จากเหตุการณ์เครื่องบินเฉี่ยวชนจนเกิดเหตุไฟไหม้ และมีผู้เสียชีวิตที่สนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เบื้องต้น กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยว ของประเทศญี่ปุ่น ได้คาดว่าอาจมาจากความผิดพลาดในการสื่อสาร ซึ่งหอบังคับการบินเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสื่อสารทั้งภายในสนามบิน และระหว่างการบิน
หอบังคับการบิน (Air Traffic Control Tower) คืออะไร
หอบังคับการบิน (Air Traffic Control Tower) หมายถึง หอควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างอากาศยานทั้งบนอากาศ และบนพื้นดิน และช่วยให้จราจรทางอากาศสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย
ผู้ที่ทำหน้าที่ภายในหอบังคับการบินเรียกว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Traffic Controller หรือ ATC) ทำหน้าที่ดูแล กำหนดทิศทาง ความเร็ว และเพดานบินของเครื่องบิน ซึ่งนักบินต้องปฏิบัติตามตั้งแต่บินขึ้นจากท่าอากาศยานต้นทาง หรือเริ่มเข้าเขตรับผิดชอบ (เข้าเขตประเทศ) กระทั่งลงจอดที่ท่าอากาศยานปลายทาง หรือพ้นเขตที่รับผิดชอบ (พ้นเขตประเทศ) อย่างปลอดภัย โดยวัตถุประสงค์หลักของการควบคุมจราจรทางอากาศคือ
- เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างอากาศยานที่บินอยู่ในอากาศ
- เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างอากาศยานกับสิ่งกีดขวางภาคพื้น
- เพื่อให้การจราจรทางอากาศเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ขั้นตอนการควบคุมจราจรทางอากาศ และการทำงานของ ATC
การนำเครื่องบินออกจากสนามบิน
เวลาที่นักบินต้องการนำเครื่องออกจากสนามบิน จะต้องทำแผนการบิน หรือ Flight Plan ส่งให้กับ ATC ได้รับทราบ ในนั้นจะบอกว่าใช้เครื่องบินรุ่นอะไร, ปลายทางคือที่ไหน, สนามบินสำรองคือที่ไหน, เชื้อเพลิงในเครื่องสามารถบินได้นานแค่ไหน, เส้นทางบินที่ใช้, ความเร็ว, เพดานบินที่จะใช้, เวลาที่คาดว่าจะวิ่งขึ้นและจะไปถึง และข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย
...
เมื่อ ATC ได้รับข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะตรวจสอบสภาพอากาศ และทบทวนแผนการบินเพื่อทำ Flight Process Strip ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดิน หลังจากนั้นนักบินจะขอติดเครื่องยนต์, Push Back และ Taxi พอเครื่องบินใกล้ถึงรันเวย์ หอบังคับการบินจะบอกว่า “Cleared for Takeoff” หมายถึงอนุญาตให้นำเครื่องขึ้นได้ และจะแจ้งความถี่วิทยุใหม่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องขาออก (Departure Controller) ให้กับนักบิน เพื่อใช้ในการติดต่อหลังจากนำเครื่องขึ้นแล้ว
เมื่อเครื่องขึ้นไปแล้วนักบินจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะห่างของเครื่องแต่ละลำที่บินอยู่ และต้องบินตามทิศทางที่หอบังคับการบินกำหนดให้จาก Departure Controller เมื่อเครื่องเข้าสู่เส้นทางที่ต้องการแล้ว จะส่งต่อการควบคุมให้ Area Control เพื่อดูแลจนพ้นเขตประเทศต้นทาง
ขณะที่กำลังบินไปตามเส้นทางนั้น เมื่อถึงจุดรายงานตำแหน่ง นักบินจะต้องติดต่อแจ้งข้อมูลให้กับศูนย์ควบคุมฯ ได้ทราบ ในขณะเดียวกันศูนย์ควบคุมฯ ก็จะแจ้งข้อมูลให้กับนักบินทราบตลอดเวลาเช่นกัน ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศอาจจะสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางบิน หรือเปลี่ยนความสูง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หรือความคับคั่งของเครื่องบินในเส้นทางบินนั้น ดังนั้นเที่ยวบินหนึ่งๆ อาจไม่ได้ทำการบินตามแผนการบินที่แจ้งไว้แต่แรกก็ได้ เพราะ ATC จะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
การนำเครื่องบินเข้ามายังสนามบิน
การส่งต่อการควบคุมจะดำเนินไปจนเครื่องใกล้ถึงจุดหมาย Area Control ที่ใกล้กับสนามบินปลายทางจะรับรู้แผนการบินที่สนามบินต้นทางส่งต่อกันมา โดยจะแจ้งให้นักบินลดเพดานบินลงในระยะห่างจากสนามบินที่เหมาะสม รวมทั้งปรับทิศทางบินให้เข้าสู่วงจรการร่อนลงสนามบิน ซึ่งเป็นแนวบินที่กำหนอไว้แล้วสำหรับแต่ละสนามบิน
เมื่ออากาศยานบินเข้าเขตรัศมี 50 ไมล์ทะเลจากสนามบิน เครื่องจะถูกส่งต่อเข้าเขตการควบคุมของ Approach Control ของสนามบินนั้น ซึ่งจะดูแลนำเครื่องเข้าสู่สนามบินตามเส้นทางขาเข้ามาตรฐาน (STAR : Standard Terminal Arrival Route) ซึ่งถูกออกแบบเส้นทางไว้แล้ว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ สภาพการจราจรโดยรวม รวมถึงสนามบินรอบข้าง มากำหนดเป็นเส้นทางที่จะช่วยให้การควบคุมเครื่องบินปลอดภัยที่สุด
เมื่อเข้าสู่แนวร่อนสุดท้าย ห่างจากสนามบินราว 5-10 ไมล์ทะเล หรือจนกระทั่ง Approach Controller เห็นว่าปลอดภัยแล้ว ก็จะส่งต่อการควบคุมให้กับหอบังคับการบิน (Tower) หรือ (Local Controller) หอบังคับการบินซึ่งคอยดูแลเครื่องขึ้น/ลงทั้งหมด ก็จะพิจารณาว่าสามารถนำเครื่องลงได้หรือไม่ ขณะนั้นนักบินก็จะอาศัยเครื่องช่วยเดินอากาศ โดยจับสัญญาณวิทยุที่ส่งจากอุปกรณ์ ILS : Instrument Landing System เพื่อนำเครื่องร่อนลงสู่สนามบินตรงจุดกึ่งกลางรันเวย์ โดยมีระบบไฟส่องสว่างบอกแนวขอบรันเวย์ และมุมร่อนที่ถูกต้อง เป็นตัวช่วยให้ปลอดภัยขึ้นอีกระดับหนึ่ง
...
ขณะที่เครื่องบินกำลังร่อนลง Tower จะตรวจสอบรันเวย์ว่าปราศจากสิ่งกีดขวางหรือไม่ โดยใช้ทั้งเรดาร์ภาคพื้นดิน (สำหรับสุวรรณภูมิ) และกล้องส่องทางไกล เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย (Clear) จึงอนุญาตให้นำเครื่องร่อนลงได้ ด้วยประโยคว่า “Cleared to Land” เมื่อเครื่องบินออกจากรันเวย์เรียบร้อยแล้ว จะส่งต่อการควบคุมไปให้ Ground Controller ในขั้นสุดท้าย เพื่อนำเครื่องบินไปสู่จุดจอด เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการควบคุมการจราจรทางอากาศ.
ข้อมูลอ้างอิง : วิทยุการบินแห่งประเทศไทย, สายการบินไทยสไมล์