19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สวนโมกข์ กรุงเทพฯ เปิดพื้นที่ต้อนรับแขกรับเชิญจากต่างพื้นที่ ต่างวิถี ต่างอาชีพ ต่างวัย และหลากหลายศาสนา ที่เคยเป็น “คนต้นเรื่อง” ในเพจ “ทำอะไรก็ธรรม” รายการชวน หา ‘ธรรม’ และเห็นธรรมที่เข้าถึงได้ ง่ายเพียงลงมือ ‘ทำ’ ในซีซัน 1 และ 2 ที่ผ่านมา ได้มาพบหัวใจดวงเดียวกันก่อนจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้

งานนี้เรียกสั้นๆว่ากิจกรรมรวมมิตร เป็นการเปิดโอกาสให้คนใจอาสาและภาคีเครือข่าย แขกรับเชิญที่ล้วนเคยเป็น “คนต้นเรื่อง” ในเพจทุกคน ได้มารวมตัวกัน ล้อมวงแลกเปลี่ยน แบ่งปันกำลังใจ โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญก็คือ การร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ “อาสายังไง ให้ใจแข็งแรง” โดย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ที่ปรึกษารายการทำอะไรก็ธรรม และ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา หนุ่มคราฟจากปัตตานี ที่ออกแบบทั้งชีวิตและชุมชน และ มิสตุ๋ย- อรัญญา นิติวัฒนานนท์ อดีตครูคาทอลิก ผู้ผันชีวิตตัวเองมาเปิดบ้าน new life ให้กับเด็กขาดโอกาสทุกเชื้อชาติในจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน มี อุ๋ย บุดดาเบส และ พิชญาพร โพธิ์สง่า พิธีกรรายการทำอะไรก็ธรรม เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมบนเวที

...

งานนี้มีคนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 200 คน แถมยังถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ให้คนที่ไม่ได้มาได้ร่วมรับฟังเรื่องราวดีๆไปพร้อมๆกันด้วย

ตลอดช่วงของการพูดคุยกันบนเวที คำที่มีการเอ่ยถึงมากที่สุดคำหนึ่งคือ ‘ความรัก’ ซึ่งอาจจะถูกกล่าวถึงด้วยคำเรียกที่แตกต่างหลากหลาย แต่ใจความคือสิ่งเดียวกัน

พระอาจารย์ไพศาล ซึ่งเป็นผู้คิดชื่อเพจ “ทำอะไรก็ธรรม” กล่าวเปิดการเสวนาว่า “เรามีใจดวงเดียวกัน แม้ว่าเราจะห่มผ้าต่างกัน” ศาสนาพุทธเรียกความรักแบบไม่มีเงื่อนไขให้ต้องสะท้อนรักนั้นกลับมาที่ตนว่า “เมตตา” ศาสนาคริสต์สอนว่า “จงรักกันและกันให้เหมือนที่พระเจ้า รักเรา” คัมภีร์ของอิสลามมีบันทึกไว้ว่า “พระเจ้ารักคนที่ทำเพื่อมนุษยชาติที่สุด”

“ศาสนาไม่ได้พิสูจน์ความรักหรือความถูกต้อง แต่การรักผู้อื่นด้วยวิถีที่ถูกต้องต่างหาก ที่พิสูจน์ความถูกต้องของการมีอยู่ของศาสนา” พระอาจารย์ไพศาลกล่าวและว่า “การรักผู้อื่น คือ การพิสูจน์ความถูกต้องของการมีศาสนาหรือการมีธรรมะ”

เรื่องราวการพูดคุยบนเวทีวันนี้ทำให้ย้อนนึกถึงปณิธาน 3 ประการที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ฝากไว้ นั่นก็คือ 1.การเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน 2.การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา และ 3.ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม

ซึ่งพระอาจารย์ไพศาลอธิบายว่า “ความโกรธเกลียดทำให้สามารถจะฆ่ากันได้ เป็นกันทั่วโลก ประเทศไทยก็ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้เหมือนกันและวัฒนธรรมของความละโมบ มาในรูปของบริโภคนิยม ถ้าคนเราเข้าถึงหัวใจของศาสนาที่ตนเองนับถือ เช่น ถ้าเป็นชาวพุทธเราก็จะเห็นทุกคนเป็นเพื่อน เราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือ ยึดมั่นในความเห็น ความเชื่อ ความคิด หรือในทฤษฎีของตัวของตน

“ถ้าเราเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เราจะโกรธเกลียดกันน้อยลง เข้าใจเพื่อนต่างศาสนามากขึ้น เราจะมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน แล้วก็หัวเราะเยาะตัวเองได้” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต สอนกิจกรรมในช่วงเช้าของการรวมตัวในวันนี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นการเกื้อกูลระหว่างกันอย่างไร้กำแพงขวางกั้น อาหาร ขนม เครื่องดื่มถูกส่งต่อจากมือสมาชิกครอบครัวเครือข่ายทำอะไรก็ธรรม ทั้งแขกรับเชิญ ทีมงาน และผู้ที่สนใจเข้าร่วม ผ่านการตักบาตรกลุ่มพระอาสาคิลานธรรม เพื่อนำความรักและความห่วงใยเหล่านี้ส่งต่อไปถึงเด็กๆอีกหลายสิบชีวิตในความดูแลของ มิสตุ๋ย คนต้นเรื่อง ในรายการทำอะไรก็ธรรม ตอน “ในนามแห่งความรัก” และอีกตอนหนึ่งที่มีคุณเอ็มโซเฟียน เป็นต้นเรื่อง นั่นก็คือ “มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน” ซึ่งเป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนชีวิตของแขกรับเชิญทั้งสองท่านที่ได้สื่อสารบนเวที

...

สาระสำคัญที่ทุกคนได้สื่อสารในวันนี้ ถ้าฟังอย่างตั้งใจจะพบว่า เป็นแนวคิดที่สอดคล้องไปกับรูปแบบการจัดกิจกรรมและแนวคิดในการผลิตสื่อธรรม สำหรับคนรุ่นใหม่ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายในบริบทของการดำเนินชีวิตของแขกรับเชิญที่ได้ดำเนินไปในทุกๆวัน โดยไม่ได้ถูกจำกัดหรือออกแบบให้ติดกรอบของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

2 ซีซันของเพจ “ทำอะไรก็ธรรม” เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านแขกรับเชิญมากกว่า 20 คน 20 เรื่องราว ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนนับร้อย นับล้าน

แอน-ศศวรรณ จิรายุส หัวหน้าฝ่ายสื่อสารงานธรรม (ส่วนสร้างสรรค์และกิจกรรมพิเศษ) หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เล่าถึงแนวคิดตั้งต้นของการทำรายการว่า สำหรับคนไม่ชอบเข้าวัด ไม่อินพิธีกรรมทำบุญ แค่อยากพบความสุขในชีวิตแบบธรรมดาๆ ขอชวนให้มาทำความรู้จักกับเขาทุกคนเหล่านี้ ขณะที่ดูเขาเราอาจได้เห็นตัวเองเช่นกัน รายการนี้ไม่ได้ชวนใครไปเข้าวัด ทำบุญ แม้กระทั่งสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิ แต่ชวนไปเห็นทางเลือกหลากหลายของทางเข้าไปสัมผัสความสุขที่อยู่ใกล้ แค่ในสิ่งที่ทำ และแม้จะเป็นรายการขนาดสั้นเพียง 10 กว่านาที แต่ก็คัด มาให้เห็นถึงวิถี วิธีคิด เครื่องมือในการค้นหาความหมายและการก้าวข้ามของคนต้นเรื่องแต่ละท่านได้อย่างให้พร้อมเลือกหยิบเพื่อนำมาใช้งานกันต่อรวมถึงอาจสร้างโครงข่ายเชื่อมร้อยนำพาเส้นทางของเราให้ได้มาพบกันอย่างเช่นกิจกรรมในวันนี้ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกหัวใจได้มาพบกัน ตอกย้ำให้ตระหนักว่า “บุญ คือ ความหมายหนึ่งของความสุข”

...

ขณะที่ เบิ้ม–วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการผลิตสื่อธรรม ทำอะไรก็ธรรม กล่าวถึงความรู้สึกในงานว่า

“สำหรับผมไม่ง่ายเลยสำหรับการสร้างสรรค์รายการดีๆสักรายการหนึ่ง ที่ทำให้การเล่าเรื่องน่าสนใจ ที่สำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้องในเนื้อเรื่อง ให้พันผูกกันเป็นพลังแห่งธรรม ผมคิดว่าการสังเคราะห์รายการร่วมกันในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของการพัฒนารายการไปในอนาคต” วีรพงษ์บอกและว่า รายการที่ดีต้องมีการนำไปใช้และขยายผลและสามารถยกระดับคนดูและสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนในรายการเองหรือคนที่เกี่ยวข้องหรือคนรอบข้างก็ได้ทั้งหมด

...

วีระพงษ์ บอกว่า เขามองว่าการทำรูปแบบรายการลักษณะนี้จะเป็นบทเรียนในการพัฒนารายการและการนำเสนอใหม่ๆในอนาคตต่อให้กลุ่มผู้ชมไปได้อีกเรื่อยๆ เขาท้าตนเองเสมอๆ และในฐานะของคนสนับสนุนและผู้อยู่เบื้องหลัง ขอชื่นชมทุกคนที่เกี่ยวข้องพร้อมๆกันในวาระนี้

ชวน หา ธรรม ง่ายๆได้ที่เพจทำอะไรก็ธรรม รวมถึงการเผยแพร่ผ่านภาคีเครือข่ายหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ และเตรียมพบกับซีซันใหม่ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของเครื่องมือชีวิตชุดใหม่ที่กำลังเตรียมออกอากาศในเร็วๆนี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม