แม้ว่าตอนนี้อาการโควิด-19 จะไม่รุนแรงเหมือนในช่วงปีแรกๆ ที่เป็นสายพันธุ์เดลตา ที่มักจะมีอาการลงปอด ทำให้ปอดอักเสบ แต่ในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งความรุนแรงของอาการลดลงไปมาก แต่ก็อย่าเพิ่งประมาท เพราะหากคนรอบตัวเป็นกลุ่มเสี่ยง เราก็อาจทำให้เขาเกิดอันตรายได้

อาการโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า โดยทั่วไปแล้วระยะการฟักตัวของโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์เดลตา จะอยู่ที่ประมาณ 2-14 วัน หลังจากรับเชื้อ และแสดงอาการหลังจากวันที่ 11-12 วัน โดยช่วงที่แพร่กระจายเชื้อได้มากที่สุดคือ 1-2 วัน ก่อนที่จะมีอาการ และช่วง 2-3 วัน หลังเริ่มมีอาการ จึงเป็นที่มาของการกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วันทันที หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อแบบมีความเสี่ยงสูง

แต่ทว่า สายพันธุ์โอมิครอน ใช้ระยะเวลาฟักตัวเพียง 3 วันเท่านั้น ทำให้การแพร่เชื้อเร็วขึ้น และแพร่กระจายเชื้อได้กว้างมากขึ้น มีผลโดยตรงต่อการควบคุมโรค และการตรวจรักษาที่ย่อมทำได้ลำบากขึ้นตามไปด้วย โดยอาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ในไทย มีดังต่อไปนี้

  1. ไอแห้ง
  2. เจ็บคอ
  3. มีไข้
  4. ปวดกล้ามเนื้อ
  5. มีน้ำมูก
  6. ปวดศีรษะ
  7. หายใจลำบาก
  8. ได้กลิ่นลดลง

ดังนั้นอาการของการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จึงคล้ายไข้หวัด และมีอาการไม่รุนแรง บางคนแทบไม่แสดงอาการใดๆ เลย จึงทำให้การระมัดระวังตัวลดลงตามไปด้วย เพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ติดโควิด-19

การป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

  • พยายามสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัดหรือมีคนจำนวนมาก
  • ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ชุมชนต่างๆ หรือพื้นที่เสี่ยง แม้ได้รับวัคซีนครบแล้วก็ไม่ควรประมาท
  • ควรหมั่นตรวจเช็ก ATK สม่ำเสมอเมื่อรู้สึกว่ามีอาการ หรือเพิ่งไปพื้นที่เสี่ยง หรือพบเจอผู้คนจำนวนมาก
  • เมื่อติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรกักตัวอยู่บ้าน หรือ Work from Home
  • สังเกตอาการตัวเอง หากไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

...

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรง และหลายคนมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเรียกว่า “กลุ่ม 608” อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นคนที่ติดโควิด-19 แล้วต้องใกล้ชิดกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะการที่เราไม่ระมัดระวังตัวก็อาจแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังคนกลุ่มนี้ได้

ล่าสุด (19 ธ.ค. 2566) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน JN.1 (รุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86) ในไทยแล้ว 1 ราย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คาดว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 จะแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักต้นปี 2567
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คาดว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 จะแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักต้นปี 2567

ทั้งนี้โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 เป็นรุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86 ซึ่งบนส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นหนึ่งตำแหน่งคือ “L455S” ส่งผลให้มีความสามารถทั้งจับกับผิวเซลล์ และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในโลก ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดโดดเด่นในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว

มีความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของโอมิครอน JN.1 ทำให้ทั้ง องค์การอนามัยโลก, กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ และอังกฤษ ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางให้เข้ามารับการฉีดวัคซีน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คาดว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 จะแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักต้นปี 2567 ที่สามารถแพร่เชื้อได้สูง แต่อาการโดยทั่วไปไม่รุนแรง ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด.

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพ : iStock