชีวิตเพื่องานอย่างเต็มกำลัง เสี่ยงภัยทุกชั่วโมงทุกนาทีก็ว่าได้ เพราะบ้านเมืองมีการก่อการร้ายกระจายไปทั่ว แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายและสนุกที่สุด หวิดตายก็หลายครั้งหลายหน ผมต้องเดินทางตลอดแทบไม่ได้อยู่บ้าน ในรถต้องมีปืน ผมรอดตายอย่างหวุดหวิดหลายต่อหลายครั้ง ทำงานแบบปิดทองหลังพระ ไม่สามารถเปิดข่าวได้ เพราะเป็นราชการลับ กำไรชีวิตคือทำให้เรากว้างขวางและมีความเข้าใจมากขึ้น รู้จักทหารดีๆอย่าง พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ได้รู้จักชาวบ้านได้เข้าไปสัมผัสรับรู้ความทุกข์ยากต่างๆ รู้ว่าการที่มาเป็นคอมมิวนิสต์ก็เพราะถูกกดขี่ พอเราเติบใหญ่ขึ้นมานั่งในห้องแอร์ เรามองเห็น สั่งอะไรไปก็รู้สภาพ นี่เป็นกำไรชีวิตอย่างมาก

...

ออกจากสนามรบมาเดินตามรอยพระยุคลบาทได้อย่างไร

หลังจากกินนอนอยู่ในสนามรบมานับสิบปี สงครามสิ้นสุดลงในปี 2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกฯ และมีแนวคิดจะตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จึงคิดหาหัวหน้าหน่วยงานนี้ ชีวิตผมเหมือนถูกขีดกำหนดไว้ เขาเสนอใครไปท่านก็ไม่เอา สุดท้าย ดร.เสนาะเสนอชื่อผม ท่านก็ร้อง อ้าว! สุเมธ เคยเป็นเลขาฯผม ใช้งานกันมาถูกมือ ไว้ใจได้ รักแผ่นดิน รักชาติบ้านเมือง ผมก็เลยมีอีกตำแหน่งที่ทำควบคู่กันไปด้วยกับงานที่สภาพัฒน์ และเท่ากับว่าได้เริ่มถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ตอนแรกผมงงพอสมควร ตามเสด็จครั้งแรกๆไม่กล้าเข้าใกล้ ไปอยู่ท้ายขบวน ไม่มีใครรู้ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ไปถึงหน้างานต้องตัดสินใจเอง หลังจากงงอยู่พักหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งเองว่าเราควรทำอะไร ระหว่างการทำงานผมสารภาพกับพระองค์ท่านตรงๆว่าเราไม่รู้เรื่อง ท่านบอกว่าไม่เป็นไร ท่านสอนให้ ผมก็เดินตามพระองค์ท่านในฐานะเป็นนักเรียน การสอนของพระองค์ท่านมีหลายรูปแบบ มีทั้งสอนด้วยวาจาโดยตรง และสอนระหว่างดำเนินการให้ดูเป็นแบบอย่าง เสมือนไปเข้าโรงเรียน แล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นครูใหญ่ เราเข้าไปเป็นเด็กนักเรียน ปกติควรเรียนไล่ไปทีละชั้น แต่เรียนกับพระเจ้าอยู่หัวคือการเรียนลัด เริ่มเรียนปั๊บก็ชั้นปริญญาเอกเลย งานแรกที่ไปดูเป็นโครงการน้ำขนาดเล็ก เรายังไม่ทันตั้งตัว รับสั่งให้ผมไปตั้งศูนย์ศึกษาฯ พอเข้าถวายงานปั๊บก็สอบเป็นด็อกเตอร์เลย ปัจจุบันมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ 6 แห่ง

...

หลายคนอยากทราบที่มาของชื่อ “ถุงเงิน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งชื่อให้ผมว่าถุงเงิน เนื่องจากตำแหน่งของเลขาธิการ กปร. คือผู้ดูแลงบประมาณ จึงเปรียบเหมือนคนคุมถุงเงินของโครงการ เมื่อถูกเรียกตัว ถึงได้รู้ว่าเราไม่สมควรจะไปยืนอยู่ไกล พระองค์ท่านรับสั่งว่า มาอยู่ใกล้ๆฉันนี่ ฟังฉันพูด มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดจำทุกอย่างที่ฉันพูด อยู่ข้างๆฉันนี่ละ อย่าไปไกล ตั้งแต่วันนั้นมาจึงรู้หน้าที่และตำแหน่งที่ตัวเองยืน ไม่ใช่ข้างท่าน แต่เหลื่อมไปอยู่ข้างหลัง พอให้ได้ยินสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสั่งงาน ทุกอย่างเราต้องได้ยินให้ครบหมด เพราะเราเป็นศูนย์กลางและต้องดำเนินการต่อให้สำเร็จ ผมมีหน้าที่ต้องดูแลเงินอยู่สองกระเป๋า ใบหนึ่งจากสำนักงาน กปร. ซึ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์การบริหารงานและงบประมาณแบบราชการ ใช้สำหรับงานที่สามารถรอได้ ส่วนกระเป๋าอีกใบเป็นของมูลนิธิชัยพัฒนา สามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและรอไม่ได้ให้ทันท่วงที ความทุกข์ของประชาชนไม่ต้องรอเบิกใครเลย เพราะพระองค์ทรงสั่งการเอง สั่งเดี๋ยวนั้นไปเดี๋ยวนั้น พระองค์ท่านรับสั่งว่าการทำงานแบบระบบราชการไม่ทันกาล ความทุกข์ของประชาชนเกิดขึ้นเมื่อไรต้องแก้เมื่อนั้น หากต้องรออนุมัติเบิกงบประมาณก็แย่พอดี อย่ากระนั้นเลย ทำแบบ “โง” คือ NGO ดีกว่า ไปตั้งมูลนิธิมา ให้ชื่อว่า “ชัยพัฒนา” มูลนิธินี้ฉันจะสั่งงานเอง ภายหลังเมื่อได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ ณ โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ท่านรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ” เป็นดังคำสั่งเสียสุดท้ายถึงประชาชนคนไทยว่า หน้าที่ของพวกเราคือรักษาแผ่นดิน

เหตุใดจึงเชื่อว่าชีวิตนี้ชะตาลิขิต มากกว่าสองมือทำเอง

ชีวิตผมมักเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพลิกผัน ในแต่ละรอบปีนักษัตร เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่วัยเด็ก ผมคิดว่าชะตาชีวิตของผมถูกขีดมาอย่างนั้น มีบางช่วงที่ทุกข์มาก มองไปทางไหนก็รู้สึกมืดมนไปหมด ใจทุรนทุรายว่าชีวิตนี้คงไม่มีวันสว่างอีกแล้ว แต่สุดท้ายชีวิตก็ดำเนินต่อไป แล้วกลับมาสว่างได้อีกครั้ง หลักการของผมคือ ปล่อยชีวิตไปตามธรรมดา ไม่ไปฝืนในสิ่งที่เป็นไป แต่ให้เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ และอย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน แม้สิ่งนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดก็ตาม การได้ผ่านเรื่องราวต่างๆมานั้น ทำให้เรารู้ว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นสอนให้เรามีความอดทนเพียงพอ, มีสติ, มีความยั้งคิด และรู้จักติดเบรกตัวเอง ไม่อ่อนคล้อยไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อที่จะสู้กับงานใหญ่ในวันหน้า เพราะถ้าเราอ่อนแอไม่เข้มแข็ง ก็จะแบกภาระต่างๆในวันนี้ไม่ได้ สรุปบทเรียนตอนอายุ 84 นั้นดี ชีวิตผมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าเราอดทนพอ เราก็ผ่านมันได้ ไม่มีชีวิตใครไม่มีมรสุมหรอก อะไรที่เป็นอดีตผ่านมาแล้วสนุกทั้งนั้น แม้กระทั่งความทุกข์ยังเล่าได้อย่างสนุก ใครเจอความทุกข์ หัวเราะใส่มัน เดี๋ยวมันก็ไปเอง.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่