รู้จักที่มาของ ‘ขนมปาเน็ตโตเน (ปาเน็ตโทน)’ ขนมแห่งการเฉลิมฉลอง ที่คนอิตาลีนิยมให้กันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส มีที่มาอย่างไร

วันคริสต์มาส (Christmas) คือหนึ่งในเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ทั่วโลก ที่จัดขึ้นเพื่อฉลองวันประสูติของพระเยซู ซึ่งเป็นศาสดาสูงสุดของศาสนาคริสต์ ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่ชาวคริสต์ให้ความสำคัญมากในช่วงเดือนธันวาคม โดยชาวคริสต์ส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมการให้ของขวัญแก่กันและกันเพื่อเฉลิมฉลอง

นอกจากนี้แต่ละประเทศจะมีการแจกขนม ที่เป็นของกินประจำชาติในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ให้แก่กันอีกด้วยเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ซึ่งแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค จะมีการแจกขนมที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ตามวัตถุดิบสำคัญของประเทศนั้นๆ 

โดยขนมที่กำลังเป็นกระแสสำคัญสำหรับประเทศไทย เนื่องจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ใช้ขนมปังชิ้นยักษ์นี้ ในการร่วมเฉลิมฉลองแก่นักข่าวในวันเทศกาลคริสต์มาสของปีนี้ (วันที่ 25 ธันวาคม 2566) โดยนายกฯ เศรษฐาได้สั่งขนมชิ้นนี้มาจากประเทศอิตาลี ซึ่งมีน้ำหนักถึง 10 กิโลกรัมด้วยกัน นั่นก็คือ ‘ปาเน็ตโตเน’ 

...

“ปาเน็ตโตเน” เป็นขนมสัญชาติอิตาลี ซึ่งคำว่า ‘ปาเน็ต’ แปลว่าขนมปัง และ ‘โตเน’ แปลว่าใหญ่ รวมกันก็แปลว่า ‘ขนมปังชิ้นใหญ่’ นั่นเอง ซึ่งเป็นขนมที่คนอิตาลีนิยมทานกัน และให้กันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ปาเน็ตโตเน มีลักษณะเป็นขนมปังทรงสูง มีเนื้อที่นุ่ม รสหวาน สอดไส้ลูกเกด ผลไม้ และเปลือกส้มเชื่อม เป็นขนมที่มีกระบวนการทำที่ซับซ้อน และใช้เวลานาน ส่วนใหญ่แล้วใช้เวลาเกือบสองวัน เกิดจากแป้งยีสต์ธรรมชาติถูกหมักให้พองใหญ่ โดยเติมแป้ง ไข่ เนย น้ำตาล และผลไม้หวาน จนได้ขนาดที่ต้องการ เมื่อแป้งพร้อมแล้วให้ใส่ลงในถ้วยอบกระดาษ พักไว้ให้ขึ้นฟูอีกครั้ง จากนั้นจึงค่อยอบ และพักทำให้เย็น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการจะถูกส่งออกไปทั่วประเทศอิตาลี รวมทั้งยังมีการส่งออกไปทั่วโลกอีกด้วยในช่วงคริสต์มาส

ประวัติของปาเน็ตโตเน

“ปาเน็ตโตเน” เกิดขึ้นในงานเลี้ยงของขุนนางหนุ่มชาวมิลาน ซึ่งเป็นสมาชิกของตระกูล Atellini ที่ได้ตกหลุมรักลูกสาวของคนทำขนมปังชื่อโทนี เพื่อสร้างความประทับใจให้กับพ่อของฝ่ายหญิง ขุนนางหนุ่มจึงปลอมตัวเป็นผู้ช่วยคนทำขนมปัง และคิดค้นขนมปังชนิดใหม่เพื่อมัดใจพ่อตา จึงได้เกิดขนมปังผลไม้ที่ชื่อว่า ปาเน็ตโตเน ที่มีรากศัพท์มาจาก ‘Pan de Toni’ ที่แปลว่า “ขนมปังของโทนี”

อีกหนึ่งตำนานที่ถูกกล่าวขาน คือ เกิดขึ้นในงานเลี้ยงของกษัตริย์ชาวมิลานเช่นเดียวกัน แต่ขนมปังที่ถูกเตรียมไว้ใช้งานรับรองนั้นกลับไหม้หมด ทำให้เด็กหนุ่มที่ชื่อว่า ‘โทนี’ เข้ามามีบทบาทได้ช่วยเหลือพระราชา ด้วยการประดิษฐ์ขนมปังชนิดใหม่ขึ้นมาทดแทนขนมปังที่ถูกเผาไหม้ไปจนหมด เพื่อกอบกู้งานเลี้ยงในครั้งนี้ให้กลับมาดำเนินต่อได้อย่างราบรื่นอีกครั้ง

วิวัฒนาการของปาเน็ตโตเน 

ปัจจุบันปาเน็ตโตเนได้ถูกแพร่กระจายไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีการปรับปรุงสูตร และวัตถุดิบไปอย่างมากมาย โดยมีช็อกโกแลต พลัม มะนาวหวาน มะนาว หรือถั่วพิสตาชิโอ เพื่อทดแทนลูกเกดและเปลือกส้มเชื่อม ขึ้นอยู่กับสูตรของร้านนั้นๆ

โดยทั่วไปแล้วปาเน็ตโตเนจะเสิร์ฟพร้อมกับสปาร์กลิงไวน์ และตกแต่งด้วยถั่วพิสตาชิโอ ครีมอัลมอนด์ ครีมมาสคาโปน และส่วนใหญ่ปาเน็ตโตเนจะไม่มีสารกันบูด เนื่องจากกระบวนการผลิตนั้นทำมาจากยีสต์ธรรมชาติ ที่ส่งผลให้คงความสด และเก็บได้เกิน 1 เดือน ทำให้การบรรจุปาเน็ตโตเนจะสามารถเก็บไว้ในกล่องพลาสติกกล่องใหญ่อย่างที่ได้เห็นกัน และหากเลยเทศกาลคริสต์มาสไปแล้วก็ยังสามารถนำกลับมากินต่อได้

...

ปาเน็ตโตเน จึงเป็นขนมปัง (Christmas Cake) ที่แผ่อิทธิพลไปยังคนทั่วโลกให้นิยมทาน และมอบให้กันในวันสำคัญ เช่น เทศกาลคริสต์มาส รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในขนมตัวแทนของการเฉลิมฉลอง งานเลี้ยงของชาวอิตาลี ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างเนิ่นนาน 

ข้อมูล : lacucinaitaliana

ภาพ : istock