วันนี้ (6 ธ.ค. 2566) ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

ทั้งนี้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564

ที่มาของวันสงกรานต์ หรือวันมหาสงกรานต์ จะเริ่มตั้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่สืบต่อมาช้านานในโซนประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ สำหรับในประเทศไทย เปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ที่จะทำให้ทุกคนในครอบครัวมารวมตัวอีกครั้ง

ประเพณีสงกรานต์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย ที่มีกิจกรรมการสาดสี แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนเป็นการสาดน้ำใส่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และความเชื่อว่า คือ การปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป โดยการเล่นสาดน้ำ และประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยจะไม่ถือโทษโกรธกัน

...

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในเรื่องของ “ตำนานนางสงกรานต์” อ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ตำนานเล่าว่า มีเศรษฐีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง ไม่มีบุตร จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ 7 สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวาย และการประโคมดนตรี โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า "ธรรมบาลกุมาร"

ธรรมบาลกุมาร เป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงเล่าลือไปไกล ทำให้ ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาท้าทายปัญญา โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา 7 วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นโลก จะเกิดเพลิงไหม้โลก

ท้าวกบิลพรหม จึงสั่งให้บาทบริจาริกาของพระอินทร์ทั้ง 7 นาง สลับหน้าที่หมุนเวียนทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร หรือศีรษะของตนแห่รอบเขาพระสุเมรุ ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงมหาสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีชื่อ คือ นางทุงษะเทวี, นางรากษเทวี, นางโคราคเทวี, นางกิริณีเทวี, นางมณฑาเทวี, นางกิมิทาเทวี และ นางมโหธรเทวี ซึ่งหน้าที่นี้เกิดมาจากการที่ ธรรมบาลกุมาร ได้ท้าทายแข่งปัญญากับท้าวกบิลพรหม

นอกจาก สงกรานต์ในประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในครั้งนี้แล้ว ทางยูเนสโกยังมีการพิจารณาภูมิปัญญามรดกโลกของประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • การเป่าแก้วแบบดั้งเดิมของสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย
  • ความรู้ วิธีการ และแนวปฏิบัติดั้งเดิมเกี่ยวกับการปลูกมะกอกของประเทศตุรกี
  • การแสดง Mek Mulung ของประเทศมาเลเซีย
  • การเต้นรำเฉลิมฉลอง Ingoma Ya Mapiko ของประเทศโมซัมบิก
  • การเต้นรำพื้นเมืองโปโลเนสของประเทศโปแลนด์
  • เทศกาลซังโกของรัฐโอโยในประเทศไนจีเรีย
  • การทอผ้าอักลันปิญ่าด้วยเครื่องทอผ้าแบบทอมือของประเทศฟิลิปปินส์

ข้อมูลอ้างอิง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ภาพ : iStock