ภาวะสิ้นยินดี เป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูเท่าใดนัก ซึ่งคนที่มีภาวะนี้จะไม่รู้สึกยินดีกับการมีชีวิต ไม่รู้สึกมีความสุขกับสิ่งรอบตัวหรือเรื่องที่เคยสนใจ ไปจนถึงรู้สึกเฉยชาเบื่อหน่ายกับการมีชีวิต ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งที่พบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital เผยว่า ภาวะสิ้นยินดี Anhedonia เป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะเฉยชาต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ส่งผลให้ ไม่มีความสุข ไม่มีความสนุก ไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เมื่อก่อนสิ่งต่างๆ รอบตัวสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ เช่น การไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกับคนรัก

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

ภาวะสิ้นยินดีสามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคเครียดหลังจากได้ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือในบางครั้งก็เป็นผลจากโรคทางกาย เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดทางสมอง ซึ่งอาการของภาวะนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

...

ภาวะสิ้นยินดี เกิดจากอะไร

ภาวะสิ้นยินดี เกิดจากความผิดปกติในสมอง เนื่องจากสมองจะหลั่งสารแห่งความสุข หรือ ฮอร์โมนโดปามีนออกมา เมื่อทำในสิ่งที่ชอบ แต่คนที่มีภาวะสิ้นยินดี สมองจะไม่มีการหลั่งสารโดปามีน จึงทำให้รู้สึกไม่มีความสุขเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองเคยชอบ

อาการของภาวะสิ้นยินดี

  • ไม่ชอบเข้าสังคม
  • ไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกเศร้า
  • ความสุขจากกิจวัตรประจำวันลดลง
  • ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวลดน้อยลง
  • สนใจงานอดิเรกที่เคยทำก่อนหน้านี้น้อยลง
  • เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ
  • ไม่ตื่นเต้นที่จะออกไปเที่ยวกับเพื่อนอีกต่อไป
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ไม่อยากได้รับความช่วยเหลือจากใคร
  • ไม่อยากฟังเรื่องราวคนอื่น

ภาวะสิ้นยินดีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่อยากพบเจอ พูดคุย ไม่ได้ต้องการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลใด
  2. ภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไปกินอาหาร ไปดูหนัง ก็ไม่ได้แฮปปี้เหมือนที่เคย

ภาวะสิ้นยินดี รักษาได้ไหม

การรักษาภาวะสิ้นยินดี ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่ามีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หากมีภาวะซึมเศร้า แพทย์ก็จะจ่ายยาต้านซึมเศร้าพร้อมกับการให้ดูแลสุขภาพกาย รวมทั้งให้คำแนะนำในการหากิจกรรมที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข เช่น ฟังเพลง, ทำกิจกรรมกับคนรัก, กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ, เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยเลือกเข้าสังคมที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ

นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเอง ว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นความเครียด พยายามปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเครียดเท่าที่ทำได้, เขียนบันทึกประจำวัน ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างน้อยวันละ 1 เรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นความสุขเล็กๆ เช่น วันนี้ได้กินอาหารอร่อย และการออกกำลังกาย เพราะการทำกิจกรรมทางกาย ร่างกายจะหลั่งสารโดปามีนกระตุ้น “ความสุข” ให้แก่สมอง

ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง

ด้าน ปิญชาดา ผ่องนพคุณ หรือกอเตย ผู้ก่อตั้ง Baojai Family เผยว่าสำหรับผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีแล้วกำลังตัดสินใจว่าเราควรจะอยู่หรือไป เธออยากให้ทุกคนลองคิดถึงคุณค่าของตนเอง แม้ว่าวันนี้อาจจะรู้สึกหาคุณค่าในตัวเองไม่เจอ แต่เธอเชื่อว่าทุกคนมีคุณค่าสำหรับคนใกล้ตัวเสมอ

เธอยกตัวอย่างคนที่มาปรึกษากับเธอเพื่อวางแผนเตรียมตัวตายดี ซึ่งเขาเป็นห่วงแม่ที่คอยอยู่เคียงข้างเขาเสมอแม้ว่าเขาจะมีภาวะสิ้นยินดีก็ตาม ที่ทำให้ฉุกคิดได้ว่าวันนี้เขาไม่ต้องหาคุณค่าในตัวเองก็ได้ แต่วันนี้เขารู้แล้วว่าเขามีคุณค่าเพื่อใครและอยู่เพื่อใคร นั่นก็คือแม่ที่อยู่เป็นทีมเดียวกับเขาเสมอมานั่นเอง