“ปีอธิกสุรทิน คืออะไร” คำถามชวนสงสัยที่มักจะเกิดขึ้นในปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ซึ่งใน 4 ปีจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไทยรัฐออนไลน์ชวนทำความรู้จัก ปีอธิกสุรทิน คือปีอะไร เปิดที่มาและความหมายในบทความนี้
ปีอธิกสุรทิน คืออะไร มีที่มาอย่างไรบ้าง
ปีอธิกสุรทิน (ภาษาอังกฤษ : Leap Year) เป็นชื่อเรียกของปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายไว้ว่า อธิกสุรทิน หมายถึง วันที่เพิ่มขึ้นในปีสุริยคติ คือ ในปีนั้นเพิ่มวันเข้าในเดือนกุมภาพันธ์อีก 1 วัน เป็น 29 วัน ส่งผลให้ในปีนั้นจะมีทั้งหมด 366 วัน ซึ่งจะเกิดเพียง 4 ปีครั้งเท่านั้น
เดิมทีปฏิทินโรมันกำหนดไว้เพียงปีละ 10 เดือนเท่านั้น แต่ในยุคจูเลียส ซีซาร์ กษัตริย์โรมันได้สังเกตว่าการนับเวลาดังนี้ ส่งผลให้ปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล จึงมีการปรับจำนวนวันและเพิ่มเดือนใหม่อย่างมกราคมและกุมภาพันธ์ และกำหนดให้แต่ละเดือนมี 31 วัน และ 30 วัน คละกันเรื่อยๆ มีเพียงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะมี 29 วัน และในปีอธิกสุรทินจะมี 30 วัน
ต่อมาในยุคสมัยของออกัสตุส ซีซาร์ก็ได้เปลี่ยนปฏิทินใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้เดือนสิงหาคมมี 31 วัน โดยดึงจากวันของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนใหม่ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาแทน ส่งผลให้ในปีปกติ หรือปีปกติสุรทิน เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน และในปีอธิกสุรทิน เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน
...
สรุปปีอธิกสุรทินทำไมถึงต้องมี 4 ปีครั้ง
แม้ว่าเราจะได้ยินกันมาบ้างว่าโลกเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 365 วัน แต่ในความเป็นจริงแล้วใช้เวลา 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที หรือเฉลี่ยเป็น 365.25 วัน ดังนั้น ส่วนที่เกินมา 0.25 จึงจะต้องรวมให้ถึง 1 วัน ซึ่งใช้เวลา 4 ปี ส่งผลให้ทุกๆ 4 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์จึงมีทั้งหมด 29 วันนั่นเอง
อธิกสุรทินและอธิกวารต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจเกิดความสับสนระหว่างอธิกสุรทินและอธิกวาร ซึ่งคำว่า “อธิกสุรทิน” นั้นเป็นชื่อเรียกของปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ส่วนคำว่า “อธิกวาร” หมายถึง วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ และมีการนำมาเรียกวันที่ 29 กุมภาพันธ์ หรือ Leap Day นั่นเอง
ปีอธิกสุรทินมีปีไหนบ้าง
นอกจากปี 2024 นี้แล้ว เดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 วัน จะตรงกับปีไหนอีกบ้าง สามารถคำนวณจากสูตรไว้ดังนี้
- ปีที่ถือเป็นปีอธิกสุรทิน คือ ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน และสามารถนำปี ค.ศ. หารด้วย 4 ลงตัว
- หากปีนั้นหารด้วย 100 ลงตัว จะยังคงให้เป็นปีปกติ แต่ถ้าปีนั้นหารด้วย 400 ลงตัว ให้ปรับไปเป็นปีอธิกสุรทิน
จากสูตรคำนวณ ส่งผลให้บางปี เช่น ค.ศ. 1700, ค.ศ. 1800, ค.ศ. 1900 หรือ ค.ศ. 2000 ไม่นับเป็นปีอธิกสุรทินนั่นเอง
กิจกรรมที่นิยมทำในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ (Leap Day)
ตามธรรมเนียมความเชื่อในฝั่งตะวันตกบางประเทศ เชื่อว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ ต้องรอถึง 4 ปี จึงจะตรงกับปีอธิกสุรทิน หากใครที่เกิดในวันนี้จะได้รับการเฉลิมฉลองแบบพิเศษ มีการมอบของขวัญ หรือมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมแลกแต้มสุดคุ้ม กิจกรรมลดราคาสินค้า หรือการแจกส่วนลดหรือโค้ดพิเศษสำหรับเฉลิมฉลองในวันนี้ร่วมด้วย
Google Doodle ร่วมเฉลิมฉลองวัน Leap Day ในปีอธิกสุรทิน
ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ทาง Google ก็ได้ร่วมฉลองด้วยการเปลี่ยน Doodle ใหม่เป็นรูปกบในบึงน้ำ โดยลักษณะบัว กบ โขดหิน และไม้น้ำ แทนตัวอักษรคำว่า Google ส่วนตัวเลขบนโขดหินแทนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และ 1 มีนาคมที่จะมาถึง ส่วนหมายเลขบนตัวกบตรงกลางแทนวันที่ปัจจุบัน หรือวันที่ 29 กุมภาพันธ์นั่นเอง