รวมขั้นตอนการเอาผิด การโจรกรรมออนไลน์ กรณี ‘โดนโกงบัตรคอนเสิร์ต’ ควรทำอย่างไร ใช้เอกสารใดบ้าง

การเดินทางไปชมคอนเสิร์ตของศิลปินที่เราชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือในต่างแดน แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากความรัก ความตั้งใจ และความชื่นชอบ ซึ่งไม่มีใครล้วนอยากต้องผิดหวังเดินทางไปเสียเปล่า เพราะทุกคนจะต้องเสียค่าเวลา ค่าเดินทางโดยสาร ยิ่งไปกว่านั้นหากต้องเดินทางไปยังต่างแดน อาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเพิ่มเป็นเงินจำนวนไม่น้อย 

หนึ่งในกรณีที่ถูกพูดถึงกันในโลกออนไลน์ และเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเป็นอย่างมาก เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง โจวปลื้ม ได้โพสต์คลิปวิดีโอลงอินสตาแกรมจน ขณะร้องไห้หน้าคอนเสิร์ต "เทย์เลอร์ สวิฟต์" ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากเธอตั้งใจที่บินมาดูการแสดง แต่กลับพบว่าบัตรมีปัญหาไม่สามารถเข้างานได้ จนทำให้เกิดประเด็นในเรื่องของการถูก ‘โกงบัตรคอนเสิร์ต’ ที่มักพบได้บ่อยในปัจจุบันในหลายๆ งานคอนเสิร์ต อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ปัจจุบันมีเหยื่อที่ถูกโกงบัตรคอนเสิร์ต Taylor Swift | The Eras Tour ในครั้งนี้ เป็นจำนวน 120 รายแล้ว ซึ่งมียอดความเสียหายที่ตีมูลค่าได้เป็นหลักล้านเลยทีเดียว ที่น่าเห็นใจไปกว่านั้น คือ ความตั้งใจที่ว่าไปข้างต้น กลับต้องมาล้มเหลว เพราะความมักง่ายของกลุ่มการโจรกรรมเหล่านี้คงน่าผิดหวังไม่ใช่น้อย ไทยรัฐออนไลน์ จึงนำขั้นตอน และข้อมูลจากกองปราบปราม ในการเอาผิดจากพวกนักต้มตุ๋นเหล่านี้มาฝากกัน

ขั้นตอนเบื้องต้นหาก ‘โดนโกงบัตรคอนเสิร์ต’ ต้องทำอย่างไร

  • ตั้งสติให้ดี เก็บรวบรวมหลักฐานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ให้ครบถ้วน เช่น แชตการสนทนา ภาพโปรไฟล์ ชื่อร้านค้า สลิปโอนเงิน บัญชีผู้รับเงิน หน้าบัตรประชาชน และอื่นๆ เป็นต้น
  • แจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ, ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ตำรวจไซเบอร์ หรือ บช.สอท.แนะนำให้ผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความออนไลน์ได้ที่ thaipoliceonline เว็บไซต์เดียวเท่านั้น โดยในการแจ้งความออนไลน์ ผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หากมีการแจ้งให้โอนเงินนั่นคือ 'มิจฉาชีพ' ที่จะมาหลอกเหยื่อให้เสียตังค์เพิ่ม
  • นำเอกสารแจ้งความ ไปยื่นส่งต่อที่ธนาคารของฝ่ายผู้รับเงิน และฝ่ายผู้โอนเงิน
  • ธนาคารรับเรื่อง และทำการอายัดบัญชีของนักต้มตุ๋น
  • ติดตามเรื่องจากตำรวจ เพื่อดำเนินคดีในลำดับถัดไป

...

ทั้งนี้ยิ่งดำเนินการเรื่องกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ธนาคารเร็ว จะสามารถช่วยเหลือในการติดตามเอาทรัพย์คืน นอกจากนี้ยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเสียเวลาได้ขึ้นอยู่กับกรณีนั้นๆ เพื่อเอาผิดกับมิจฉาชีพเหล่านี้ไม่ให้ลอยนวล และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในลำดับต่อไป

กลอุบาย และวิธีจับสังเกต ‘นักต้มตุ๋น’ ที่ชอบหลอกขายบัตรคอนเสิร์ต

กลอุบายที่นักต้มตุ๋นนิยมใช้ในการขายบัตรคอนเสิร์ต

  • ขายบัตรในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดปกติ
  • รูปโปรไฟล์ไม่ชัดเจน  
  • ใช้กลอุบายว่า กดบัตรมาเกิน, เพื่อนไม่ไปแล้ว หรือ กดมาขายเฉพาะผู้ติดตาม
  • ผู้ขายชอบเร่งให้รีบดำเนินการ โดยอ้างว่าผู้ลูกค้าติดต่อมาหลายราย
  • ไม่สะดวกที่จะส่งมอบบัตรหน้างาน และมักมาในรูปแบบ E-Ticket หรือ QR Code เท่านั้น

วิธีป้องกัน ‘นักต้มตุ๋น’ หลอกขายบัตรคอนเสิร์ต

  • ตั้งสติ และห้ามรีบร้อนเด็ดขาดในการซื้อบัตรคอนเสิร์ต
  • ศึกษาข้อมูลของบัตรคอนเสิร์ตนั้นๆ ว่ามีรูปแบบใด ให้เลือกรูปแบบที่ยืนยันได้ว่าบัตรคอนเสิร์ตที่ผู้ซื้อจะได้นั้นไม่มีทางโดนนำมาขายซ้ำได้
  • เช็กข้อมูล และรายละเอียดจากผู้ขายให้ถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ข้อมูลโปรไฟล์ ข้อมูลบัญชี ตรวจสอบรายชื่อคนโกงออนไลน์ เช็กตัวตนคนขายบัตร
  • ตรวจสอบเลขแทรคบนตั๋วบัตรคอนเสิร์ต
  • เน้นซื้อแบบนัดรับบัตรจริง หรือเจอตัวหน้างานเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีเบื้องต้นในการระมัดระวังตัวไม่ให้ โดนหลอก ในการซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตได้ แน่นอนว่าในอนาคตอาจจะมีกลอุบายที่เหล่ามิจฉาชีพพวกนี้ นำมาใช้อีกในอนาคตข้างหน้า ให้ผู้ซื้อติดตามข่าวสารการซื้อขาย ติดตามเทรนด์ในโลกออนไลน์ ณ ปัจจุบันเพิ่มขึ้น รวมถึงการเลือกซื้อบัตรจากงานเอง หรือการซื้อบัตรแบบนัดเจอกันจะเป็นอะไรที่ปลอดภัยที่สุด

ภาพ : istock

ข้อมูล : กองปรามปราม