วันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นวันพิเศษที่ 4 ปีมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้น โดยเรามีชื่อเรียกวันนี้ว่า วันอธิกวาร หรือ Leap Day ซึ่งในปี 2024 กูเกิลได้จัดทำ Doodle ยกย่องให้เป็นวันพิเศษ เพื่อบอกว่า Happy Leap Day! โดยใช้ “กบ” เป็นสัญลักษณ์ของการกระโดดข้ามผ่านเดือนกุมภาพันธ์ไปยังเดือนมีนาคม เพราะ Leap แปลว่ากระโดดนั่นเอง

สำหรับคำที่เกี่ยวกับวันนี้ ครูลิลลี่ เคยอธิบายไว้ในคอลัมน์ “คนดังนั่งเขียน” ในไทยรัฐออนไลน์ ว่า คำว่า "อธิกวาร" ประกอบด้วยคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตทั้งหมด หน่วยหน้าศัพท์ อธิก หมายถึง เกิน หรือ เพิ่ม ส่วนคำว่า วาร แปลว่า "วัน" จึงหมายถึงวันที่เพิ่มขึ้น

ส่วนคำว่า ปีอธิกสุรทิน ตามพจนานุกรม คำว่า อธิก- อ่านว่า อะ-ทิ-กะ หรือ อะ-ทิก-กะ เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า ยิ่ง เกิน มาก เพิ่ม เป็นคำนาม

คำว่าสุรทิน มาจาก สุร + ทิน ทิน แปลว่า "วัน" สุร จะแปลว่า “ผู้กล้าหาญ นักรบ หรือ พระอาทิตย์” ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระอาทิตย์ สุรทิน จึงหมายถึง “วันทางสุริยคติ” ซึ่งตามปกติเดือนกุมภาพันธ์ทั่วไปที่มี 28 วัน จะเรียกว่า "ปีปกติสุรทิน" และเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันว่า “ปีอธิกสุรทิน”

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

สำหรับที่มาของ 1 วันที่เกินมานั้น มีสูตรคำนวณที่เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ้างอิงที่มาจาก รศ.ยืน ภู่วรวรรณ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไว้ว่า การแบ่งปีตามหลักปฏิทินสากลแบ่งได้เป็นปีปกติมี 365 วัน และปีอธิกสุรทินมี 366 วัน โดยเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ขึ้นมาอีกหนึ่งวัน การให้มีปีอธิกสุรทินเพราะโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 365.24218 จึงต้องปรับให้จำนวนวันต่อปีไม่คลาดเคลื่อนกับวิถีการโคจร

การคำนวณเพื่อกำหนดว่าปีใดมี 29 กุมภาพันธ์หรือไม่ ให้มีหลักการของปีอธิกสุรทินที่มีความชัดเจน โดยกำหนดเป็นสูตรไว้ดังนี้ คือ

  1. เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ทุก 4 ปี โดยนำปี ค.ศ.หาร 4 ลงตัว ถือเป็นปีอธิกสุรทิน
  2. ให้ปรับโดยถ้าปีนั้นหาร 100 ลงตัวให้เป็นปีปกติ 
  3. ถ้าหารปีด้วย 400 ลงตัวให้ปรับเป็นปีอธิกสุรทินอีก

หลักการของปฏิทินกรีกอเรียนทุกๆ 400 ปี จะมีการปรับตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ในรอบ 400 ปี จะมีจำนวนวันทั้งสิ้น 146,097 วัน ตัวเลข 146097 หารด้วย 7 ลงตัว ดังนั้นปฏิทินระบบนี้จึงลงตัวที่ 400 ปีพอดี และจะซ้ำเดิมอีกครั้ง และหากนำ 146097 หาร 400 จะได้ 365.2425 หรือกล่าวได้ว่า ความยาวเฉลี่ยของปีหนึ่งมีค่าเท่ากับ 65.2425

หากนำมาเปรียบเทียบกับเวลาการโคจรจริงของโลกพบว่าตามหลักการนี้จะทำให้มีข้อผิดพลาดไปหนึ่งวันในช่วงเวลาประมาณ 2,500 ปี นั่นหมายถึง ก่อนรอบ 2,500 ปี จะต้องมีการปรับวันที่กันอีกหนึ่งครั้ง ซึ่งหลายต่อหลายคนได้นำเสนอให้ปรับให้ปีที่หารด้วย 1600 ลงตัว ให้มี 365 วันอีกครั้ง.