เปิดมุมมองของ ‘พันธุ์ข้าว’ มีทิศทางอย่างไรต่อไป หลังจากข้าวกลายเป็นเพียงผลผลิตที่ถูกมองข้าม ด้วยความเห็นจากหนึ่งในผู้ผลักดันวงการ ‘อุตสาหกรรมข้าวไทย’ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างสร้างสรรค์ด้วยความยั่งยืน
“ข้าว” ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ และ ‘สมบัติที่ล้ำค่า’ ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยการที่ประเทศไทยนั้นมีสายพันธุ์ข้าวอยู่มากกว่า 5,000 ชนิด และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทั่วทุกแห่งหน อันเนื่องจากสภาพแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ และอากาศที่เหมาะสม ทำให้ประเทศไทย มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะสามารถคัดสรรพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ดีๆ นำไปต่อยอดได้อย่างหลากหลายได้ไม่ยากเย็นนัก
คำว่า ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของวัฒนธรรมข้าวไทย เริ่มถูกมองเป็นเรื่อง ‘ใต้จมูก’ เรื่องใกล้ตัวที่เคยชิน และถูกมองข้าม’ และเริ่มไปให้ความสำคัญ และผลักดันกับสิ่งอื่นเสียมากกว่า ทั้งๆ ที่ผลผลิตจากพันธุ์ข้าวเหล่านี้ยังคงมีมูลค่ามหาศาล และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
...
เรื่องที่น่าแปลกใจ คือ ผู้ที่ทำงานด้านเกษตรกรเอง ก็ยังมองว่าโอกาสของข้าวในปัจจุบันของไทย ที่ว่ามีอยู่อย่างหลากหลายนี้ ดูจะมืดหม่น อับจนหนทาง ด้วยวิธีคิดเก่าๆ ที่สวนกระแสของโลกที่กำลังพัฒนา และเปลี่ยนไป
รวมถึงแนวคิดที่ไม่อยากจะให้ลูก - หลาน ของตนเองต้องมาแบ่งเบาภาระเหล่านี้ สู้ออกไปอยู่ในเมืองกรุง หางานดีๆ ไม่ต้องมาทนตากแดด ลมฝนแบบเกษตรกร และมีรายได้ที่ไม่นอน ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังมีอยู่มากในสังคมไทย เนื่องจากปัจจัยในหลายๆ ด้าน ของประเทศ และปัจจัยส่วนตัว
ปัจจุบันกระแสโลกใหม่ เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงองค์ความรู้ที่มากขึ้น ทำให้กลุ่มเกษตรกรชุมชน องค์กร หน่วยงานรัฐ และเอกชน เริ่มเข้ามาผลักดันเรื่อง ‘ข้าว และวัตถุดิบท้องถิ่น’ มากขึ้นอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าผลผลิตจากเกษตรกร และวัตถุดิบของประเทศไทย สามารถต่อยอด สร้างเศรษฐกิจ และรายได้อย่างมหาศาล หากรู้ถึงแนวทางการจัดการ และองค์ความรู้ที่ดี ยิ่งมีเรื่องของความยั่งยืน และซอฟต์พาวเวอร์ที่กำลังมาแรงมากขึ้น ยังเป็นการปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ ให้เริ่มกลับมาทำงานในท้องถิ่น ท้องที่ และผลักดันชุมชนบ้านเกิดของตนเองมากยิ่งขึ้น
ไทยรัฐออนไลน์ มีความสนใจในของเรื่อง ‘ข้าว’ นี้ จึงได้เดินทางไปยังงาน Thailand Rice Fest 2023 ที่กำลังจัดขึ้นอยู่ในวันที่ 14-17 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อค้นหาความจริงของกระแสตลาดข้าวไทย แนวคิด และไอเดียการต่อยอดของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปมากแค่ไหน
ทางเราจึงได้ทำการนัดหมาย ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Cloud และเจ้าภาพจัดงาน Thailand Rice Fest 2023 และ Thailand Coffee Fest 'Year End' 2023 ในครั้งนี้ โดยทั้งสองงานเป็นงานที่ชูคุณภาพ และผลักดันวัตถุดิบท้องถิ่นของประเทศไทย รวมทั้งยังมีไอเดียการแปรรูปสินค้าที่น่าสนใจ เพื่อที่จะพูดคุยกันในมุมมอง แนวคิดไอเดีย จุดประสงค์ในการจัดงาน และเรื่องที่อยู่ในกระแสความยั่งยืนของไทยในปัจจุบันว่ามีทิศทางอย่างไร
...
ข้าววัตถุดิบที่สามารถต่อยอดช่วย ‘แก้ปัญหา’ ของประเทศได้
หนึ่งในประเด็นที่อยากหาคำตอบว่า ‘ข้าวไทย’ สามารถทำอะไรได้อีกบ้าง นอกจากเป็นอาหารจานหลักของประเทศเรา ซึ่งการได้เดินเข้ามาภายในงานข้าว (Thailand Rice Fest 2023) ทำให้รู้สึกถึงความน่าสนใจ และเซอร์ไพร์สเป็นอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการแปรรูปมาจากข้าวในหลายๆ ชนิด และสายพันธุ์
ตัวอย่างเช่น การแปรรูปแป้งจากข้าวเป็นไอศกรีม หรือขนมปัง เพื่อลดความจำเจ หรือแม้แต่อาหารเสริม อาหารของผู้ป่วย อาหารเด็ก และเป็นอาหารสัตว์ก็สามารถทำได้อย่างหลากหลาย และที่น่าสนใจ คือ การแปรรูปไปเป็นเครื่องสำอาง และน้ำหอม อีกทั้งกระแสที่กำลังมาแรงอย่างการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวไปแปรรูปเป็น เครื่องดื่มต่างๆ รวมทั้งแอลกอฮอล์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวนี้ได้อย่างมหาศาล
คุณก้อง กล่าวกับเราว่า “ศักยภาพของข้าวที่นอกจากจะแปรรูปได้หลากหลาย อย่างที่เห็นภายในงานแล้ว ยังสามารถเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่มีศักยภาพสำคัญในการแก้ปัญหา และเปลี่ยนมุมมองของเกษตรกรในประเทศไทยได้ ด้วยการที่ข้าวมีหลากหลายสายพันธุ์ สามารถเลือกนำเอาไปใช้ แปรรูปได้อย่างน่าสนใจ จึงเกิดทางเลือกใหม่ และโอกาสที่มากมายให้กับเกษตรกร”
“เรื่องที่สอง คือ เกิดความตระหนักรู้ของเกษตรกรไทยทั้งรุ่นใหม่ และเก่า ได้เห็นคุณค่าของสายพันธุ์ข้าวมากขึ้น เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรไทยเริ่มมีการรักษาพันธุ์ข้าวได้มากขึ้น เกิดแปรรูป ส่งออก และสร้างมูลค่าให้กับสินค้าข้าวได้อย่างมาก”
ก้อง ทรงกลด ขยายความว่า “ทั้งสองข้อนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ คนเกิดมุมมองใหม่ต่อข้าว และคาดหวังว่า ทั้งคนรุ่นใหม่ และเก่า จะมองข้าวในมุมใหม่กว่าเดิม เช่น ปลูกข้าว หรือกินข้าวแล้วเท่ ไม่เชย ไม่น่าเบื่อ สร้างรายได้ดี แถมสุขภาพดี มากกว่าภาพจำเดิมที่มองว่า ทานข้าวแล้วอ้วน ขายข้าวแล้วเงินน้อยนั่นเอง”
...
เทรนด์ความยั่งยืน กำลังผลักดัน ‘ข้าวไทย’ ให้ใหญ่ขึ้น
ถ้าพูดถึงเรื่องข้าวเรามักจะรู้จักแต่เพียง ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือข้าวเหนียวเขี้ยวงู แต่ในปัจจุบันข้าวตลาดเล็กๆ และพันธุ์ข้าวที่ไม่นิยม กลับมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทรนด์ความยั่งยืน ที่กำลังเป็นกระแสมากยิ่งขึ้น
ข้าวพันธุ์เล็กๆ พวกนี้ถูกปลูกด้วยวิธีการรักษาพันธุ์ข้าวอย่างยั่งยืนในแต่ละท้องที่ เช่น ป่าล้อมนา (วิธีปลูกข้าวโดยปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ นิยมปลูกในกันพื้นที่โล่งกลางป่าที่มีหญ้าขึ้นเขียวขจี ปลูกตามทางน้ำที่ไหลจากสูงลงที่ต่ำของป่า ทำให้ป่าโอบอุ้มนาไว้) โดยพันธุ์ข้าวเหล่านี้ มักจะมีสารอาหาร ประโยชน์ และจุดเด่นต่างกันออกไปในหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งทำให้เรื่องราวของ ‘ข้าว’ กำลังจะถูกพูดถึงอีกครั้ง
...
ทรงกลด บางยี่ขัน กล่าวว่า “ปัญหาเดิม คือ ข้าวสายพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้ ตลาดไม่ได้มีมากนัก คนรู้จักน้อย และไม่ค่อยมีใครทานกัน แต่ด้วยเทรนด์ความยั่งยืนนี้ ทำให้เริ่มมีคนสนใจในเรื่องพันธุ์ข้าวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่นำข้าวเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของงาน Thailand Rice Fest 2023 ที่จัดขึ้นนี้ โดยได้รวบรวมส่วนหนึ่งของพันธุ์ข้าวจากเกษตรกร นักพัฒนา นักคิด ที่นำข้าวเหล่านี้กลับมาแปรรูป รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมงาน และเกษตรกร ซึ่งเป็นการสร้างความรู้เรื่องความยั่งยืน และพันธุ์ข้าวที่ดีได้มากยิ่งขึ้น”
ก้อง ทรงกลด กล่าวเสริม “นอกจากนี้คาดว่าตลาดความยั่งยืนจะใหญ่ขึ้น เพราะคนที่ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องของความยั่งยืน และทราบว่าหากเราเริ่มลงทุนกับความยั่งยืนนี้ เราจะได้อะไรกลับมาสู่เรา กลับคืนมาสู่สังคม และกลับคืนมาสู่โลก ซึ่งกระแสความยั่งยืนนี้กำลังเป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรม”
เรื่องของความยั่งยืนทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจความยั่งยืน เริ่มหันกลับมอง และมาส่งเสริมวัตถุดิบ และการเกษตรในพื้นที่มากขึ้น โดยเริ่มมีการกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเองอีกเป็นจำนวนมาก
ถึงตอนนี้เรารู้แล้วว่า ‘ข้าวของไทย’ มีศักยภาพมากในการถูกผลักดัน และเป็นวัตถุดิบทางเลือกที่หลากหลาย ทางทีมงานจึงเกิดข้อสงสัยว่าอย่างนั้น ‘ข้าวไทย’ ก็สามารถเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า ข้าว ยังเป็นสินค้าเกษตรอย่างหนึ่งที่ถูกมองข้ามอยู่อย่างมาก และเป็นเรื่องใต้จมูกอยู่ ณ เวลานี้
ก่อนอื่นทางเราจึงอยากให้ทาง ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน เล่าถึง ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) จากอุดมคติ ในฐานะผู้ผลักดันสินค้าเกษตรกรไทยมาอย่างเนิ่นนานว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้อย่างไร หลังจากคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ นั้นถูกตีความออกไปอย่างหลากหลาย
ซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง จากมุมมอง 'ก้อง ทรงกลด'
พี่ก้อง ให้คำตอบด้วยวาจายิ้มแย้มว่า “ทุกวันนี้ คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ถูกตีความอย่างหลากหลายว่าอะไรที่ใช่ อะไรที่ไม่ใช่ แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราเอามันไปทำอะไร มีประโยชน์ และส่งผลยังไงเสียมากกว่า”
บก.บห. กล่าวเสริมข้อความดังกล่าว “ซอฟต์พาวเวอร์นั้น คือ ‘อาวุธ’ และถ้าเรามีอาวุธครบมือแล้ว เราจะเอาไปตีเมืองไหน ไปทำอะไรให้เหมาะกับอาวุธในมือของเรามากที่สุด เปรียบเทียบว่า เราจะเอาซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอยู่ในหลายๆ ด้านนี้ไปทำอะไร และอยากให้ประเทศของเราถูกจดจำในด้านไหนมากที่สุดเสียมากกว่านั่นเอง จะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”
ข้อสงสัยจึงเกิดขึ้นในหัว กับเรื่องใต้จมูกอย่าง ‘ข้าว’ ที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้คนไทยต่างมองไม่เห็นศักยภาพของมัน ทั้งๆ ที่ข้าวเอง ก็เป็นเศรษฐกิจหลักของไทย ที่อยู่คู่ชาวไทยมากอย่างยาวนาน และแปรรูปได้อย่างหลากหลาย แต่คนกลับไม่พูดถึง
‘ข้าว’ สามารถเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ได้หรือไม่
เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ผลักดัน และส่งเสริมเรื่องข้าวอย่างจริงจัง ก็อดไม่ได้ที่จะถามว่า ก้อง ทรงกลด มีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร และทำไมคนถึงหันไปสนใจหมูกระทะ ผัดไทย ชาบู มากกว่า
“เวลาพูดเรื่อง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แน่นอนว่า ‘ข้าว’ ไม่ได้ถูกจดจำ เพราะเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งในเมนู และหันไปจดจำได้เมนูหลักเสียมากกว่า เช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง หรือหมูกระทะ ซึ่งเป็นอาหารแห่งการเฉลิมฉลอง และคนมักจะจำได้ดี และหลงลืมข้าวไปนั่นเอง”
“เหตุนี้เองจึงเป็นเหตุให้ผมอยากผลักดัน เรื่อง ‘ข้าว’ ให้ออกมาพิเศษยิ่งขึ้น สร้างเรื่องราว สร้างความรู้ สร้างจุดดึงดูดใหม่ๆ ด้วยการแปรรูปข้าวให้ออกมาน่าจดจำยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายจากข้าวนั่นเอง และเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้วงการนี้กลับมามีชีวิต และเป็นที่ภาคภูมิใจอีกครั้งนึง” ก้อง ทรงกลด กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
ภาพ : ศรัณย์ พงษ์สวัสดิ์