จากอดีตนักกีฬาปีนหน้าผาทีมชาติไทย ซึ่งได้นำความชอบของตัวเองมาแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจ ผ่านการนำ Pain points ในฐานะลูกค้า ปรับจูนจนเกิดเป็นกิจการปีนหน้าผาจำลองของตัวเองที่มีชื่อว่า Balance Climbing 

ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้นัดพบกับ อิสระ คุลีเมฆิน ผู้จัดการ Balance Climbing ยิมปีนหน้าผาจำลองติดแอร์ ซึ่งตั้งอยู่อาคารเบลล์ แกรนด์ ใจกลางของย่านพระราม 9 

สิ่งแรกเมื่อย่างเท้าเข้ามาสู่ยิมหน้าผาจำลองแห่งนี้ ควรต้องกล่าวว่า ยิมแห่งนี้มีความแตกต่างจากยิมหลายแห่งที่เปิดให้บริการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องปรับอากาศภายในยิม มีโต๊ะให้นั่งทำงาน หรือรับประทานอาหาร รวมถึงที่จอดรถในร่ม 

อิสระ คุลีเมฆิน ผู้จัดการ Balance Climbing
อิสระ คุลีเมฆิน ผู้จัดการ Balance Climbing

อิสระ มาพบกับเราในชุดสบายๆ ด้วยเสื้อฮู้ดดี้สีเทา ก่อนที่จะถอดเสื้อฮู้ดดี้ออกเผยให้เห็นเสื้อยืดสีเขียวน้ำทะเล ซึ่งสกรีนคำว่า Balance Climbing

...

อะไรที่ทำให้เขาคงหลงใหลในกีฬาปีนหน้าผา? อิสระให้คำตอบกับเราว่า อย่างแรกคือมันเป็นกีฬาที่อิสระ สามารถเลือกเส้นทางการปีนได้เอง “ยกตัวอย่างเช่นถ้าวันนี้เราอยากผ่อนคลายก็เลือกปีนเลเวลที่ง่ายๆ ไม่ยากนักก็ได้” เขา กล่าว

เราถามต่อว่าความยากง่ายของการปีนหน้าผาจำลองถูกกำหนดด้วยอะไร? อิสระอธิบายให้เราฟังว่า การแบ่งความยาก-ง่ายของการปีนผาจำลองถูกกำหนดโดย Route setter 

ในเรื่องความยากง่ายของการปีนผา สามารถดูได้จากเส้นทางที่ง่ายที่สุดก็จะมีข้อกำหนดว่า ห้ามยกขาสูงเกินหัวเข่า ระยะเอื้อมต้องไม่เกินข้อศอก คนตัวเล็กต้องเล่นได้ รวมถึงเรื่องของการใช้เทคนิค ต้องใช้การทรงตัวมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

ความยากง่ายของการปีนแต่ละเส้นทางถูกกำหนดโดย Route setter
ความยากง่ายของการปีนแต่ละเส้นทางถูกกำหนดโดย Route setter

“ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น เลเวล 1-2 ของการปีนหน้าผาจำลองก็คล้ายกับการเดินบันไดไปเปลี่ยนหลอดไฟ แต่พอเป็นเลเวลที่ 3-4 จะมีเรื่องของเทคนิคการทรงตัว พอเป็นเลเวลที่สูงกว่านั้นก็จะมีเทคนิคที่ปลีกย่อยลงไปเรื่อยๆ” อิสระ กล่าวต่อไปว่า “ในยิมของเราสูงสุดก็อยู่ที่เลเวล 9 ซึ่งระดับนี้ก็อยู่ในระดับของทีมชาติ หรือคนที่มีประสบการณ์การเล่นเป็นเวลาหลายปี ผ่านการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง”

เราขอย้อนกลับมาคุยเรื่องของ “Route Setter” เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมในส่วนนี้ อิสระ กล่าวว่า นี่คืออาชีพที่เฉพาะทางมากๆ สำหรับกีฬาปีนหน้าผาจำลอง โดยขอบเขตและหน้าที่ความรับผิดชอบของ Route setter จะต้องดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันเส้นทางที่ถูกกำหนดก็ต้องสนุกด้วย กล่าวคือต้องผสมผสานความยากและความสนุกเข้าด้วยกัน 

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปีนหน้าผาจำลองถูกคิดจากหลักการของ Beginner friendly
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปีนหน้าผาจำลองถูกคิดจากหลักการของ Beginner friendly

เมื่อมองย้อนกลับไปอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจลงมือเปิดยิม Balance Climbing แทนที่การใช้บริการตามยิมปีนผาจำลองสถานที่ต่างๆ “ผมรู้สึกว่ากีฬาปีนผาเป็นกีฬาที่ใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ยิมที่มีอยู่ในตอนนี้ ‘ไม่ได้ตอบโจทย์’ สำหรับคนที่อยากลองหัดเล่นครั้งแรก ดังนั้นยิมที่ผมเปิดเองจะต้องให้ความรู้สึกที่เป็น ‘Beginner friendly’ ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีพนักงานของเราคอยแนะนำมือใหม่ทุกคน 15 นาที ซึ่งยิมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนสอนให้ฟรีสักเท่าไร เช่นเดียวกับการแนะนำกฎกติกาการเล่น คำแนะนำตอนที่หมดแรงแล้วควรกระโดดลงมาแบบไหนถึงจะปลอดภัย” อิสระ บรรยายความรู้สึก

...

ในส่วนอัตราค่าบริการ เขาบอกว่า เป็นแบบเหมารายวัน วันละ 450 บาท ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไวไฟ บอร์ดเกม เป็นต้น

อิสระชวนเรากลับมาคุยเรื่องของความเป็น “Beginner friendly” ของ Balance Climbing เขาบอกว่า ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่ากำแพงปีนผาจำลองของที่นี่ “ไม่สาก” ซึ่งเราได้ถามต่อทันทีว่า “สาก” หรือ “ไม่สาก” มีความสลักสำคัญมากน้อยแค่ไหน

รองเท้าสำหรับปีนผาถือเป็นอุปกรณ์เฉพาะของกีฬาชนิดนี้
รองเท้าสำหรับปีนผาถือเป็นอุปกรณ์เฉพาะของกีฬาชนิดนี้

อิสระ อธิบายในส่วนนี้ให้เราฟังว่า ถ้าเป็นยิมปีนหน้าผาจำลองแห่งอื่นจะมีลักษณะพ่นทรายเข้าที่กำแพง ซึ่งถ้าข้อศอกไปขูดกับกำแพง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเลือดออก แต่ที่นี่ออกแบบโดยใช้กำแพงที่มีความเรียบ เมื่อมือไปถูก็จะไม่เป็นไร แต่ถ้าชนเข้ากับกำแพงเต็มที่ที่สุดก็คือเกิดการช้ำ แต่ไม่มีแผล

...

อิสระ เสนอจุดขายของสิ่งที่ Balance Climbing มีแต่ที่อื่นไม่มี นั่นก็คือ เรื่องของ “รองเท้าเช่า” ซึ่งทำให้เราสงสัยไม่น้อยว่า แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร? อิสระเล่าว่า รองเท้าให้เช่าของ Balance Climbing เป็นเกรดเดียวกับรองเท้าสำหรับกีฬาปีนหน้าผาจำลองโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในแง่ของการกันลื่นแก่ผู้สวมใส่ แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันตรงที่จะทำให้กำแพงจะเลอะ “แต่ทั้งนี้ รองเท้าต้องเช่าแยกต่างหากจากค่าใช้บริการรายวัน โดยคิดค่าบริการ 150 บาท” 

แม้ว่ากีฬาปีนหน้าผาจำลองในประเทศไทย เป็นกีฬาที่ถือได้ว่าค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่อิสระเชื่อว่ากีฬานี้มีแนวโน้มเติบโตได้น่าสนใจ โดยเฉพาะจากผู้คนจำนวนมากในช่วงโควิด-19

ปีนหน้าผาจำลอง กีฬาเพื่อคนแอคทีฟ
ปีนหน้าผาจำลอง กีฬาเพื่อคนแอคทีฟ

“ผมเดาว่าคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่แอ็กทีฟ (Active) เมื่อออกไปท่องเที่ยวไม่ได้ เขาก็เลยมองหากิจกรรมทางเลือกใหม่ที่สร้างความท้าทายแก่ชีวิต ซึ่งสิ่งนั้นก็คือการลองมาปีนผา” อิสระ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้แล้ว กีฬาปีนผายังมีความสอดคล้องกับโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี คุณสามารถมีภาพสวยๆ ขณะที่กำลังปีนหน้าผาลงแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ ได้เลย

...

มีการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ 2 ครั้งต่ออาทิตย์ เพื่อให้นักปีนได้มีเส้นทางการปีนอย่างไม่จำเจ
มีการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ 2 ครั้งต่ออาทิตย์ เพื่อให้นักปีนได้มีเส้นทางการปีนอย่างไม่จำเจ

สำหรับอิสระแล้วสิ่งที่ได้จากกีฬาปีนหน้าผาจำลองเป็นเรื่องของกีฬาที่ปราศจากความน่าเบื่อ ไร้ความจำเจ ซึ่งเขาได้ชี้ไปยังก้อนหินที่อยู่บนหน้าผาจำลองซึ่งอยู่ด้านหลัง “ก้อนหินที่เราเห็นอยู่นี้ เราจะเปลี่ยนตลอดเวลา โดยนักออกแบบหน้าผาจำลอง หรือ Route Setter จะถอดออกมาแล้วติดใหม่ ดังนั้นแล้วในทุกๆ เดือน หรือแม้แต่ทุกอาทิตย์ เราจะมีเส้นทางใหม่ไม่ต่ำกว่า 100 เส้นทาง ถ้าใครเป็นคน ‘ขี้เบื่อ’ มาลองกีฬานี้ได้เลย ไม่มีทางเบื่อแน่ๆ”

“กีฬาปีนหน้าผาจำลองมีข้อดีมากๆ ในแง่ของการสร้างชุมชน การสร้างปฏิสัมพันธ์ การพูดคุยปรึกษาว่าเส้นทางในแต่ละเส้นทางควรปีนอย่างไร บ่อเกิดให้เป็นการสานสัมพันธ์ เป็นเพื่อนกันได้อีกด้วย”