เล่าเรื่องราว การเดินทาง และประวัติศาสตร์ของ “เมล็ดข้าว” หนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจในระดับประเทศอย่างไม่รู้จบ

ดินแดนอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีลักษณะภูมิประเทศดุจ ‘พื้นที่ทองคำ’ ที่สร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเกษตรกรรมมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่ทางธรรมชาติ และโอบล้อมด้วยป่าไม้ ซึ่งทำให้มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้ทำให้วิถีชีวิตของคนภาคอีสานนี้ มักจะเกี่ยวข้องกับผลผลิตทางเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ของที่ขึ้นชื่อที่มีการส่งออก และสร้างรายได้ให้คนในดินแดนทองคำแห่งนี้มากที่สุด คือ “ข้าว” อย่างไม่ต้องสงสัย

แน่นอนว่า “เมล็ดข้าว” เป็นของขึ้นชื่อในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักที่คอยอุ้มชูประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ถ้าถามหาความหลากหลายของผลผลิตจากข้าว ที่ผลิดอก ออกผลไปได้อย่างหลากหลายในทุกอุตสาหกรรม ภาคอีสานคงเป็นหนึ่งภูมิภาคที่ต้องพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ 

...

เนื่องมาจากชนิดของสายพันธุ์ข้าวในประเทศไทยมีมากกว่า 4,000 สายพันธุ์ มากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ทองคำแห่งนี้ รวมถึงความโดดเด่นของสายพันธุ์ข้าวจะซ่อนเร้นอยู่ตามวิถีการใช้ชีวิตของคนในชุมชน และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่อย่างน่าสนใจ ที่ใช้ความยั่งยืนในการปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน

นฤทธิ์ ไชยรักษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ และฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมืองหอมดอกฮัง จ.สกลนคร
นฤทธิ์ ไชยรักษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ และฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมืองหอมดอกฮัง จ.สกลนคร

วิธี “ปลูกป่าล้อมนา” วัฒนธรรมจากอดีต ที่ฟื้นฟู และรักษาสายพันธุ์ข้าว

นฤทธิ์ ไชยรักษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ และฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมืองหอมดอกฮัง จ.สกลนคร ได้เล่าถึง วิถีปลูกป่าล้อมนาว่า “ป่าล้อมนาเป็นหนึ่งในวิธีปลูกข้าวที่สืบทอดจากบรรพบุรุษของชาวอีสาน ที่ใช้วิธีปลูกข้าวโดยการประยุกต์ปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกในกันพื้นที่โล่งกลางป่าที่มีหญ้าขึ้นเขียวขจี โดยจะปลูกตามทางน้ำที่ไหลจากสูงลงที่ต่ำของป่า ทำให้ป่าโอบอุ้มนาไว้”

ประธานวิสาหกิจชุมชนเมืองหอมดอกฮัง กล่าวเสริมว่า “ป่าล้อมนานิยมปลูกในพื้นที่ดอน (พื้นที่ที่สูงที่สุด) เพื่อเฟ้นหาสายพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดด้วย หากข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ปลูกบนบริเวณพื้นที่ดอนนี้ได้สำเร็จก็สามารถนำไปปลูกที่ไหนก็ได้ และมีความแข็งแรงที่สุด ไม่ตายอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับการทำเกษตรนิเวศ และเกษตรอินทรี เพื่อมาประยุกต์ทำนาแปลงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ”

นฤทธิ์ เล่าต่อว่า “การทำนาแปลงอนุรักษ์ ได้สืบทอด และประยุกต์มาเรื่อยๆ อดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีพันธุกรรมข้าวไม่ถึง 10 สายพันธุ์ แต่หลังจากได้เรียนรู้ มีผู้เชี่ยวชาญมาสาธิต ชาวนาในพื้นที่เกิดความเข้าใจ และการต่อยอด จึงเกิดความร่วมมือ” 

ทำให้เริ่มมีชาวนาในชุมชนมากขึ้น ที่พร้อมช่วยเหลือกันในการคัดเก็บสายพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในสายพันธุ์นั้นๆ จาก ‘รวงแม่’ (พันธุ์ข้าวที่ดูแข็งแรง สวย และใหญ่) มาเก็บไว้ เพียงแค่หนึ่งรวงข้าว เพื่อรักษาพันธุกรรมของข้าวแต่ละสายพันธุ์ และส่งต่อสายพันธุ์ข้าวเหล่านี้ไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ เพื่อทำเป็นแม่พันธุ์ในฤดูกาลถัดไป ทำให้สายพันธุ์ข้าวโบราณเหล่านี้ได้ฟื้นฟูกลับมาอย่างมากมายอีกครั้งในประเทศไทย 

...

ส่วนรวงข้าวชั้นลูก จะสามารถนำไปกิน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สุราพื้นถิ่น ปุ๋ย ทำแป้ง ทำสบู่ แชมพู ประกอบอาหาร และอีกมากมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวให้มากขึ้น

อนาคตของทิศทางอุตสาหกรรมข้าวในไทย

หลังจากที่ทราบข้อมูล ‘การอนุรักษ์พันธุ์ข้าว’ ที่ดูเหมือนว่าทิศทางอุตสาหกรรมข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำมีทิศทางที่ดี และน่าสนใจ สามารถมาต่อยอดได้หลากหลาย “มีเหตุผลอะไร ที่ทำให้คนไทยปิดกั้นทางเลือกแห่งความรุ่งเรืองนี้ คนรุ่นใหม่มองงานการเกษตรกรรม และอนาคตของข้าวในมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต”

แน่นอนว่าภาพจำของคนไทยในอดีต อาชีพเกษตรกร คือ อาชีพที่ลำบาก รายได้น้อย และต้องตากแดด ตากฝนเพื่อผลผลิตที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และลงแรง จนไม่มีใครอยากให้คนรุ่นใหม่เป็นจริงเกษตรกร และทำให้เด็กยุคใหม่ เริ่มห่างจากบ้านเกิด หนีเข้ามาทำงานในเมืองเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้อาจเป็นเพราะระบบอุตสาหกรรม การจัดการในประเทศไทย ที่มีการผูกขาด เกิดการปิดกั้นทางเลือกในอุตสาหกรรมต่างๆ บางไอเดียที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ต่อผลิตภัณฑ์จาก ‘ข้าว’ ก็ไม่สามารถทำได้ และทำให้วิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมต้องถดถอย จนทำให้เกษตรกรในประเทศไทย มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ 

...

หลังจากที่ ไทยรัฐออนไลน์ ได้ร่วมลงพื้นที่ สำรวจเพื่อเก็บข้อมูลมานำเสนอ ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไป คนหนุ่ม สาวเริ่มลุกขึ้นหันมาสนใจการทำเกษตรมากขึ้น และยังสนใจที่จะต่อยอดแหล่งทองคำที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในประเทศไทยให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

ความเห็นจาก ประธานวิสาหกิจชุมชนหอมดอกฮัง กล่าวว่า “เหตุผลที่ผมยังสนใจทำงานเกี่ยวกับเกษตร หรือ ข้าวอยู่ เพราะอยากพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น เราได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนมุมมองของชาวบ้านต่อการเป็นชาวนาได้แล้ว แถมเรายังมีพื้นที่นาข้าว และป่าที่โดดเด่น ที่ยังหารายได้อย่างต่อเนื่องด้วยการแปรรูปข้าว และนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ”

นฤทธิ์ ไชยรักษ์ กล่าวเสริมอีกว่า “จึงเชื่อว่าทิศทางของคนรุ่นใหม่นี้ในอนาคตจะสามารถต่อยอดได้ดีกว่ารุ่นเรามากยิ่งขึ้น เพราะเรามีข้าวนานาชนิดที่ดี หลากหลายสายพันธุ์ที่น่าสนใจ ทำให้การต่อยอดจากข้าวมีทิศทางที่ดีขึ้น และพอเห็นแสงสว่างของอุตสาหกรรมข้าวได้บ้างแล้วในอนาคต”

การเดินทางของ ‘ข้าว’ สู่เศรษฐกิจ ‘สร้างสรรค์’ 

...

  • เปลี่ยนข้าว เป็นสุราพื้นถิ่น สร้างเศรษฐกิจสู่จังหวัด

หนึ่งในการแปรรูปของอุตสาหกรรมข้าว เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากในอนาคต ซึ่งสุราพื้นถิ่น เคยเป็นกระแส และมีคนสนใจเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าหากข้าวไม่ได้ถูกจัดเก็บ และแปรรูปอย่างถูกวิธี อาจทำให้กลายเป็นของเสีย หรือขยะ ที่ส่งผลกระทบสู่ธรรมชาติ เกิดก๊าซ ที่มีผลต่อความยั่งยืนของโลกได้ แต่หากจัดเก็บดีๆ จะสามารถเปลี่ยนจากขยะเหลือทิ้ง สู่เม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศได้เลยทีเดียว

ข้อดีของพันธุ์ข้าวในประเทศไทย คือ มีเอกลักษณ์ และรสชาติที่ชัดเจน ของแต่ละสายพันธุ์ตามท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การกลั่น หรือบ่ม อย่างถูกวิธี โดยผู้มีฝีมืออาจเพิ่มรสชาติ และมิติที่สามารถชูเอกลักษณ์ของพื้นที่ และจังหวัดนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่า สุราพื้นถิ่น อาจเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ในระดับจังหวัด และประเทศได้เลยทีเดียว

น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรานั้นยังไม่มีกฎหมาย ที่จะรองรับการทำสุราพื้นถิ่นไม่มากนัก ทำให้ผู้ประกอบการ หรือนักบ่มฝีมือดี บางส่วนต้องถอดใจออกจากวงการไป อีกทั้งผู้ผลิตชาวไทยบางส่วนต้องไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อนำเอาเครื่องดื่มคนไทย กลับมาขายให้คนไทย ในราคาที่สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก 

เสือ ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช เจ้าของผลิตภัณฑ์ออนซอน จ.สกลนคร
เสือ ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช เจ้าของผลิตภัณฑ์ออนซอน จ.สกลนคร

เสือ ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช เจ้าของผลิตภัณฑ์ออนซอน จ.สกลนคร ให้ความเห็นว่า “การแปรรูปข้าวเป็นเหล้า ไม่มีวันหมดอายุแน่ๆ เหล้ายิ่งเก่ายิ่งสร้างมูลค่าได้มหาศาล” อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังพอมีแสงสว่างมากขึ้น ที่นักทำสุราชาวไทยจะพอทำรายได้ได้บ้าง จากการเริ่มเข้ามาสนใจจากทางรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต

  • ข้าวคู่วัตถุดิบท้องถิ่น สู่อาหารจานหรู

แน่นอนว่าข้าวเป็นหนึ่งในอาหารจานหลักของคนไทยมาอย่างเนิ่นนาน ไม่ว่าจะทานอะไรมักจะมีข้าวมาคู่เสมอ แนวคิดนี้ทำให้ปัจจุบัน เชฟผู้รังสรรค์อาหาร มีการเสริม เพิ่มเติมไอเดียบนเมนูข้าวให้เปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อเพิ่มอรรถรสการทานอาหารที่มากขึ้น และยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวได้อีกด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทย มีข้าวอยู่หลากสายพันธุ์ หลายท้องถิ่น มีรสชาติ รสสัมผัส ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งกลายเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ทำอาหารได้ทดลอง ปรับเปลี่ยนสูตรเมนูที่น่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากเมนูจากข้าวเหล่านี้ มีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น นำเข้าสู่ร้านอาหารชื่อดัง ก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจข้าวไทยให้ไปไกลได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีจากเกษตรกรที่ได้ส่งออกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ไม่จำเจอยู่ที่ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวกล้องเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกษตรกรมีแรง และกำลังใจในการส่งออกข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ที่มากยิ่งขึ้น

หนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เจ้าของร้านอาหารซาหมวย & ซันส์ จ.อุดรธานี
หนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เจ้าของร้านอาหารซาหมวย & ซันส์ จ.อุดรธานี

หนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เจ้าของร้านอาหารซาหมวย & ซันส์ จ.อุดรธานี กล่าวถึงความตั้งใจในการทำอาหารเพื่อยกระดับเมนูข้าวไว้ว่า “ต้องการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอีสาน ด้วยข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ผสมกับผักพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านมาเล่าเรื่องใหม่ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างมูลค่า และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น”

  • แปลงข้าว สู่ เส้นส่งออกทั่วไทย

วัฒนธรรมการกินของชาวอีสาน บางพื้นที่ หรือบางครัวเรือน นิยมบริโภคเส้นแทนข้าวเป็นอย่างมาก จึงทำให้ดินแดนอีสานกลายเป็นจุดกำเนิดเกิดการทำเส้นต่างๆ ในหลายครัวเรือน ซึ่งมีการส่งออกไปตามจังหวัด และพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย 

ทำให้การแปรรูปข้าว ให้เป็นเส้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เส้นข้าวปุ้น เส้นด๊องแด๊ง เส้นขนมจีน เส้นหมี่พิมาย เส้นหมี่โคราช กลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ เพราะเส้นเหล่านี้เป็นหนึ่งในเมนูอาหารถิ่นขึ้นชื่อของคนอีสานในแต่ละจังหวัดต่าง บางเมนูอาจสร้างมูลค่าได้โดยไม่ใช่แค่การส่งออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเมนูเส้นเหล่านี้ถูกนำมาประยุกต์ไปทำเมนูต่างๆ ที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีกได้

หากคนไทยเข้าใจ กรรมวิธี การทำเส้นอย่างพิถีพิถัน และเกิดการช่วยผลักดันเรื่อง ‘เส้น’ ต่างๆ จนเป็นที่รู้จัก วัฒนธรรมการกินเส้น และเส้นเหล่านี้อาจกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่สามารถชูความเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักที่ถูกแปรรูปมาจากข้าวเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก 

นอกจากนี้การแปรรูปของข้าว ในดินแดนอีสานนี้ ยังถูกนำไปดัดแปลงอย่างมากมาย จนกลายเป็นอาหารขึ้นชื่อของคนไทย เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวทอด ข้าวจี่ ข้าวหลาม เมี่ยงข้าว และอีกมากมาย 

ข้าว จึงเป็นหนึ่งในผลผลิต ที่สามารถนำไปต่อยอดเศรษฐกิจได้อย่างหลากหลาย ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของคนไทยได้เป็นอย่างดี การชูอัตลักษณ์ ความสำคัญของข้าวไทยจึงเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องพูดถึง และนำเสนอเพื่อให้คนไทยได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ หันกลับไปมองความสำคัญของการเกษตร ชาวนา และการเกี่ยวข้าว ให้มากกว่าขึ้นเดิม 

‘Thailand Rice Fest 2023’ เป็นอีกหนึ่งงานที่จะพาผู้ผลิต คู่ค้าทางธุรกิจ และผู้บริโภคมาเจอกันอย่างครบวงจรในทุกเจเนอเรชัน แถมยังช่วยเป็นส่วนร่วมในการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย เพิ่มความปลอดภัยในการกิน และเพิ่มทางเลือกบนโต๊ะอาหารให้มากยิ่งขึ้น โดยงานตั้งแต่ วันที่ 14-17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 6 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Thailand Rice Fest