ประวัติกีฬาบาสเกตบอลเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย ดร. เจมส์ ไนสมิท (Dr. James Naismith) คิดค้นกีฬาสำหรับเล่นในร่ม เพื่อให้นักกีฬาออกกำลังระหว่างช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ.1891 ภายหลังกีฬาชนิดใหม่นี้ยกระดับจากกีฬามหาวิทยาลัย สู่ลีกอาชีพ บาสเกตบอลเป็นที่ยอมรับทั่วโลกเมื่อบรรจุในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงเบอร์ลิน ค.ศ.1936

ประวัติบาสเกตบอล กีฬาสากลยอดนิยม

James Naismith ผู้คิดค้นกีฬาบาสเกตบอล ภาพจาก springfield.edu
James Naismith ผู้คิดค้นกีฬาบาสเกตบอล ภาพจาก springfield.edu

ผู้คิดค้นกีฬาบาสเกตบอลคือ ดร. เจมส์ ไนสมิท (Dr. James Naismith) ครูสอนพลศึกษาในสมาคมยุวชนคริสเตียนนานาชาติ International Y.M.C.A. Training School (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งในวิทยาลัยสปริงฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา) เนื่องจากฤดูหนาวปี ค.ศ.1891 สภาพอากาศเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายกลางแจ้ง นักกีฬาไม่สามารถเล่นอเมริกันฟุตบอล และเบสบอลได้ ดร. เจมส์ ไนสมิท (Dr. James Naismith) พยายามคิดค้นเกมที่เข้าใจได้ง่าย แต่มีชั้นเชิงพอที่จะทำให้ทุกคนสนใจอยากเล่น สามารถเล่นเป็นทีมพร้อมกันได้หลายคน และไม่กระทบกระทั่งกันจนเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

...

ดร. เจมส์ ไนสมิท จึงคิดเกมด้วยการดัดแปลงกีฬาต่างๆ เข้าด้วยกัน จนได้เกมที่ใช้ลูกบอลกับตะกร้าผลไม้เป็นอุปกรณ์ในการเล่น ด้วยการแขวนตะกร้าไว้บนผนังโรงยิม ในระดับเหนือศีรษะผู้เล่น 2 ฝั่ง และแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ทีม ผู้เล่นต้องพยายามโยนลูกบนลงตะกร้าฝ่ายตรงข้ามให้ได้ สุดท้ายทีมที่โยนลูกบอลลงตะกร้าฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ

ภายหลังการทดลองเล่นพบว่านักกีฬาขาดความเป็นระเบียบ มีการชน ผลัก และปะทะกัน ดังนั้น ดร. เจมส์ ไนสมิท จึงกำหนดจำนวนผู้เล่น ฝ่ายละ 5 คน เพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่สนาม และเขียนกติกาขึ้นทั้งหมด 13 ข้อ ได้แก่

1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
2. ผู้เล่นจะส่งลูกบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
4. ผู้เล่นจะต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล และห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
5. ในการเล่นห้ามใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี ฝ่ายตรงข้ามให้ล้มลง ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง ถ้าฟาวล์ 2 ครั้ง ถือว่าหมดสิทธิ์เล่นจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะทำคะแนนได้ จึงให้กลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าเตะลูก ถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง
7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้คะแนน
8. คะแนนที่นับว่าได้ ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันต้องไม่ยุ่งกับตะกร้าเด็ดขาด
9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายส่งลูกบอลเข้ามาจากขอบสนามภายในเวลา 5 วินาที ถ้าเกินให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอ ให้ปรับเป็นฟาวล์
10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาวล์ และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นส่งลูกเข้าเล่น และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลา บันทึกจำนวนคะแนนที่ทำได้ และทำหน้าที่ตามวิสัยของผู้ตัดสิน
12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 20 นาที
13. ฝ่ายที่ทำคะแนนได้มากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ และหากคะแนนเท่ากัน ให้ต่อเวลาออกไป ฝ่ายใดทำคะแนนได้ก่อนเป็นฝ่ายชนะ

กีฬาบาสเกตบอลได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาประจำชาติสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1892 ยกระดับจากกีฬามหาวิทยาลัยสู่ลีกอาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ในปี ค.ศ.1936 โดย ดร. เจมส์ ไนสมิท เป็นผู้โยนลูกบอลเปิดเกม และมอบเหรียญรางวัลให้กับผู้เล่นหลังจบเกม

ที่มาประวัติบาสเกตบอลในหลักสูตรการศึกษาของไทย

เว็บไซต์สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยระบุว่ามีการตีพิมพ์กติกาบาสเกตบอลโดยกรมพลศึกษาในปี พ.ศ.2477 (ตรงกับ ค.ศ.1934) เพื่อใช้อบรมครูพลศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 100 คน ผู้ที่เป็นวิทยากร คือ พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล ท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้ซึ่งเคยเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันขณะศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ความนิยมของกีฬาบาสเกตบอลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เกิดการแข่งขันประเภททีมชาย ทีมหญิง และประชาชน นักกีฬาจากจังหวัดต่างๆ ส่งตัวแทนมาแข่งขันในกรุงเทพมหานคร 

กีฬาบาสเกตบอลได้รับการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ภายใต้การดูแลของสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย จดทะเบียนจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2495 (ค.ศ.1952) เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (The International Basketball Federation) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953)

...

สรุปกติกาบาสเกตบอล 2022 ล่าสุด

กติกากีฬาบาสเกตบอลล่าสุดที่ใช้ในการแข่งขันระดับสากลนี้ รับรองโดยสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (The International Basketball Federation) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ระบุกติกาการแข่งบาสเกตบอล ให้แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม แต่ละทีมมีผู้เล่น 5 คน การดำเนินเกมผู้เล่นต้องโยนลูกบาสเกตบอลให้ลงห่วงของฝ่ายตรงข้าม และในขณะเดียวกันผู้เล่นคนอื่นๆ ก็ต้องป้องกันตาข่าย ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทำคะแนน ระหว่างการแข่งขันควบคุมโดยผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่โต๊ะ และบางลีกมีผู้ควบคุมการแข่งขัน ดังนี้

  • ผู้เล่น มีสิทธิ์ลงแข่งขันจำนวน 12 คน รวมหัวหน้าทีม ในเวลาแข่งขัน ผู้เล่น 5 คนอยู่ในสนามแข่ง และสามารถเปลี่ยนตัวได้ 
  • สนามแข่งขัน พื้นสนามเป็นพื้นเรียบ กว้าง 15 เมตร ยาว 28 เมตร วัดจากขอบในของเส้นขอบสนาม 
  • เส้น ตีเส้นขอบสนามด้วยสีเดียวกัน เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน กว้าง 5 เซนติเมตร ได้แก่ เส้นเขตสนาม (Boundary Line), เส้นกลาง (Centre Line), เส้นวงกลมกลาง (Centre Circle) และเส้นครึ่งวงกลมโยนโทษ (Free-Throw Semi-Circles)

...

  • อุปกรณ์การแข่งขัน (Equipment) ได้แก่
    1. ชุดห่วงตาข่ายยึดกระดานหลัง
    2. ลูกบาสเกตบอล
    3. นาฬิกาแข่งขัน
    4. ป้ายคะแนน
    5. นาฬิกาจับเวลา 24 วินาที 
    6. นาฬิกาจับเวลาการแข่งขัน
    7. อุปกรณ์ให้สัญญาณเสียง 2 ชุด
    8. ใบบันทึกคะแนน
    9. ป้ายแสดงจำนวนการฟาวล์ของผู้เล่น
    10. ป้ายแสดงจำนวนการฟาวล์ของทีม
    11. ลูกศรสลับการครองบอล
    12. สนามแข่งขันที่มีพื้นสนาม และแสงสว่างพอเหมาะ
  • ลูกบาสเกตบอล ขนาดของลูกบาสเกตบอลที่สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ และสมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ให้การรับรอง มีดังนี้
    • ประเภททีมหญิง ใช้ลูกบาสเกตบอล ขนาดเบอร์ 6 เส้นรอบวง 724-737 มิลลิเมตร น้ำหนัก 510-567 กรัม 
    • ประเภททีมชาย ใช้ลูกบาสเกตบอล ขนาดเบอร์ 7 เส้นรอบวง 749-780 มิลลิเมตร น้ำหนัก 567-650 กรัม
  • การแข่งขัน ในสนามการแข่งขันผู้เล่นของทีมต้องพยายามโยนลูกเข้าห่วงภายใน 24 วินาทีขณะครองบอล และปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่ระบุในกติกา
  • ...

  • การนับคะแนน ลูกบาสลงห่วงตาข่ายจากระยะที่ผู้เล่นโยนลูกบาส
    • เส้นทำคะแนนระยะเส้น 3 คะแนน ได้ 3 คะแนน
  • เส้นทำคะแนนระยะเส้น 2 คะแนน ได้ 2 คะแนน
  • ปล่อยลูกบาสจากเขตโยนโทษ ได้ 1 คะแนน
  • ระยะเวลาที่ใช้แข่งขัน การแข่งขันประกอบด้วย 4 ช่วงเวลา ช่วงละ 10 นาที มีช่วงพักการแข่งขัน พักครึ่ง ช่วงต่อเวลา และช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยจะมีเสียงสัญญาณนาฬิกาจับเวลาแข่งขันดังขึ้น เมื่อนับรวมช่วงเวลาต่างๆ จึงใช้เวลาแข่งขันไม่ต่ำกว่า 50 นาทีต่อหนึ่งเกม
  • ผู้ชนะการแข่งขัน ทีมที่ได้คะแนนมากกว่าเมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขัน ถือเป็นผู้ชนะ
  • อ่านกติกาบาสเกตบอลล่าสุด 2022 ฉบับเต็ม คลิกที่นี่

    ภาพ : istockphoto, springfield.edu

    ที่มา

    1.  Where Basketball was Invented: The History of Basketball., https://springfield.edu
    2. ผู้เขียน ภาสกร เตวิชพงศ์, ศิรินภา ใจเมือง., ผลของการเรียนรู้โดยการสังเกตตัวแบบด้วยการใช้สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อทักษะในการยิงลูกใต้ห่วงของนักกีฬาบาสเกตบอล., บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่., http://cmuir.cmu.ac.th
    3. กติกาบาสเกตบอล 2022 OFFICIAL BASKETBALL 2022., เว็บไซต์สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย., http://www.bsatthai.org