เปิดความหมายของคำว่า ‘การุณยฆาต’ คืออะไร อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างความถูกต้องในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันมีบางประเทศออกกฎหมายให้สามารถทำการุณยฆาตได้แล้ว มีที่ไหนบ้าง
หนึ่งในประเด็นที่ติดกระแสทวิตเตอร์มาตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และเป็นที่สนใจถกเถียงกันอย่างหลากหลายแง่มุมของชาวเน็ต นั่นคือคำว่า #การุณยฆาต ซึ่งมีที่มาจากการเปิดตัวซีรีส์เรื่อง การุณยฆาต บนเว็บไซต์ oneD (ช่อง One31) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายของนักเขียนชื่อดังอย่าง Sammon (หมอแซม พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร) ที่เนื้อเรื่องกล่าวถึง มุมมองของการตายดี ยุติชีวิตดี ในหลากหลายมิติ โดยมีนักแสดงอย่าง ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร และ เจเจ กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม ร่วมแสดงซีรีส์เรื่องนี้ด้วย
การุณยฆาต หนึ่งในข้อถกเถียง และไม่เป็นที่คุ้นชินนักสำหรับสังคมไทย และในอีกหลากหลายประเทศเสียเท่าไร โดยการุณยฆาต หรือ Euthanasia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ประกอบด้วยคําศัพท์ 2 คํา คือ Eu แปลว่า ดี และ Thanatos ที่หมายถึง การตาย รวมความหมายกันจึงแปลว่า “การตายดี และตายสงบ”
...
โดยการทำ "การุณยฆาต" มี 2 ประเภท ประกอบไปด้วย การุณยฆาตเชิงรุก (Active euthanasia) คือ การกระทำที่จงใจปลิดชีวิตของบุคคล เพื่อยุติความทรมาน เช่น การฉีดยากดประสาท เพื่อให้ผู้ที่ต้องการยุติชีวิตนั้นจากไปอย่างช้าๆ และทรมานน้อยที่สุด โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กระทำ
การุณยฆาตเชิงรับ (Passive euthanasia) คือ การยุติการรักษา ซึ่งประกอบไปในหลายๆ ปัจจัยทั้งการตัดสินใจจากครอบครัว แพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง เป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยนั้นได้จากไปตามเวลากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในเวลาอันสมควร
ปัจจุบันประเทศไทย มีกฎหมายรองรับใช้วิธีการ ‘การุณยฆาตเชิงรับ’ ได้ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่ออกเมื่อ 2550 มาตรา 12 ที่ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตจำนงไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดเวลาการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การการุณยฆาตเชิงรุกนั้น เป็นแนวคิดของประเทศตะวันตกสําหรับ ผู้ป่วย หรือผู้ที่ประสงค์ที่จะตัดสินใจในการตายดี มีข้อพิจารณา 3 ประการด้วยกัน พร้อมสาระสำคัญจากเอกสารของรัฐสภาที่กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
ประการแรก : เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
กรณีที่บุคคลอยู่ในภาวะที่เจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพที่มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้มีลมหายใจ หรือไม่รับรู้ความเจ็บป่วยด้วยการใช้ยาระงับความเจ็บปวดทรมาน
มีข้อโต้แย้งกับแนวคิดนี้ว่า คือ เราสามารถนำเทคโนโลยี ไปเอาชนะความเจ็บปวด และทรมานได้มากน้อย และนานเพียงใด โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เราจะแยกแยะระหว่างความเจ็บปวดทรมานที่บุคคลหนึ่งกําลังเผชิญอยู่ ต้องการหลุดพ้น โดยไม่อยากเห็นตนเองมีความทุกข์อยู่ต่อไป และความเห็นทางการแพทย์ที่วินิจฉัยว่าบุคคลนั้นๆ ยังมีโอกาสที่จะเยียวยาและมีชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่งได้อย่างไร
ประการที่สอง : สิทธิส่วนบุคคลที่จะยุติชีวิตลง
กรณีนี้ คือ บุคคลควรมีสิทธิที่จะยุติชีวิตในสภาวะที่พร้อม และสมัครใจต่อการตาย หรือ ‘สิทธิที่จะตาย’ โดยต้องไม่ถูกหยิบยื่นให้กับผู้อื่น นอกจากผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตจะร้องขอเท่านั้น
เงื่อนไขนี้ถูกมองว่ามีช่องว่างหาก ‘ผู้ที่หยิบยื่นความตายให้บุคคลอื่น’ โดยใช้ดุลยพินิจส่วนตัวตัดสินว่าบุคคลนั้นๆ หมดหนทางที่จะเยียวยาได้จากสภาพทนทุกข์ทรมาน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ล่อแหลมต่อการใช้คำว่า ‘การุณยฆาต’ เป็นเครื่องมือ และมีความฟุ่มเฟือยจนเกินไป
ประการที่สาม : บุคคลไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้และไร้การรับรู้ทางสมอง
ผู้ป่วยไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง การยืดชีวิตไว้ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยหรือไม่ เราจะมีทางเลือกอย่างไรบ้าง สําหรับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะ “ฟื้นไม่ได้ตายไม่ลง” จะถือว่าเป็นการยืดชีวิตโดยที่ผู้ป่วยไม่ปรารถนา จะทนกับภาวะทรมานนั้นอีกต่อไปหรือไม่
...
โดยข้อนี้มีทางออกอยู่ในปัจจุบัน คือ การให้สิทธิผู้ป่วยวาระสุดท้าย อยู่ในสภาพที่พร้อมตายอย่างมีศักดิ์ศรีสงบ และมีสติ โดยมีคนรักรอบข้างที่ยอมรับการจากไป และเห็นความตายเป็นธรรมชาติแนวคิดในซีกวัฒนธรรมตะวันตกเช่นนี้ เป็นที่มาของการจัดหาสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospiceหรือ In-Home hospice ) ให้เตรียมตัวตาย ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและตายอย่างมีสติปราศจากการยืดชีวิตไว้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ
‘การุณยฆาตเชิงรุก’ อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ และมีบางประเทศที่สามารถทำได้แล้วเช่นกัน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่แต่ละประเทศเหล่านี้ได้กำหนดอย่างชัดเจน
ประเทศที่ออกกฎหมายให้ใช้ ‘การุณยฆาตเชิงรุก’ ได้บ้าง
- ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สวิสเซอร์แลนด์ มีกฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาได้ว่า แพทย์สามารถกระทําการุณยฆาตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องมีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูลเหตุที่จงใจทําให้ผู้อื่นตาย โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยยุติชีวิตด้วยวิธี Physician Assisted Suicide (PAS) ตั้งแต่ปี 2485 ปัจจุบันมีแคปซูลการุณยฆาต (Sarco) เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายแบบไม่ทุกข์ทรมาน ซึ่งถูกใช้งานครั้งแรกในช่วงปี 2022
...
- ประเทศเนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกมีการออกกฎหมายรองรับ การุณยฆาต ตั้งแต่ปี 2539 โดยประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2545 และพบว่าสถิติการตาย ประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดต่อปีเกิดจาก การุณยฆาต นอกจากนี้ กฎหมายยังเปิดกว้างให้ผู้ป่วยอายุ 12-16 ปีมีสิทธิร้องขอ การุณยฆาต ได้โดยพ่อแม่หรือญาติให้คํายินยอม
- ประเทศลักเซมเบิร์ก
ประเทศที่การทำการุณยฆาตถูกต้องตามกฎหมาย และยื่นผ่านเมื่อปี 2551 โดยกำหนดให้การการุณยฆาตเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโดยต้องให้แพทย์ 2 คน ขึ้นไปอนุมัติเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย
- ประเทศออสเตรเลีย
ประเทศออสเตรเลีย เคยมีกฎหมายนี้ที่ใช้ได้แค่ใน Northern Territory เท่านั้น ที่รองรับให้แพทย์สามารถ กระทําการุณยฆาต ได้ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยเอง และญาติผู้ป่วยร้องขอ หรือกรณีที่แพทย์ มีส่วนช่วยเหลือในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อปลิดชีพตามความต้องการของผู้ป่วย และกระทําด้วย “น้ํามือ” ของผู้ป่วยเอง โดยภายหลังที่มีเหตุการณ์ ผู้ป่วย 4 ราย ปลิดชีพตนเองด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้ง รัฐบาลจึงได้สั่งยกเลิกกฎหมายทันทีในปี พ.ศ. 2540
ณ ปัจจุบันออสเตรเลียเพิ่งมีประกาศใช้กฎหมายภายในรัฐวิกตอเรีย Voluntary Assisted Dying Act 2017 ที่อนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่จะเสียชีวิตภายใน 6 เดือนเท่านั้น
- ประเทศเบลเยียม
มีกฎหมายให้ทำการุณยฆาตได้ในปี พ.ศ. 2545 โดยการยุติชีวิต สามารถอนุญาตให้กระทำโดยเฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่ และให้มีผลบังคับใช้กับผู้ป่วยเด็กในอีก 2 ปีต่อมา โดยต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการยุติชีวิตของผู้ป่วย แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่าแพทย์จะมีสิทธิ์กระทําการุณยฆาตทารก ที่มีอาการสมองตายได้หรือไม่
...
- ประเทศแคนาดา
กฎหมายนี้เริ่มในสมัย นายกรัฐมนตรีจัสติน พีเอร์ เจมส์ ทรูโด ในปี 2559 โดยมีข้อบังคับในการใช้กฎหมายนี้เฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย และต้องไม่มีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วย กำหนดเงื่อนไขในการยื่นคำร้องในการทำการุณยฆาต และการฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ดังนี้ ผู้ป่วยต้องมีสัญชาติแคนาดาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ต่างชาติรับบริการ เพื่อป้องกันการท่องเที่ยวเชิงการุณยฆาต (Euthanasia/Suicide Tourism), ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี), ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาวะที่ทนทุกข์ทรมานและมีอาการที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว และต้องอยู่ใกล้ความตายในระดับสามารถคาดการณ์ได้อย่างมีเหตุมีผล, ผู้ป่วยยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ในการตายอย่างสมัครใจและปราศจากแรงกดดันจากภายนอก และผู้ป่วยได้รับข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาของตน รวมถึงการดูแลแบบประคับประคองด้วย
- ประเทศโคลอมเบีย
ประเทศในโซนอเมริกาใต้ ที่มีการประกาศใช้กฎหมายให้มีการทำการุณยฆาตอย่างถูกต้องในปี 2553 ซึ่งจะอนุญาตสำหรับผู้ป่วยบางประเภทเท่านั้น เช่น โรคเอดส์ ไตวายล้มเหลวจากมะเร็งตับ และโรคที่ทำให้ผู้ป่วยทรมานที่ต้องมีอาการอยู่ในระยะสุดท้าย หรือเสียชีวิตในเวลาอีกไม่เกิน 6 เดือน สามารถจบชีวิตตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ยังไม่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตกับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับทางสมอง
- ประเทศเอกวาดอร์
เอกวาดอร์ เพิ่งจะผ่านความเห็นชอบทางกฎหมายให้การุณยฆาตได้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 นี้ สาเหตุคือ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ได้ยื่นคำร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยการพิพากษานี้เป็นของศาลรัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ มีมติเห็นชอบ 7 คน จากทั้งหมด 9 คน
กฎหมายนี้มีกำหนดโดยให้บุคลากรแพทย์สามารถทำการุณยฆาต กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ โดยถือว่าไม่มีความผิด และถูกจำคุกเพื่อการรักษาสิทธิในการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของผู้ป่วย เป็นประเทศที่สองต่อจากประเทศโคลอมเบีย ในทวีปอเมริกาใต้
เรื่องของการ 'การุณยฆาต' เป็นเรื่องหนึ่งที่มีข้อถกเถียงในหลายแง่คิด และแง่มุม โดยยังคงมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่อนุญาตให้การุณยฆาตอย่างถูกกฎหมายมักจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และอนุญาตเฉพาะคนในประเทศของตนเองเพียงเท่านั้น บางประเทศมีเรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม และช่องว่างทางกฎหมายที่ยังแอบซ่อนอยู่เยอะมากมาย นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ การุณยฆาต จึงยังไม่เป็นที่นิยม และยอมรับเสียเท่าไรนัก
ภาพ : istock
ข้อมูล : รัฐสภา