เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี คือ วันโกหกโลก หรือ April Fool’s Day ที่หลายคนพร้อมใจกันสร้างเรื่องปั่นๆ ให้คนตกใจเล่น สำหรับในยุคดิจิทัลก็เพื่อสร้างไวรัลป่วนๆ เป็นกระแสชวนฮาในโลกโซเชียล แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าประวัติของวันเมษาหน้าโง่นี้มีที่มาอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นวันที่ 1 เมษายนด้วยนะ

ประวัติ วันโกหกโลก (April Fool’s Day)

ประวัติวันโกหกโลก หรือ April Fool’s Day เป็นการละเล่นที่นิยมกันของบางประเทศแถบยุโรป คาดว่ามาจากชาวกรีก โรมัน และยังนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติที่มาของ วันโกหกโลก (April Fool’s Day) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรในตำนาน Nun’s Priest’s Tale ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1564 เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในวันครบรอบงานหมั้นระหว่าง พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ กับ เจ้าหญิงแอนน์แห่งโบฮีเมีย สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ เกี่ยวกับสุนัขจิ้งจอกที่ตบตาไก่ตัวผู้ที่หลงตัวเอง

ต่อมาในยุคกลาง การเฉลิมฉลองของชาวยุโรปส่วนมากนี้จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี บางแห่งสิ้นสุดในวันที่ 1 เมษายน มีการอ้างถึงวันโกหกโลก (April Fool’s Day) ในงานเขียนของกวี ปี ค.ศ.1563 เกี่ยวกับการส่งคนรับใช้ไปทำภารกิจที่โง่เขลาในวันที่ 1 เมษายน จากบทกวีแสดงให้เห็นว่า การเล่นเอพริลฟูลส์เดย์เป็นที่นิยมในชาวบริเตนใหญ่

ขณะที่ ประวัติวันโกหกโลก (April Fool’s Day) ในเนเธอร์แลนด์กลับมีที่มาแตกต่างออกไป โดยมีบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ.1572 เกี่ยวกับชัยชนะของชาวดัตช์ในการยึดเมืองแห่งหนึ่ง เกิดเป็นสุภาษิตว่า Op 1 april verloor Alva zijn bril แปลว่า ในวันที่ 1 เมษายน Alva ทำแว่นตาหาย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการยึดเมืองบรีเอลล์ ซึ่งดยุคอัลวาเรซ เด โตเลโด (Álvarez de Toledo) ของสเปนพ่ายแพ้

...

ดังนั้นที่มาของ วันโกหกโลก (April Fool’s Day) จึงมีประวัติยาวนานถึง 460 ปี ที่ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก และเป็นที่รู้กันว่าเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน มักจะมีการแกล้งกัน หรือโกหกสร้างเรื่องป่วนๆ มาให้ชวนสงสัยว่าเรื่องจริงหรือหลอก (และส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลัง) ก็แทบไม่ค่อยมีใครโกรธ เพราะรู้กันเป็นธรรมเนียมว่าวันนี้คือ “เมษาหน้าโง่” นั่นเอง

นอกจากการกลั่นแกล้งหยอกล้อของคนทั่วไปแล้ว หลายแบรนด์สินค้าก็มักจะนำกิมมิกของวันโกหกโลก (April Fool’s Day) มาสร้างกระแสไวรัลให้กับแบรนด์ตัวเองเป็นที่รู้จักในวันนี้ได้แทบทุกปี เรียกได้ว่าเป็นวันแห่งการสร้างไวรัลประจำปีเลยก็ว่าได้ แบรนด์ไหนสร้างสรรค์อะไรแปลกๆ ฮาๆ ให้เป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลก็ยิ่งได้เอนเกจมากขึ้น แม้จะผ่านมาเกือบ 500 ปี วันโกหกโลก (April Fool’s Day) ก็สามารถลื่นไหลไปตามกระแสแห่งยุคได้โดยไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้กันดีว่าวันที่ 1 เมษายน จะเป็นวันแห่งการโกหกโลก แต่ถ้าหากแกล้งกันรุนแรงจนถึงขั้นบาดเจ็บ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ผู้กระทำผิดก็มีโทษตามกฎหมาย รวมถึงการโพสต์สิ่งหลอกลวงก็อยู่ในอำนาจกฎหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรหยอกล้อกันพอขำๆ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครและตนเองจะดีกว่า.