ในโลกภาพยนตร์มีผลงานมากมายที่นำความเชื่อทางคริสต์ศาสนามาเชื่อมโยงกับความลี้ลับของสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องเล่าในโลกวิญญาณอย่าง ‘ปีศาจ’ และ ‘ซาตาน’ ที่ดูเหมือนจะดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี หากมองจากสายตาคนนอกก็อาจสับสนหรือมีภาพจำต่อศาสนาคริสต์ที่บิดเบี้ยวไป ทำให้บางครั้งเราจำเป็นต้องศึกษามุมมองจากคนในดูบ้าง เพื่อจะได้รู้เท่าทันชุดแนวความคิดในโลกภาพยนตร์และความบันเทิง นำไปสู่การมีความเข้าใจในทางที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ บาทหลวงยอแซฟ อนุชา ไชยเดช หรือ “คุณพ่ออนุชา ไชยเดช” ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย บาทหลวงผู้อุทิศตนแด่เพื่อนมนุษย์และทำงานรับใช้คริสตจักรมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเคยรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในโอกาสที่มาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 35 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2562
บทสนทนาในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการตัดสินความเชื่อใด เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดมุมมองอันร่วมสมัยที่มีต่อความศรัทธาของคุณพ่ออนุชา รับกระแสภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องใหม่ “Immaculate บริสุทธิ์ผุดปีศาจ” ที่มีเนื้อหาอิงความเชื่อ ‘การตั้งครรภ์บริสุทธิ์’ ทางศาสนาคริสต์ ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในประเทศไทยวันที่ 21 มีนาคมนี้
...
สัมภาษณ์บาทหลวง คุณพ่ออนุชา ไชยเดช มุมมองต่อภาพยนตร์ศาสนา “Immaculate บริสุทธิ์ผุดปีศาจ”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณพ่อตัดสินใจมาเป็น ‘บาทหลวง’ และอุทิศตนเพื่อศาสนา
คุณพ่ออนุชา : คนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เกิดในครอบครัวคาทอลิกและรับศีลล้างบาป จะค่อยๆ ซึมซับความศรัทธาที่หล่อหลอมให้เป็นคริสตชน การตัดสินใจเป็นบาทหลวงนั้น ก็ไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้ แต่ต้องเขียนจดหมายขอบวช โดยต้นสังกัดและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องอนุมัติ ทุกคนเชื่อว่าตัวเองมีกระแสเรียกจากพระ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจในความเชื่อต่างๆ จึงมีเรื่องราวของพระเข้ามาในชีวิตของเราด้วย เราจึงตัดสินใจเข้ามารับใช้พระเป็นเจ้าผ่านเพื่อนมนุษย์ด้วยการทำหน้าที่เป็นบาทหลวง เปรียบเสมือนการได้อุทิศตนให้มีคุณค่าที่สุด ซึ่งนั่นคือการเลือกวิถีชีวิตเพื่อผู้อื่น
คุณพ่อมองว่านับตั้งแต่อดีตถึงปัจจจุบัน คำสอน ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของศาสนจักร ได้มีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นหรือไม่
คุณพ่ออนุชา : เมื่อพูดถึงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เราอาจต้องจับหลักใหญ่ไว้ 2 ประการ ได้แก่ ‘คำสอน’ ว่าศาสนานี้สอนอะไร สอนจากไหน เช่น ศาสนาคริสต์สอนจากพระคัมภีร์ หรือศาสนาพุทธสอนจากพระไตรปิฎก ส่วนอีกประการคือ ‘ภาคปฏิบัติ’
คำสอนนั้นเป็นสัจธรรม เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งคำสอนกับภาคปฏิบัติจะต้องดำเนินไปด้วยกัน สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือคำสอน แต่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยได้ก็คือภาคปฏิบัติ ที่ประยุกต์ให้เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
อาจนำเทคโนโลยีมาช่วย ปรับคำสอนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่สำคัญคือเมื่อมีคำถามใดต่อสังคมเกิดขึ้น ศาสนาจะต้องสามารถเป็นมโนธรรมให้สังคมได้ ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ดึงคำสอนที่ร่วมสมัยมาตอบปัญหาให้สังคมได้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
เมื่อทุกศาสนาต่างมีความเชื่อในเรื่องเร้นลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ เช่น ผี หรือปีศาจ ศาสนาคริสต์มีคำอธิบายเรื่องเหล่านี้ด้วยหรือไม่
คุณพ่ออนุชา : หากเราอิงไปที่พระคัมภีร์ เราจะพบเรื่องราวว่าพระเยซูเจ้าขับไล่ปีศาจ เพราะฉะนั้นปีศาจ ผี หรือเทพ ก็คล้ายๆ สิ่งเดียวกัน ถามว่าศาสนาคริสต์เชื่อว่าผีมีจริงไหม? เรามีคำสอนที่บอกว่าวิญญาณมี ปีศาจมี เพราะในมุมมองคริสต์ ปีศาจก็คือเทวดาตกสวรรค์ เมื่อปีศาจอยากให้มนุษย์ลงไปอยู่ในนรกเช่นเดียวกับตน พวกมันก็จะหลอกล่อให้เราหลงผิดในเรื่องต่างๆ
คุณพ่อนิยามความหมาย ‘ปีศาจ’ ว่าอย่างไร
คุณพ่ออนุชา : นิยามของปีศาจในคริสต์ศาสนาคือ เจ้าแห่งความหลอกลวง สิ่งที่ปีศาจจะทำได้คือการหลอกลวงเราในรูปแบบต่างๆ เขาอาจหลอกเราให้ไปตายได้ แต่จะไม่สามารถฆ่าเรา หรือบีบคอเราให้ตายได้ ยกตัวอย่างขณะที่เรายืนอยู่ริมถนน เราเห็นคนรักโบกมือเรียกให้ข้ามถนนไป แต่จริงๆ แล้วคนที่ยืนโบกมือนั้นเป็นปีศาจจำแลงมา เมื่อเราข้ามถนนเราก็อาจโดนรถชนเสียชีวิต
...
คำว่า ‘ไสยศาสตร์’ ในมุมมองของศาสนาคริสต์
คุณพ่ออนุชา : ไสยศาสตร์ ในคริสต์ศาสนา มาจากภาษาอังกฤษที่เราเรียกว่า Superstition อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับปีศาจ หรือสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกรีตก็ได้ ชาวคริสต์จะมีบัญญัติพระเป็นเจ้าที่บอกว่า “จงนับถือพระเป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า” หากเราไปนับถือพระอื่น เช่น นับถือปีศาจ ซาตาน หรือแม้แต่จอมปลวก ก็ถือเป็นเรื่อง Superstition ทั้งหมดเลย แต่หากเราต้องอยู่ร่วมกับความเชื่อศาสนาอื่นๆ ของแต่ละสังคม เราสามารถไปเข้าร่วมได้นะครับ แต่จะไม่แสดงตนเป็นศาสนิกนั้นๆ แน่นอนว่าเราจะให้ความเคารพ และไม่เข้าไปตัดสิน
ในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร เคยมีเหตุการณ์เร้นลับอะไรที่สั่นคลอนความเชื่อบ้างไหม
คุณพ่ออนุชา : ถ้าถึงขนาดสั่นคลอนเลยก็คงไม่ขนาดนั้นครับ แต่ถ้าในแง่เรื่องผีหรือปีศาจก็อาจกลายเป็นสิ่งที่รบกวนใจคริสตชนบ้าง อย่างในสังคมไทยเองก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางคนมองว่าเป็นเรื่องของความเชื่อ จิตวิทยา หรือแม้กระทั่งเรื่องของของปีศาจ เลยขอพูดเลยไปในมุมมองของพ่อเองนะ
...
มีช่วงหนึ่งที่ศาสนาจักรในไทย เริ่มพบว่าจริงๆ แล้วมีหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า ‘Exorcist’ อยู่ที่วาติกัน (คล้ายๆ สำนักนักบวชปราบผี) จัดประชุมทุก 2 ปี แต่ประเทศไทยเราไม่มีตัวแทนเข้าไปร่วมประชุม เพราะเราไม่ได้ดูแลจัดการให้มีตัวแทนไป ซึ่งคุณพ่อก็ไปร่วมประชุมด้วย
ข้อค้นพบอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องผี ปีศาจ หรือวิญญาณ เวลาที่บาทหลวงจะขับไล่ ไม่ใช่แค่มีคนมาบอกเรา แล้วเราสวดขับไล่เลย แต่จะมีกระบวนการตรวจสอบก่อนว่า “ผีจริงไหม” ก่อนที่คุณพ่อสักคนจะขับไล่ผี จะต้องมีแพทย์ที่เข้าร่วมพิสูจน์ความจริงด้วย และจะมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น ห้ามไปคนเดียว ต้องมีการบันทึกวิดีโอไว้ด้วย เพื่อจะได้รู้สาเหตุหากมีอาการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
สิ่งที่พ่อต้องการสื่อก็คือ ไม่มีเคสหนักๆ ที่ไปถึงระดับสั่นคลอนศาสนจักร บ้างครั้งอาจเป็นเหตุผลอื่นๆ เช่น อาการทางจิต หรือความคิดในมุมจิตวิทยา ส่วนใหญ่เรื่องราวเร้นลับเหล่านี้จะสั่นคลอนความรู้สึกเสียมากกว่า ทำให้ผู้คนขวัญอ่อนและหวั่นไหว หากมองในมุมศาสนาก็คือผู้คนเหล่านี้อาจมีความเชื่อที่ไม่หนักแน่นพอ จึงไปเข้าใจและตีความเป็นอย่างอื่นมากกว่า
...
ในภาพยนตร์เรื่อง “Immaculate บริสุทธิ์ผุดปีศาจ” มีการอิงเรื่องราวในศาสนาคริสต์ว่าด้วยการตั้งครรภ์บริสุทธิ์
คุณพ่ออนุชา : การตั้งครรภ์บริสุทธิ์ คืออัศจรรย์ เป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้โปรดให้สตรีคนหนึ่งได้มีโอกาสพิเศษนั้น ซึ่งก็คือ ‘พระแม่มารีย์’ ครรภ์ที่แม่พระได้ดูแลไว้ก็เป็นบุตรของพระเจ้า หากย้อนกลับไปที่พระคัมภีร์ก็จะมีเทวดาคาเบรียลมาแจ้งข่าวการประสูติของพระกุมาร หลังจากนั้นพระแม่มารีย์ก็ตั้งครรภ์บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า ‘ปฏิสนธินิรมล’ โดยมีพระเยซูเจ้าเข้ามาประสูติในครรภ์ของพระแม่มารีย์เลย แตกต่างจากการตั้งครรภ์ในมนุษย์ปกติที่ต้องมีเพศสัมพันธ์ จึงจะตั้งครรภ์ได้
เรื่องการตั้งครรภ์บริสุทธิ์เป็นความอัศจรรย์ ทางคริสต์เรียกว่า ‘รหัสธรรมล้ำลึก’ (Mystery) หมายถึง ธรรมที่เป็นรหัส ส่วนล้ำลึกก็คือเข้าใจยาก เป็นเรื่องราวของสิ่งที่เหนือกว่าเรา นั่นคือพระเป็นเจ้า แม้จะเข้าใจยากอย่างไร ก็ต้องเชื่อ เพราะหากไม่ใช่ความพิเศษ ก็จะไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป
ถ้าสมมติว่ามีซิสเตอร์ (นักบวชหญิงในนิกายคาทอลิก) อ้างว่า ‘ตั้งครรภ์บริสุทธิ์’ ในยุคปัจจุบัน คุณพ่อมองว่าศาสนจักรจะมีวิธีตอบโต้เรื่องนี้อย่างไร
คุณพ่ออนุชา : ถ้าอยู่ดีๆ ซิสเตอร์เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็จะโยงใยไปถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่สมควรตามหลักการ เนื่องจากซิสเตอร์จะมีครอบครัวไม่ได้อยู่แล้ว หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องแยกตัวออกมาก่อน ยิ่งหากเขายืนยันว่าตั้งครรภ์บริสุทธิ์ ก็ต้องดูกระบวนการยาวๆ ครับ อาจต้องรอให้กำเนิดลูกออกมาก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสื่อและสังคมจะขุดคุ้ยเพื่อสืบหาความจริง ในที่สุดแล้วเราก็พอจะเดาได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร การตั้งครรภ์โดยไม่มีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทางศาสนาคริสต์มีเพียงพระแม่มารีย์ผู้เดียวที่ให้กำเนิดพระเยซูเจ้าด้วยการตั้งครรภ์บริสุทธิ์
หากความเชื่อทางศาสนาคริสต์มี ‘บุตรพระเจ้า’ แล้วมี ‘บุตรแห่งปีศาจซาตาน’ หรือไม่
คุณพ่ออนุชา : ไม่มีเรื่องของบุตรแห่งปีศาจหรือซาตาน ตามความเชื่อของนิกายคาทอลิก ผู้ที่จะให้เราเกิดและตายได้ก็คือพระเป็นเจ้าเท่านั้น สมมติบอกว่ามีปีศาจไปกระซิบหญิงคนหนึ่งที่กำลังตั้งครรภ์ว่า ลูกในท้องเป็นเด็กที่กำเนิดจากปีศาจ มันจะทำได้แค่หลอกลวงเรา แต่ในความเป็นจริงปีศาจไม่สามารถสร้างคนได้นั่นเอง
แต่เรื่องที่เราเคยได้ยินจะเป็นไปในแง่ของการ ‘ขายวิญญาณให้ซาตาน’ ในหมู่คนที่เป็นศิลปินหรือนักดนตรี ที่ต้องการประสบความสำเร็จและมีฝีมือเก่งกาจ เขาจะมอบตัวเองให้แด่ซาตาน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนบางอย่าง ซึ่งปลายทางจะต้องไปอยู่กับซาตานในขุมนรก อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง
ปัจจุบันมีการนำความเชื่อเหนือธรรมชาติของศาสนาคริสต์ มาสร้างเป็นภาพยนตร์มากขึ้น คุณพ่อมีมุมมองต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร ภาพยนตร์เหล่านั้นสร้างความไม่สบายใจหรือไม่
คุณพ่ออนุชา : ข้อแรกเราต้องเข้าใจเรื่องสื่อศึกษา (Media Literacy) ว่าภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์ ต้องอย่ามองว่าเป็นเรื่องจริงก่อน โอเคว่าอาจอ้างอิงมาจากเรื่องจริงบ้าง แต่ภาพยนตร์ก็จะแตกต่างกับสารคดี เพราะเขาสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิง เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจและอุตสาหกรรม แน่นอนว่าภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับศาสนาก็จะเล่นประเด็นที่คนสนใจอยู่แล้ว หากเรามองเช่นนี้ได้ เราก็จะไม่เกิดความไม่สบายใจต่างๆ
ข้อต่อมา ภาพยนตร์มีที่มาที่ไป เช่น สร้างจากอะไร อ้างอิงจากเรื่องไหน มันก็พัฒนาไปเป็นเรื่องราวของมัน บางครั้งก็มีเรื่องราวดีๆ ที่มีกลิ่นอายของศาสนา มีถ่ายทำที่วาติกัน ซึ่งศาสนาจักรหรือองค์กรสื่อในศาสนา ก็จะควบคุมดูแลหรือให้ความร่วมมืออยู่แล้ว
เริ่มแรกอาจมีบ้างที่ไม่ค่อยสบายใจ เพราะว่ายังจับทางไม่ถูก แต่ให้เราคิดว่าภาพยนตร์นั้นมีไว้ดูเพื่อความบันเทิง อย่าไปคิดมากครับ ซึ่งหากสามารถเก็บมาเป็นสาระในชีวิตได้ด้วย ก็จะยิ่งเกิดประโยชน์ เพราะกว่าจะกลายมาเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง ก็ต้องใช้ทรัพยากรทางความคิดมากมาย
สังเกตว่าผู้คนยุคนี้พยายามมองหา ‘ที่พึ่งทางจิตใจ’ จนบางครั้งอาจไปยึดถือสิ่งที่ยิ่งเพิ่มความทุกข์ใจไม่มีจบสิ้น อยากให้คุณพ่อให้ข้อคิด หรืออวยพรสิ่งที่ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้
คุณพ่ออนุชา : เชื่อว่าการใช้ชีวิตของเราในหลายๆ ครั้งก็ค่อนข้างเคว้งคว้าง เหมือนกับเดินตามๆ กันไปเรื่อยๆ แต่การมีศาสนาอย่างน้อยก็มีหลักให้เรายึดเหนี่ยว ให้เราสามารถกลับไปยังจุดตั้งต้นได้ว่าศาสนามีหลักคำสอนอะไรและควรปฏิบัติตนอย่างไร
ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าพระเป็นเจ้าได้สร้างเรามา โดยพระองค์ท่านใส่ ‘ความดีส่วนรวม’ (Common Good) เข้ามาให้ด้วย ให้เราพยายามขัดเกลาจิตใจให้เติบโตและแข็งแรง หากเรามีจุดยืนที่มั่นคง ก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
แม้เมื่อเราเดินทางออกไปใช้ชีวิต บางครั้งอาจเจอฝุ่น ความกระด้างของชีวิต หรือมุมมองที่เอารัดเอาเปรียบ แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาชำระล้างสิ่งเหล่านี้ ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองทั้งร่างกาย จิตใจ และในทางคริสต์ก็จะเติม ‘จิตวิญญาณ’ เข้าไปด้วย
เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ขอบคุณภาพ : Sahamongkolfilm
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม