เมื่อเอ่ยถึงธุรกิจเซียงกงซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน หลายคนจะนึกถึงธุรกิจค้าขายอะไหล่รถยนต์ ตั้งแต่รถยนต์ส่วนบุคคลไปจนถึงรถยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับ พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้มาตั้งแต่วัยเด็กเพราะเป็นทายาทธุรกิจเซียงกงรายใหญ่ในย่านถนนรองเมืองกลับต้องการหาความท้าทายที่แปลกใหม่ ด้วยการผันตัวเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ City EV แบรนด์ชั้นนำของจีนมาบุกตลาดไทยเป็นรายแรก

“ผมมีไอเดียว่าในเมื่ออาณาจักรส่วนใหญ่ของที่บ้าน ทางพี่ชายทำหน้าที่ดูแลไปแล้ว ทำไมเราไม่อัปเกรดมาทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาขายในไทยบ้างล่ะ”

พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ หรือ เอ็ดดี้ ประธานบริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด เล่าให้กับทีมไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการพลิกธุรกิจค้าขายอะไหล่ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่คุณปู่กับคุณพ่อของเขาช่วยกันบุกเบิกตลาดเซียงกงในไทยตั้งแต่เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นผู้ผลิตและนำเข้าอะไหล่รถยนต์รายใหญ่ในวันนี้ แต่เขาขอสร้างความแตกต่างด้วยการขอแยกตัวมาเปิดธุรกิจของตนเองเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบบมัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) แห่งแรกของไทย

พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ทายาทธุรกิจเซียงกงรุ่นที่ 2 ที่ขอผันตัวมาเปิดตลาดนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนขนาดเล็กในไทยเป็นรายแรก
พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ทายาทธุรกิจเซียงกงรุ่นที่ 2 ที่ขอผันตัวมาเปิดตลาดนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนขนาดเล็กในไทยเป็นรายแรก

...

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์ DFSK หรือ DONGFENG ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของจีน รวมถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียม SERES และรถยนต์ไฟฟ้าแบบ City EV แบรนด์โวลด์ (VOLT) และแบรนด์วู่หลิง (WULING) แต่ผู้เดียวในประเทศไทย

พิทยา ผู้บริหารหนุ่มวัย 36 ปี มีพี่ชาย 2 คน เขาเป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว และได้ไปศึกษาชั้นมัธยมปลายที่มณฑลเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะบัญชี สาขาการบัญชีและการเงิน มหาวิทยาลัย University of Southern California (USC) ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้เข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติหลายแห่งเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้สะสมความรู้ทั้งด้านการเงิน การตลาด และมุมมองที่มีต่อวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก

“ตอนผมเรียนจบ คุณพ่อถึงกับลงทุนบินไปรับผมกลับมาทำงานที่บ้าน เพราะกลัวว่าผมจะไม่ยอมกลับมา” เขาเล่าย้อนถึงความทรงจำขณะนั้นด้วยอารมณ์ขัน

จุดเปลี่ยนจากธุรกิจเซียงกงสู่ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า

หลังจากกลับมาเขาก็พบว่าพี่ชายคนโตและคนรองที่อายุห่างจากเขา 9-10 ปี ต่างทำหน้าที่ดูแลธุรกิจเซียงกงของครอบครัวได้ดีอยู่แล้ว ประกอบกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เกิดกันคนละเจเนอเรชันกันกับพี่ชายและคุณพ่อคุณแม่ เขาจึงต้องการทำธุรกิจอื่นที่แตกต่างออกไป แต่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน นั่นคือการนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มต้นทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV อย่างที่เห็นในวันนี้ เขาเคยทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์สันดาป เช่น รถเมล์ รถบรรทุก รถทัวร์ สำหรับใช้งานในเชิงพาณิชย์มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะตอนนั้นรถยนต์แบรนด์จีนไม่ได้รับการยอมรับเท่าปัจจุบัน และมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนักในเรื่องความน่าเชื่อถือ

จนกระทั่งช่วงก่อนโควิด-19 จะแพร่ระบาด ทางรัฐบาลจีนได้ผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในหลายๆ ด้านทั้งในมุมของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ จึงทำให้หลายบริษัทเร่งกันพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของรูปลักษณ์ที่สวยงาม ไปจนถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ล้ำสมัย เพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ภายใต้มาตรฐานที่ได้รับการทดสอบจนเป็นที่น่าเชื่อถือ จึงได้ยกระดับรถยนต์แบรนด์จีนอย่างก้าวกระโดด

โวลต์ ซิตี้ อีวี (Volt City EV) คือรถยนต์ไฟฟ้า City EV รุ่นแรกที่ อีวี ไพรมัส นำเข้ามาทำตลาดในไทย เพื่อบุกเบิกการทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกในราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยาก (ภาพจาก Volt Thailand)
โวลต์ ซิตี้ อีวี (Volt City EV) คือรถยนต์ไฟฟ้า City EV รุ่นแรกที่ อีวี ไพรมัส นำเข้ามาทำตลาดในไทย เพื่อบุกเบิกการทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกในราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยาก (ภาพจาก Volt Thailand)

...

“ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องที่ใหม่มากอยู่เลย อย่างเช่น เทสล่า (Tesla) คนที่เป็นเจ้าของได้จะต้องมีรายได้มากพอสมควร ส่วนคนทั่วไปก็ยังไม่ได้มองถึงโอกาสของการใช้รถ EV เพราะยังไม่มีความมั่นใจในหลายๆ ด้าน ผมก็เลยเลือกนำ โวลต์ ซิตี้ อีวี (Volt City EV) มาเป็นตัวแรกในการทำตลาด เพราะเรามองว่ารถคันเล็กสะดวกกับการใช้ในเมือง วัตถุประสงค์ของเราคือให้ใช้เป็นรถเสริมคู่กับรถหลักที่มีใช้งานประจำในบ้านอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ลองสัมผัสดูว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นยังไง ช่วยประหยัดจริงไหม มีความล้ำสมัยกว่ารถน้ำมัน หรือแตกต่างยังไงบ้าง ก็เลยเป็นที่มาของรุ่นนี้ หลังจากนั้นก็เราก็ต่อยอดมาเป็นแบรนด์วู่หลิง (Wuling) ซึ่งเป็นรถเล็กเช่นเดียวกัน”

ประกอบกับในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนในไทยที่ตอนนี้มีรายใหญ่เข้ามาทำตลาดเป็นจำนวนมาก แต่มักจะเป็นรถส่วนบุคคลขนาดใหญ่ เช่น ซีดาน SUV ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองเห็นช่องว่างของการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า “City EV” ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับรถ Eco Car ที่เราคุ้นเคยกันในรถสันดาป เพราะยังไม่เคยมีใครทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในไทยมาก่อน เขาจึงต้องการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนหลากหลายแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กโดยเฉพาะ

“เรามีจุดยืนของตัวเองชัดเจนว่าเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายรถ City EV รายเดียวในไทย ถึงแม้ว่าตลาดจะไม่กว้างมาก แต่เราก็มองว่ามันเป็นตลาดที่มีเราเล่นอยู่คนเดียว และเราทำได้ในสเกลของเรา”

จุดเด่นที่ไม่ซ้ำใครของรถ City EV แบรนด์จีน

แม้ว่าแบรนด์วู่หลิง (Wuling) อาจจะไม่คุ้นหูคนไทยส่วนใหญ่มากนัก แต่ความจริงแล้ววู่หลิงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอันดับต้นๆ ของจีน และยังอยู่ภายใต้เครือเดียวกับเซี่ยงไฮ้มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนที่มีบริษัทลูกอย่างแบรนด์ MG และ GM อีกด้วย จึงทำให้มั่นใจได้ในมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี

...

“แบรนด์วู่หลิงเป็นแบรนด์ที่จุดประกายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน เพราะตอนนั้นยังใหม่มาก แต่พอมีราคาแค่หลักแสนกว่าบาทและมีคุณภาพดีเกินราคา ก็ทำให้คนจีนเลือกใช้เป็นรถเสริมใช้คู่กับรถน้ำมันที่เป็นรถหลัก โดยใช้ขับไปซื้อของ ขับไปส่งลูก ก็เลยเป็นเทรนด์ของการมีรถคันที่สอง โดยมีรถน้ำมันเป็นรถใช้งานหลัก แล้วมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้เป็นรถเสริม ไม่ได้จะเอามาใช้ทดแทน แต่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทดลองใช้ เพื่อให้เข้าใจว่ามันคืออะไร”

วู่หลิง (Wuling) เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก โดยอยู่ภายใต้บริษัทใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ จึงมั่นใจได้ในเรื่องความน่าเชื่อถือ
วู่หลิง (Wuling) เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก โดยอยู่ภายใต้บริษัทใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ จึงมั่นใจได้ในเรื่องความน่าเชื่อถือ

...

ภายในช่วง 3-4 ปีแรกที่วู่หลิงเปิดตัวรถ City EV ออกมา ก็สามารถขายได้ไปกว่า 2-3 ล้านคัน ภายในเวลาแค่ 2-3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกยอมรับมากนัก วู่หลิงจึงช่วยจุดประกายเริ่มต้นให้กับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในจีนมากขึ้น

ด้านพฤติกรรมลูกค้าในไทย เขาก็มองว่าไม่ต่างจากชาวจีนมากนัก โดยส่วนใหญ่มักจะใช้รถ City EV ขับในเมืองเป็นหลัก เน้นการขับระยะสั้นๆ ไม่ได้ขับออกต่างจังหวัด และต้องยอมรับว่าพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ยังชอบรถคันใหญ่มากกว่า การใช้รถ City EV จึงช่วยตอบโจทย์เพื่ออำนวยความสะดวกในเมืองได้เป็นอย่างดี

ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าที่อาจกระทบต่อธุรกิจค้าขายอะไหล่

สำหรับข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีอยู่หลายข้อด้วยกัน ทั้งเรื่องของการประหยัดน้ำมัน อัตราการเร่งที่เร็วกว่ารถสันดาป รูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยวทันสมัย และอีกหนึ่งข้อสำคัญที่ทำให้เหนือกว่ารถสันดาปก็คือมีอะไหล่เครื่องยนต์น้อยมาก ซึ่งช่วยลดค่าดูแลรักษาส่วนนี้ไปได้มาก

พิทยา มองว่าการมาของรถยนต์ไฟฟ้ากระทบกับธุรกิจค้าขายอะไหล่ภายในเครื่องยนต์ แต่ไม่กระทบกับการขายอะไหล่ตัวถังรถภายนอก และยังมีมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า มาเป็นอะไหล่ทดแทน
พิทยา มองว่าการมาของรถยนต์ไฟฟ้ากระทบกับธุรกิจค้าขายอะไหล่ภายในเครื่องยนต์ แต่ไม่กระทบกับการขายอะไหล่ตัวถังรถภายนอก และยังมีมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า มาเป็นอะไหล่ทดแทน

ในฐานะทายาทธุรกิจเซียงกงที่ค้าขายอะไหล่รถยนต์เป็นหลักก็เปิดใจยอมรับในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะนี่คือข้อดีที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์สันดาปอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็มองว่าถึงแม้อะไหล่เครื่องยนต์และช่วงล่าง เช่น หัวเทียน ไดสตาร์ต หัวฉีดน้ำมัน ฯลฯ ในรถยนต์ไฟฟ้าจะหายไป แต่ชิ้นส่วนอะไหล่ภายนอกต่างๆ ก็ยังต้องมีเหมือนเดิม รวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่แบบใหม่ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ จะเข้ามาทดแทน

นอกจากนี้เขายังมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อะไหล่ต่างๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยกังวลว่ามีราคาสูง เช่น แบตเตอรี่ ก็จะมีราคาถูกลงตามไปด้วย และคาดว่าอีกไม่นานจะเริ่มเห็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามือสองมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้คนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้นกว่าเดิม

ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง