เปิดแนวคิด ประเด็น และความสำคัญของ ‘การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน’ จากผู้ที่มีส่วนร่วมในโครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ที่ร่วมกันปลุกพลังเยาวชน ช่วยกันต่อยอดผลงานศิลปะ จุดประกายแนวทางให้เด็กไทย ได้มีโอกาสก้าวสู่สังคมในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ
“เด็กธรรมดา...คือสิ่งสวยงาม” คำนิยามง่ายๆ บนแนวคิดที่น่าสนใจจากโครงการ ไฟ-ฟ้า โครงการ CSR กิจกรรมเพื่อสังคมของ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี) ที่จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ภายใต้ปรัชญา “Make REAL Change” เพื่อที่จะมอบโอกาสให้กับเยาวชนอายุ 12-17 ปี ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านศิลปะ และกีฬา พร้อมทักษะการใช้ชีวิต และการต่อยอด เพื่อที่นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพัฒนาในสังคม และคืนสิ่งดีๆ สู่สังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
หนึ่งในโครงการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อ “การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน” ที่จะมอบโอกาสการศึกษาเพิ่มเติม ให้แก่เด็กที่มีทางเลือกไม่มากนักทางสังคม โดยกรองเด็กจากความตั้งใจ พื้นหลังของเด็กๆ ที่มีความน่าสนใจ เพื่อมาฟูมฟักให้เด็กเหล่านี้เติบโตมาอย่างประสิทธิภาพ
...
การเลือกเยาวชนในช่วงอายุ 12-17 ปี เพราะว่า เด็กวัยนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เริ่มตัดสินใจเอง และควรมีทางเลือกที่ดี รู้จักนำความรู้ไปเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ดีขึ้นในลำดับต่อไป
เด็กที่ได้เข้าร่วมโครงการจะสามารถเลือกเรียนสิ่งที่ตนเองสนใจในด้านต่างๆ 8-10 วิชา โดยศูนย์การเรียนรู้ ไฟ-ฟ้า ที่เปิดมาแล้ว 15 ปี ทั้งหมด 5 แห่ง ประกอบไปด้วย ประชาอุทิศ, จันทน์, บางกอกน้อย, สมุทรปราการ และนนทบุรี
ไทยรัฐออนไลน์ ได้ร่วมพูดคุย กับผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการ ทุกกระบวนการตั้งแต่ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ของทีเอ็มบีธนชาต, ครูอาสาในโครงไฟ-ฟ้า และนักเรียนศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจ รวมถึงแนวคิดในการผลักดันส่งเสริม การขับเคลื่อนเยาวชนไทยให้ไปสู่งฝั่งฝันอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ คืนความยั่งยืนสู่สังคมในอนาคต
‘การสอนจับปลาแทนการให้ปลา’ ฉนวนปรัชญาสอนเด็ก ที่สร้างความยั่งยืนสู่สังคม
บุคคลแรกที่ทางทีมไทยรัฐออนไลน์ ได้ร่วมพูดคุยด้วย คือ คุณสา หรือ มาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน จากทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เพื่อพูดคุยถึงความเป็นมา แนวทาง ของโครงการไฟ-ฟ้า ที่น่าสนใจนี้ว่า “ตั้งแต่ริเริ่มโครงการมา 15 ปี โครงการไฟ-ฟ้า เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น เด็ก เพราะเชื่อคำพูดที่ว่า ‘เด็กคือ อนาคตของชาติ’ ถ้าเด็กเติบโตมาอย่างดี มีแนวทางที่ถูกต้อง สังคมคงจะดีขึ้นไม่น้อย”
คุณสา กล่าวถึง “ที่มาของคำว่า ไฟ-ฟ้า โดยเปรียบคำว่า ‘ไฟ-ฟ้า’ เหมือนแรงขับเคลื่อน แะการจุดประกายให้แก่เด็กๆ เหล่านี้ โดย ‘ไฟ’ เปรียบเสมือนพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคน ส่วน ‘ฟ้า’ สีแห่งการให้”
หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน เล่าต่อว่า “การทำโครงการนี้เพียงเพื่ออยากปลูกฝังเยาวชนเหล่านี้ได้ค้นพบศักยภาพตัวเอง แล้วก็ผ่านการเรียนรู้ที่ถูกต้อง โดยยึดปรัชญา ‘การสอนจับปลาแทนการให้ปลา’ ที่เน้นเรื่องขององค์ความรู้ที่เด็กๆ สนใจ นำมาต่อยอดสู่ความยั่งยืนได้รอบด้าน”
ค่าใช้จ่ายของ ‘ศูนย์การเรียนรู้ ไฟ-ฟ้า’ คือ การคืนความรู้สู่สังคมอย่างยังยื่น
ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า เปรียบเสมือนแหล่งเรียนพิเศษของกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่มีโอกาสทางสังคมไม่มากนัก ซึ่งจะมีวิชา และกิจกรรมที่ไม่ต่างอะไรจากสถาบันสอนพิเศษ ประกอบไปด้วย ศิลปะ มวยไทย เทควันโด เต้น ร้องเพลง การเป็นยูทูบเบอร์ และอีกมากมาย โดยทางศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า จะมีครูอาสา ครูผู้เชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ คอยหมุนเวียนกันมาเติมเต็มความรู้ในด้านต่างๆ ที่นักเรียนนั้นสนใจ
...
โดยศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จะเปิดให้บริการแก่นักเรียนทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เมื่อเด็กๆ มีเวลาว่างก็สามารถมาศึกษาได้ตลอดเวลาตามความสนใจไม่ว่าจะหลังเลิกเรียน หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
แม้ว่าที่ศูนย์จะเปิดให้เรียนฟรี แต่ทางศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จะมีการคัดเลือกเด็กที่มีโอกาสน้อยทางสังคม เพื่อให้ได้มีโอกาสเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ
คุณสา มาริสา เล่าถึงขั้นตอนการคัดเลือกว่า “การคัดเลือกของเราจะเลือกจากเด็กที่มีรายได้น้อย ไปจนถึงปานกลาง เราจะมุ่งเน้นไปที่เด็กที่ขาดโอกาส หรือมีต้นทุนไม่เท่ากับเด็กคนอื่นๆ ด้วยการสัมภาษณ์”
เติมความรู้ในส่วนที่สามารถ ลดโอกาสที่มีไม่เท่ากันของเด็ก คุณสา เล่าว่าในเรื่องนี้ว่า “ปัจจุบันมีเด็กที่ไม่มีโอกาสมากมายในสังคม บางครอบครัว แค่ส่งลูกเรียนโรงเรียนประจำก็เป็นภาระที่หนักแล้ว ทางเราจึงริเริ่มโครงการนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เด็กเหล่านี้ได้สัมผัสโอกาสเท่าเด็กคนอื่นๆ บ้าง”
“แม้ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เรามีขอข้อแม้ที่เป็นเงื่อนไข คือ เด็กที่จบการศึกษาจากเราไป ต้องคืนความรู้ที่ได้จากเราไปคืนสู่สังคมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เช่น รูปแบบผลงานที่มูลนิธิผลักดันที่ สร้างรายได้ นำคืนสู่มูลนิธิเพื่อโอกาสของเด็กรุ่นถัดไป การแชร์ประสบการณ์ หรือการกลับมาต่อเติมองค์ความรู้ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม วนเวียนเป็นวัฏจักรที่สร้างสรรค์ต่อไป”
...
สุดท้ายแล้ว คำนิยามของคำว่า ‘การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน’ “เด็กพอมีความรู้ มีวิธีการต่อยอด เด็กที่ด้อยโอกาสก็จะไม่ต้องมานั่งรอโอกาส รอเงินบริจาคอีกต่อไป แต่สามารถต่อยอดความรู้นี้ นำไปสร้างรายได้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือ การกลับมา นำความรู้ที่ได้ มาต่อยอดให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะกลาง ถึงระยะยาว ที่ทรงประสิทธิภาพ คืนคุณค่าดีๆ ทั้งสู่ตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืนในที่สุด” คุณสา หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน กล่าวทิ้งท้าย
ไฟ-ฟ้า โดย ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จึงเป็นหนึ่งในโครงการแห่งการ “ให้” ที่ยั่งยืน และได้จับมือพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK) ต่อยอดผลงาน และไอเดียสร้างสรรค์ของเด็กไฟ-ฟ้า ในคลาสศิลปะให้ทดลองลงสนามจริง เพื่อจุดประกายและพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ
โดยการเปิดพื้นที่ MOCA BANGKOK จัดนิทรรศการแสดงผลงานของเยาวชน นำเสนอให้สังคมได้เห็นพลังของเด็กๆ ที่ซ่อนอยู่เพื่อรอ “โอกาส” และ “การให้” มาเติมเต็มความมั่นใจให้มีเส้นทางที่เด่นชัดสามารถเปล่งประกายเป็นผลงานที่โดดเด่นออกสู่สายตาสาธารณชนในวงกว้าง พร้อมเปิดให้ทุกคนสัมผัสประสบการณ์ทางศิลปะและการสร้างสรรค์ผลงานสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพของเด็ก ๆ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2567
...
โครงการเหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ และไม่สามารถผลิดอกออกผล ถ้าไม่มีผู้ที่คอยเติมความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อน สร้างแรงกระตุ้นให้แก่เด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพเพื่อก้าวสู่โลกแห่งความเป็นจริง เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เจ้าของแบรนด์แฟชั่น 31 Thanwa ครูอาสาโครงการไฟ-ฟ้า ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และมุมมองของการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้
เก๋ บุณยนุช กล่าวถึงความในใจว่า “จุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานกับโครงการไฟ-ฟ้า เกิดจากการชักชวนของคนรู้จัก และตอบตกลงอย่างง่ายดาย เพียงเพราะเรารู้สึกว่ามันเป็น โครงการที่เจ๋งดีนะ เหมือนเป็นการช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กๆ น้องๆ ให้เขามีแนวทางปฏิบัติ มีความรู้ในการนำไปต่อยอดให้กับตัวเองได้ จึงเกิดความรู้สึกที่อยากจะมาช่วยเด็กๆ อย่างเต็มที่ เพราะเรามีพื้นฐานการเป็นอาจารย์พิเศษอยู่แล้วด้วย จึงมีความสุขมากๆ ที่ได้เข้าแชร์ประสบการณ์ และมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้”
“ตัวเก๋เอง ยังมองว่า การเข้ามาทำในหน้าที่ตรงนี้ แม้จะเป็นหนึ่งในการให้ที่เล็กๆ สำหรับตัวเราเอง แต่กลับยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับเด็กเหล่านี้ ที่จะได้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ มีคุณค่า และโอกาสทางสังคมที่เขาอาจมีไม่เท่าคนอื่นในวัยเด็ก ให้เติบโตอย่างดี เพื่อชีวิตที่ดีของเขาในอนาคต ทั้งตัวเด็กเอง ครอบครัว ชุมชน หรือแม้กระทั่งสังคมด้วยเช่นกัน”
การเปลี่ยนแปลงของเด็กในยุคใหม่ บนโลกที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว
เจ้าของแบรนด์แฟชั่น 31 Thanwa ให้ความเห็นว่า “นี่คือ หนึ่งในปัจจัยที่เราอยากเข้าไปมอบประสบการณ์ และผลักดันตัวเราในการเข้าไปสอนน้องๆ เหมือนกันนะ เพราะว่า ในสมัยเราเด็กๆ กว่าเราจะได้ประสบการณ์อะไร ต้องอดทน พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง กลับกันเด็กเหล่านี้ในปัจจุบันเติบโตกันอย่างรวดเร็ว การที่เราได้เข้ามาเติมองค์ความรู้ สอนประสบการณ์จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ผลักดันน้องๆ ให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ บนเส้นทางที่เหมาะสม มีภูมิต้านทานที่ดี และมีกำลังใจในช่วงวัยที่สำคัญ”
คุณเก๋ กล่าวเสริมว่า “หลังจากได้เข้าไปสอนแล้ว ก็ตกใจเหมือนกันว่า เด็กสมัยนี้เติบโตไวมาก เรียนรู้ไว มีความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ และความพิเศษของเด็กเหล่านี้ที่เขาไม่ได้มีกำลังเท่ากับเด็กคนอื่นๆ เขาจึงพยายาม และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ไวกว่าคนอื่นๆ ในเชิงความรู้ ความเข้าใจ”
“เก๋ จึงหยิบนำเนื้อหาที่จะสอนอื่นๆ ที่ไม่ใช่หลักสูตรในชีวิตประจำวัน แต่จะสอนไปในด้านอื่นๆ ที่เด็กๆ จะสามารถนำมาดัดแปลงประยุกต์ใช้ได้ เช่น ด้านธุรกิจ หรือแรงบันดาลใจในการนำสิ่งที่ชอบมาต่อยอด เพราะว่าสุดท้ายแล้วเด็กเหล่านี้เขาต้องเติบโต พอโตแล้วมันจะไม่มีคนมาคอยไกด์ คอยสอนแล้วว่าชีวิตจริงอะต้องทำยังไงต่อไป เราจะอยู่แค่ในหลักสูตรไม่ได้ จึงอยากให้น้องๆ ได้ประสบการณ์ในส่วนอื่นๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้เอง และเพิ่มความสนุกในสิ่งที่ได้จากการเรียนที่มากกว่าเดิม เพราะความเรียนรู้ไวของเด็กสมัยใหม่ เราจึงต้องพัฒนาการเติมความรู้อีกขั้น เพื่อเขาได้รู้จักโลกที่กว้างขึ้นตั้งแต่เด็กๆ”
เทคโนโลยี มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตได้ไวกว่าเดิม
มุมมองของ เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ มองเด็กยุคใหม่บนโลกแห่งเทคโนโลยีไว้ว่า “ปัจจุบันเด็กเติบโตได้ไวมากในการนำสิ่งที่เรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจ โดยที่เราไม่ต้องสอนเขา แต่บางครั้งเขากลับกลายเป็นคุณครูของเราได้เลยในบางครั้ง”
“เชื่อไหมว่า บางผลงานที่เด็กคิดสร้างสรรค์ออกมา ไม่ว่าจะผ่านเทคโนโลยี หรือไอเดียทำให้เราทึ่งได้เหมือนกันนะว่าเด็กสมัยนี้ เติบโตไปได้ไกลกว่าสมัยของเรามากๆ ต้องขอบคุณโลกแห่งเทคโนโลยี และต้องยอมรับว่าเด็กบางคนเก่งกว่าเราเยอะมากเลยนะ ทางเก๋ จึงเลือกหยิบยก การสอนแบบอื่นที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อนำมาให้น้องๆ ได้ประยุกต์ใช้แทน เพราะถึงแม้ว่าเด็กเขาจะเก่งมากๆ ก็จริง แต่เด็กเหล่านี้ยังไม่สามารถหาตัวตนของตัวเองได้ชัดเจน หรือมีประสบการณ์ได้มากเท่ากับตัวเรา เราก็เลยทำหน้าที่ผลักดัน เกลาในส่วนนี้ เปิดไอเดียแนวคิดใหม่ๆ ให้เขานำไปคิดต่อยอดเพิ่ม เพื่อปูทางให้เขาเติบโตไปได้ไกลกว่าเดิม เก๋เชื่อนะว่า เด็กเหล่านี้จะสามารถเติบโตไปได้ดีอย่างแน่นอน” คุณเก๋ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
แผนการต่อยอด ที่มากกว่าการเรียน การสอน คือ “การพาเด็กลงสนามรับประสบการณ์จริง”
เนื่องจากการเติบโต และพัฒนาการของเด็กๆเหล่านี้นั้นไวกว่าเดิม ทางไทยรัฐออนไลน์จึงสอบถามไปยัง เก๋ บุณยนุช ว่าอยากให้เด็กๆ ได้ลองอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมกว่านี้อีกบ้าง โดยแผนของ เจ้าของแบรนด์แฟชั่น 31 Thanwa เป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างมาก
เก๋ บุณยนุช ได้ เล่าแนวทางแก่เราว่า “ตัวเก๋เอง มีแบรดน์ธุรกิจแฟชันเป็นของตัวเอง เก๋ จึงมีไอเดียว่า อยากนำผลงานศิลปะของน้องๆ มาคอลแลบส์ลงบนสินค้าของเก๋เลย เนื่องจากว่า อยากให้น้องๆ รู้สึกภูมิใจในผลงานของตัวเองมากขึ้น และสัมผัสกับประสบการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่าผลงานของเขาได้ ‘ลงสนามจริง’ แล้วนะ มีสินค้าขึ้นห้าง งานของเขาจะมีผลตอบรับอย่างไร ถูกใจตลาดหรือเปล่า แล้วรอบหน้าควรปรับแก้ตรงไหนเพื่อมอบประสบการณ์ที่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ให้แก่ตัวเด็กๆ โดยไม่ใช่ผลงานที่ตัวน้องเขานำไปขายในที่ต่างๆ และถูกซื้อเพียงเพราะความสงสาร ความอยากอุดหนุน บนแฟลตฟอร์มการบริจาคเพียงเท่านั้น
“เพียงเพราะว่าอยากให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขาเป็นศิลปิน โดยเชื่อว่า อาจเป็นไอเดียที่เติมเชื้อไฟ ความมั่นใจ และความมุ่งมั่นให้ลุกโชนแก่เด็กๆ บนโลกแห่งความเป็นจริง”
เดินทางมาถึงคนสุดท้ายแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทาง ไทยรัฐออนไลน์ อยากจะสัมผัสถึงความรู้สึก ด้วยไฟอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เด็กน้อยวัย 15 ปี น้องเนย กฤตยา ตรีสวัสดิ์ ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สาขาประชาอุทิศ ที่จะมาบอกเล่าถึงความรู้สึก และประสบการณ์ที่ถูกเติมเต็มด้วยการเดินลงสนามจริง ในการที่ได้โชว์ผลงานศิลปะอันสร้างสรรค์ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK) จะรับพลังบวก และความรู้สึกอย่างไรกลับไปต่อยอดในการใช้ชีวิตในอนาคตข้างหน้า
ทีมไทยรัฐออนไลน์ได้เจอกับ น้องเนย กฤตยา ตรีสวัสดิ์ อายุวัยเพียง 15 ปี เด็กตัวเล็ก บุคลิกร่าเริงปนความเขินอายเพียงเล็กน้อย จึงได้มีโอกาสพูดคุย และสอบถามถึงความตั้งใจ ความใฝ่ฝัน และความรู้สึก ต่อผลงานในครั้งนี้
จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ถูกต่อยอดจนยิ่งใหญ่ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ
เด็กตัวเล็กวัยเพียง 15 ปี กล่าวถึง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มหลงรักในงานศิลปะ เพียงเพราะว่า ชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรก และสนใจที่จะต่อยอดความรู้ โดยการก้าวเข้ามาเรียนเพิ่มเติมที่ศูนย์เรียนรู้ ไฟ-ฟ้า สาขาประชาอุทิศ
น้องเนย กฤตยา ตรีสวัสดิ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจดังกล่าวว่า “จริงๆ ในช่วงแรกๆ ไม่ได้ชอบการวาดรูปสักเท่าไร จนกระทั่งเพื่อนได้ชวนหนูไปนั่งวาดรูปเล่น ในช่วงประถมศึกษาปีที่ 1 จนมารู้ตัวอีกทีว่า ‘ตัวหนูเองได้นั่งวาดรูป และคลุกคลีไปกับมันทั้งวันไปแล้วเรียบร้อย’ จนกลายเป็นชอบไปโดยปริยาย ซึ่งตอนนี้ก็ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นที่เรียบร้อย”
“ในระยะเวลา 8 ปี พอรู้ว่าตัวเองเริ่มรักในงานศิลปะ ก็เริ่มสนใจไปศึกษางานของศิลปินท่านอื่นๆ หลายๆคน รวมถึง รุ่นพี่ที่โรงเรียน เขาวาดออกมาดูสวยมาก เลยเป็นแรงผลักดันให้ผลงานของตนเองออกมาเป็นแบบนั้นบ้าง”
เทคนิคการเรียนรู้ในห้องเรียน ที่ถูกต่อยอดด้วยเทคโนโลยี
เนย กล่าวว่า นอกจากการได้ศึกษาประสบการณ์ เทคนิคต่างๆ ให้ห้องเรียนแล้ว บ่อยครั้งตนได้นำเทคนิคที่ได้มาผสมผสานกับ เทคนิคของภาพจากศิลปินท่านอื่นๆโดยการที่ลองไปดูงานต่างๆ บน YouTube (ยูทูบ) และ Pinterest (พินเทอเรส) บนโลกออนไลน์ จนเกิดเป็นภาพใหม่ในหัว และลงมือวาดภาพจากจินตนาตรงนั้นออกมา
มุมมองของ เด็กวัย 15 ปี ถึงการต่อยอดการเป็นศิลปินในอนาคต
เนย กฤตยา มีมุมมองที่มาเล่าให้แก่ทีมงานว่า “ตัวเนยเอง ยังไม่แน่ใจว่าจะประกอบเป็นอาชีพ และมีชื่อเสียงได้ขนาดนั้นหรือไม่ เพราะคิดว่ายังหาตัวเองไม่เจอขนาดนั้น และมีสิ่งอื่นที่อยากทดลองทำอยู่อีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม กำไรชีวิตจากงานประสบการณ์ ก็มีความคิดที่จะอยากนำประสบการณ์ตรงนี้ไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับหนู ไม่ว่าจะไปทิศทางไหนก็ตาม แต่ก็มีศาสตร์เกี่ยวกับศิลปะที่อยากนำไปต่อยอดอยู่เหมือนกัน โดยการใส่ผลงานศิลปะลงสิ่งของต่างๆ เช่น ถุงผ้า แก้วน้ำ รถยนต์ กำแพงบ้าน
ผลงาน และความรู้สึก และประสบการณ์บนสนามจริง ของเด็กวัยเพียง 15 ปี
โจทย์ในการนำผลงานมาโชว์ที่ MOCA BANGKOK โดย เนย กฤตยา ได้เล่าว่า พี่หมู (ไตรภัค สุภวัฒนา) ได้ตั้งโจทย์เกี่ยวกับ “พลังแห่งการแบ่งปัน” โดยให้พวกหนูเชื่อว่าเด็กทุกคนมีพลัง ที่สามารถแบ่งปันสังคมที่น่าอยู่ จึงเป็นที่มาของผลงาน fai-fah x PUCK ที่ให้เพื่อนๆ และหนูได้ร่วมออกแบบตัวการ์ตูนที่มีพลังวิเศษในแบบของตนเอง
“โดยผลงานของหนู คือ ตัวฮีโร่ที่ชื่อว่า Happy ที่มีพลังพิเศษในการเปลี่ยนขยะให้เป็นดอกไม้ ด้วยการนำขยะมาใส่ลงบนตะกร้า จึงเกิดเป็นภาพของเด็กสาวที่กำลังร่าเริงอยู่บนผืนหญ้าค่ะ” เด็กสาววัย 15 ปี เล่าด้วยรอยยิ้ม
น้องเนย เล่าถึงความรู้สึกในผลงานเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีตัวเองรู้สึกดีใจ เป็นอย่างมากที่ได้มีผลงานในการนำมาโชว์ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA BANGKOK แห่งนี้ เหมือนกับว่าให้พวกหนูได้มาโชว์ฝีมือให้คนได้เห็น และภูมิใจกับความสามารถของตนเอง ซึ่งกว่าจะมีผลงานมาโชว์ที่นี่ได้ก็ใช้ระยะเวลาพอสมควรค่ะ”
หนึ่งผลงานที่มาจากความสามารถ และความเพียรพยายามของ ‘เนย กฤตยา ตรีสวัสดิ์’ เด็กตัวเล็กๆ วัย 15 ปี ได้ส่งพลังบวกให้กับผู้ร่วมพูดคุยเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าจะสามารถสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้อื่นที่เข้ามาชมผลงานได้อีกมากมาย
สุดท้ายแล้วทาง ทีมไทยรัฐออนไลน์ จึงอยากให้น้องนั้นได้ฝากความคิดเห็น และสิ่งที่อยากให้ทางครอบครัว สถานศึกษา และภาครัฐ ช่วยสนับสนุนเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ และการศึกษานั้นมีด้านใดบ้าง
น้องเนย กฤตยา เด็กสาววัยเพียง 15 ปี ตอบกลับมาว่า ‘มีเรื่องอยากฝาก’ ได้อย่างรวดเร็ว ถึงข้อเสนอแนะที่อยากฝากต่อถึงหน่วยงาน และสถาบันเหล่านี้ว่า
“ลำดับแรก อยากฝากถึงสถาบันการศึกษาว่า อยากให้เลิกกำหนดกรอบ และกฎเกณฑ์ที่มาครอบงานศิลปะอย่างจริงจัง ศิลปะเป็นศาสตร์ที่ไร้กฎเกณฑ์ ไม่มีผิดมีถูก เชื่อว่าคนทุกคนมีความชอบ อิสระทางความคิดที่ไม่เหมือนกัน และความถนัดที่แตกต่างกัน จึงอยากให้ การให้คะแนนผลงานในวิชาศิลปะที่เด็กทำ ไม่ได้มาจากการลงสีต้องถูกต้อง เส้นการวาดภาพต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่อยากให้ดูที่จินตนาการ ความคิด และไอเดียเป็นคะแนนหลักเสียมากกว่า โดยกฎเกณฑ์เหล่านี้อาจเป็นองค์ประกอบเพิ่มในชิ้นงาน”
“ส่วนสถาบันครอบครัว เนยอยากฝากให้เขาส่งเสริม และให้กำลังใจเด็กค่ะ บางครั้งเด็กที่เขาอยากทำงานทางศิลปะจริงๆ คงไม่อยากถูกบังคับ และอยากให้เชื่อว่าศิลปะมันสามารถต่อยอด เป็นอาชีพได้ค่ะ”
ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ สามารถไปให้กำลังใจ และชมผลงานของน้องๆ ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า ทั้ง 5 สาขาได้ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA BANGKOK โดยงานศิลปะภายในงานจะคัดเลือกเสนอผลงานที่โดดเด่นของเด็กไฟ-ฟ้า คลาสศิลปะ กว่า 50 ผลงาน ที่ได้นำมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “เด็กธรรมดา...คือสิ่งสวยงาม” ซึ่งเป็นการต่อยอดกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่าง fai-fah art fest ที่เนรมิตทีทีบี แบงก์กิ้ง ฮอลล์ เป็นพื้นที่โชว์เคสผลงานและการแสดงของเด็กไฟ-ฟ้า ให้ผู้บริหาร บุคลากร และลูกค้าของธนาคาร การนำผลงานของเด็ก ๆ มาจัดนิทรรศการบนหอจัดแสดงชื่อดังอย่าง
MOCA BANGKOK จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะทำให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงพลังและศักยภาพของ ‘เด็กไฟ-ฟ้า’ รวมถึงสร้างความภูมิใจให้กับเด็ก ๆ ว่าผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น