ท่ามกลางกระแสการปลุกปั้น “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ให้โด่งดังเปรี้ยงปร้าง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผ้าไทย” คือหนึ่งในพลังละมุนที่สร้างบิ๊กอิมแพกต์ ดึงดูดชาวโลกให้หันมาสนใจไทยแลนด์

“คู่รักมหาดไทย” อย่าง ปลัดกระทรวงมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” และ “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คือต้นแบบของการใช้ศิลปหัตถกรรมไทยสร้างรายได้ให้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

คู่รักมหาดไทย
คู่รักมหาดไทย

...

“นับเป็นบุญของพวกเราทุกคนที่พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ทอดทิ้งพวกเรา ทำให้ได้มีวันนี้ วันที่ผ้าไทยได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เพราะในยุคหนึ่งคนไทยจะคุ้นชินกับวัฒนธรรมการแต่งกายกระแสนิยมจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “5 ย” คือ ผมยาว เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง สะพายย่าม ทำให้ในขณะนั้นผ้าไทยเกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ที่ทรงอุทิศพระกำลังกาย พระสติปัญญา และพระกำลังทรัพย์ ทุ่มเทเสียสละให้พวกเรา อันเป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” ทรงปรารถนา อยากให้เกษตรกรได้มีรายได้เสริมด้วยพรสวรรค์ที่มือสองมือของคนไทยทำอะไรก็สวยงาม จึงทรงนำผ้าไหมไทยของชาวบ้านมาตัดฉลองพระองค์ และทรงสวมใส่ในทุกวาระโอกาส ทำให้ผ้าไทยกลับมาเฉิดฉายงดงามให้คนไทยและคนทั่วโลกได้สัมผัส ได้เห็น ได้เชยชมอีกครั้งหนึ่ง กอปรกับผู้นำประเทศ คือ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกการดำเนินชีวิตประจำวัน ยิ่งทำให้เกิดกระแสค่านิยมการแต่งกายผ้าไทยของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนทั่วประเทศ อยากให้ทุกคนเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกโอกาส เพื่อให้สมาชิกในบ้าน ญาติมิตร ได้เกิดกระแสนิยม และสวมใส่กันทุกวัน ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา” ได้พระราชทานไว้ เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ได้ในทุกโอกาส โดยทรงทำให้ผู้ประกอบการผ้า ช่างทอผ้า ตัดเย็บผ้า ได้รู้จักการออกแบบ การตัดเย็บ ให้ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย และถูก วาระโอกาสของงานอย่างเหมาะสม เช่น ชุดทำงาน ชุดท่องเที่ยว และชุดลำลอง เพื่อให้คนในสังคมได้ฉุกคิดว่า ผ้าอัตลักษณ์ของพวกเราทุกคนสามารถสวมใส่ได้ ซึ่ง “ผ้าไทย” นอกเหนือจากความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ที่ได้ตกทอดมาให้พวกเราคนไทยที่มีหัวใจของคนที่มีจิตอาสา มีความเสียสละ นึกถึงประโยชน์สุข ประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศชาติแล้ว เงินที่จ่ายไปทุกบาททุกสตางค์ทำให้เรามีเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม ที่ถูกใจ แล้วยังประโยชน์ให้กับคนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า เย็บผ้า จนถึงคนขายผ้าที่เป็นคนไทย จะได้มีรายได้ไปเลี้ยงดูครอบครัว เงินหมุนเวียนกลับสู่คนในชนบท ในภูมิภาคต่างๆอันเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย”

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล

...

ถ้าพูดถึงผู้นำเทรนด์แฟชั่นการใส่ผ้าไทยให้โลกจำ คงไม่มีใครโดดเด่นเกิน “คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล” ต้นแบบการนำผ้าไทยอวดสายตาชาวโลก คุณหญิงบอกเล่าว่า “ปัทมามีความภูมิใจในความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทย จึงมีความสุขมากกับการนำเสนอฝีไม้ลายมือการทอผ้าและความประณีตในงานหัตถกรรมไทยต่อสายตาชาวโลก เวลาเดินทางไปต่างประเทศในภารกิจต่างๆ เช่น การประชุมระดับโลก หรือในโอกาสสำคัญ ปัทมาจะสวมผ้าถุงไทยเสมอ และพยายามถ่ายทอดให้ผู้ที่อยู่รอบตัวเราได้รับความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยว่า การทอผ้าต้องใช้ทั้งทักษะ ประสบการณ์ และจิตวิญญาณ ผ้าไทยเป็นศิลปะวิถีไทยที่บอกเล่าเรื่องราวของคนไทย จนเป็นที่กล่าวขวัญในกลุ่มเพื่อนๆชาวต่างชาติถึงภาพลักษณ์ที่ดีและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย เพื่อนสตรีชาวต่างชาติหลายคนซื้อผ้าไทยจำนวนมากไปสวมใส่เอง และเพื่อนๆชาวต่างชาติผู้ชายซื้อผ้าไทยไปฝากภรรยา สร้างความนิยมผ้าไทยในหมู่ชาวตะวันตก จุดประกายความสนใจและความต้องการมาเยือนประเทศไทยอีกบ่อยๆ การจะใส่ผ้าไทยให้สนุกดูร่วมสมัยควรเลือกผ้าไทยที่ลวดลายและสีสันสดใส เน้นสีที่หลากหลาย สามารถจับคู่สีเสื้อกับสีผ้าถุงอย่างสนุกสนาน ทั้งแบบสีโทนเดียวกันและแบบสีตรงข้ามกันในแบบฉบับของเราเอง เป็นการมิกซ์แอนด์แมตช์ เป็นความสนุกที่ได้คิดออกแบบในแต่ละวันว่า วันนี้จะใส่เสื้อผ้าไหมสีอะไร เลือกถือกระเป๋าใบไหน รองเท้าสีใด ให้เข้ากับผ้าซิ่นผืนนี้ ปัทมาสวมชุดไทยไปในทุกโอกาส ทั้งในงานที่มีรูปแบบทางการ หรูหรา หรือแบบลำลองสบายๆสไตล์สตรีทแวร์ ผ้าถุงไทยของเรามีทั้งลวดลายการทอที่เรียบง่ายไปถึงวิจิตรหรูหรา เลือกใช้ให้เข้ากับแต่ละโอกาสและภารกิจ โดยส่วนตัวชอบสวมชุดไทยที่ตัดเย็บเรียบที่สุด เพราะเน้นสีสันสดใสหลากหลาย จึงเลือกสวมชุดไทยเรือนต้น เป็นเสื้อคอกลมชิดคอ แขนกระบอกสามส่วน กับกระโปรงผ้าซิ่นป้ายหน้า ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายไทยและผ้าไหมไทยยกดอกทอมือ การใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวันสะดวกและคล่องตัวมาก เคล็ดลับคือเลือกกระโปรงผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าลึก จะได้ก้าวเดินขึ้นลงรถและเครื่องบินอย่างคล่องแคล่ว เวลาไปประชุมในต่างประเทศ ผู้คนจดจำปัทมาในชุดไทยเสมอ ข้อดีอีกอย่างของผ้าไทยคือเนื้อผ้าและเส้นใยธรรมชาติของผ้าไทยซับเหงื่อ ระบายอากาศดีเยี่ยม ไม่ร้อน นุ่มผิว และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้”

...

ศุภมาส อิศรภักดี
ศุภมาส อิศรภักดี

...

ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) “ผึ้ง-ศุภมาส อิศรภักดี” ที่ใส่ผ้าไทยไปทำงานทุกวันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว แสดงทัศนะว่า “จะเห็นว่าผึ้งเลือกใส่ผ้าไทยไปทำงานแทบทุกวัน เพราะรู้สึกว่าเราเปรียบเสมือนตัวแทนประเทศไทย ก็มีหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ของดีของไทยอยู่ตลอดเวลา ผึ้งอาจจะไม่ใช่คนรูปร่างเล็ก เราก็ออกแบบให้เข้ากับรูปร่างเรา งานหลักของเราคือการนั่งประชุม ฉะนั้นผึ้งจะใส่ใจกับดีเทลของเสื้อผ้าครึ่งตัวบนเป็นพิเศษ ส่วนกระโปรงท่อนล่างช่างประจำตัวจะมีไซส์ที่ตัดออกมาแล้วไม่รู้สึกอึดอัด แต่สวยสมส่วน ลักษณะของผ้าไทยที่เราเลือกยิ่งทำให้เราดูมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นไปด้วยในตัว เพิ่มลูกเล่นในส่วนที่เราต้องการ หรือนำลายผ้ามาตัดต่อให้เกิดมิติในชิ้นงานได้ใหม่ ที่สำคัญผ้าไทยใส่สบายไม่กลัวร้อน เพราะระบายอากาศได้ดี ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจด้วยว่าผ้าไทยไม่ใช่แค่ผ้าไหมทอแวววาว หรือเอามาตัดเป็นชุดไทยเข้ารูปเท่านั้น ผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าขาวม้า ผ้านุ่งต่างๆ ก็ถือเป็นผ้าไทยด้วยเช่นกัน เราสามารถเลือกชนิดของผ้าที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ หรือการทำงานของตัวเอง คนที่ต้องทำงาน On Field บ่อยๆอาจสนุกกับการแต่งผ้าฝ้ายย้อมเป็นกางเกงทรงเล หรือบางคนที่ไม่ถนัดกับเสื้อผ้า ก็สามารถเลือกใช้กระเป๋าและแอคเซสเซอรีที่ตัดเย็บจากผ้าไทย เพื่อเพิ่มความเก๋ไก๋ได้”

”ถามว่าทำไมควรใส่ผ้าไทยอวดสายตาชาวโลก เพราะผ้าไทยเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และช่วยกันนำเสนอเพื่อให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จัก ผ้าไทยแต่ละลายก็สะท้อนถึงแต่ละพื้นที่ จึงไม่ใช่แค่การโปรโมตเมืองไทย ยังเป็นการโปรโมตจังหวัดหรือชุมชนต่างๆได้อีกชั้น แต่ไหนแต่ไรมางานทอผ้าเป็นงานของผู้หญิง ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้ออกไปไหนอยู่บ้านทั้งวัน ทักษะการทอผ้าจึงกลายเป็นอีกงานฝีมือที่สะท้อนความเป็นกุลสตรีของหญิงสาวแต่ละบ้าน ความพิเศษอย่างมากคือชุมชนที่ผลิตผ้าไทยนั้นมีกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แต่ละพื้นที่ก็จะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป ดึงเอาธรรมชาติแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของลายผ้าด้วย เอกลักษณ์สวยงามที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ ยิ่งทำให้ผ้าไทยมีความสวยโดดเด่นยิ่งขึ้น ผ้าบางลายมีประวัติความเป็นมาย้อนไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มันคือความภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษของเราสามารถสืบสานวัฒนธรรมได้อย่างยาวนาน มองกลับไปในทุกมิติ ก็คือการสะท้อนรากของความเป็นชาติไทย โจทย์ใหญ่คือการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นของผ้าไทยมาสร้างให้เกิดเป็นสตอรี เกิดเป็นพลังดึงดูดให้ผู้คนสนใจ และกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย สร้างรายได้กลับมาที่จุดเริ่มต้นของแต่ละชุมชน”

”ถ้าจำกันได้ที่น้องลิซ่าใส่ผ้าไทยของบุรีรัมย์บ้านเกิด ไปเที่ยวไหว้พระที่อยุธยา ทราบไหมคะว่า มีคนมาซื้อผ้าผืนเดียวกับลิซ่า ที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน คนของพระราชา ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จนยอดขายพุ่งไม่หยุด อันนี้คือพลังของซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่เห็นได้ชัดมาก เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยคุณค่าของยุคสมัยใหม่เข้าไปด้วย ใส่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของการออกแบบเสื้อผ้า ผึ้งชอบไอเดียที่เน้นออกแบบโดยไม่ยึดติดกับ Sizing เช่น กางเกงเล หรือเสื้อคลุมแขนปีกค้างคาว เพราะคนนำไปใส่ได้ง่าย ผสมผสานกับแนวคิดแบบ Eco Friendly หรือการออกแบบผ้าไทยอย่างไรให้เกิด Zero Waste สิ่งเหล่านี้จะทำให้พลังของผ้าไทยมีความร่วมสมัยมากขึ้นและโดนใจชาวโลกมากขึ้น”.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่