จากการระบาดของโรคแบคทีเรียกินเนื้อในประเทศญี่ปุ่น ที่ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อกว่า 500 ราย ทำให้ผู้คนจำนวนมากเกิดความกังวล ซึ่งอาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อเป็นอย่างไร สาเหตุมาจากไหน และเราจะสามารถป้องกันได้หรือไม่

สาเหตุโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า หรือชื่อทางการแพทย์ คือ โรค necrotizing fasciitis เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ แม้ว่าโดยทั่วไปจะพบโรคนี้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตหรือเกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคตามมาได้สูงหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน

สาเหตุของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ มักเกิดจากการเดินเท้าเปล่า ลุยโคลน โดนเปลือกหอย หรือเศษไม้ตำเท้า เศษแก้วบาด โดยเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังหรือกระแสเลือดผ่านทางแผลที่ถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย บาดแผลไฟไหม้ การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด หากไม่ได้ดูแลรักษาแผลให้ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

การถูกแมลงสัตว์กัดต่อยเพียงเล็กน้อยก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้ (ภาพจาก iStock)
การถูกแมลงสัตว์กัดต่อยเพียงเล็กน้อยก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้ (ภาพจาก iStock)

...

อาการโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

  • มีอาการเจ็บปวดบวม แดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมาก
  • อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว
  • อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย
  • ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง และมีเนื้อตายเกิดขึ้น
  • หลังจากที่เนื้อตายผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวด
  • มักจะมีไข้สูง และการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อก และมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ เป็นต้น
  • มักพบการติดเชื้อบ่อยที่บริเวณแขนและขา

กลุ่มเสี่ยงโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในกลุ่มคนต่อไปนี้

  • ผู้สูงอายุ
  • เกษตรกรที่ไม่สวมใส่รองเท้า มีบาดแผลตามร่างกายและได้รับสิ่งสกปรกเข้าไป
  • กลุ่มผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์
  • กลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
  • กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว เช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค เป็นต้น
  • กลุ่มผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่มีการทำความสะอาดดูแลแผลให้ดี หรือไม่ถูกต้องจนการติดเชื้อลุกลาม

นอกจากอาการที่สร้างความเจ็บปวดทรมานอย่างมากให้กับผู้ป่วยแล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นลึกระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 17-49% ขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงในติดเชื้อรวมถึงการติดเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนบริเวณของการติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น

วิธีรักษาและป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

ผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายหรือเนื้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด พร้อมทั้งผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก และตัดเนื้อเยื่อที่ตาย เพราะหากติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นออก การปล่อยไว้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลวจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ควรรีบให้แพทย์ทำการรักษาโดยด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ติดเชื้อลุกลามจนต้องตัดอวัยวะทิ้ง หรืออาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ (ภาพจาก iStock)
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ควรรีบให้แพทย์ทำการรักษาโดยด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ติดเชื้อลุกลามจนต้องตัดอวัยวะทิ้ง หรืออาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ (ภาพจาก iStock)

...

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจพิการแขนขาจากการรักษาได้เช่นกัน ดังนั้นการรีบเข้ามาทำการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่ระยะแรกที่ติดเชื้อก็จะช่วยลดการสูญเสียอวัยวะ รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ ส่วนการป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อ สามารถทำได้โดยวิธีต่อไปนี้

  • ป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก
  • ถ้ามีแผลที่ผิวหนัง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก
  • ถ้าสัมผัสหรือประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผล ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น
  • ถ้ามีแผล อาการปวดบวม แดงร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ถ้าหากร่างกายแข็งแรงดีมีภูมิคุ้มกันปกติ และมีการดูแลใส่ใจรักษาความสะอาดร่างกายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อได้รับบาดแผล ก็มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรคนี้ แต่ถ้าหากมีอาการใกล้เคียงและไม่มั่นใจก็รีบไปหาหมอให้เร็วที่สุดเพื่อทำการรักษา

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท, คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย