ประวัติกีฬาตะกร้อ เป็นกีฬายอดนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกีฬาท้องถิ่นที่พัฒนาเข้าไปสู่การแข่งขันกีฬาระดับชาติ เกิดจากความร่วมมือกันของประเทศสมาชิก รวมกันเป็นสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ (International Sepaktakraw Federation) เพื่อวางมาตรฐานกติกาการแข่งขัน ไทยรัฐออนไลน์นำประวัติตะกร้อในประเทศไทย และต่างประเทศ พร้อมสรุปกติกากีฬาเซปักตะกร้อล่าสุด ดังนี้

ประวัติตะกร้อในประเทศไทย

ประวัติตะกร้อไทยมีมาอย่างยาวนาน พบบันทึกตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนโดยบาทหลวงเดรียง โลเนย์ นักบุญชาวโรมันคาทอลิก ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสอนศาสนาในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่าชาวสยามชอบเล่นตะกร้อมาก และประวัติศาสตร์ตะกร้อยุคธนบุรี ราว พ.ศ. 2315 มีพบบันทึกของนายฟรังซัว อังรี ตุระแปง ชาวฝรั่งเศส ระบุว่า ชาวสยามชอบเล่นตะกร้อในยามว่างเพื่อออกกำลังกาย 

ยุครัตนโกสินทร์กีฬาตะกร้อเป็นที่แพร่หลาย มีการเล่นตะกร้อในงานวัดต่างๆ เช่น งานวัดสระเกศ, งานวัดโพธิ์ ท่าเตียน สมาคมกีฬาสยามจัดแข่งขันตะกร้อข้ามตาข่ายที่ท้องสนามหลวง 

ประวัติกีฬาตะกร้อกับที่มาชื่อเซปักตะกร้อ

ประวัติกีฬาเซปักตะกร้อ มาจากการเล่นร่วมกันระหว่างนักกีฬาไทยและมาเลเซีย พ.ศ. 2508 ในครั้งนั้นสมาคมกีฬาตะกร้อประเทศมาเลเซีย ได้นำวิธีการเล่นตะกร้อที่ขาวมาเลเซียเรียกว่า "เซปัก รากา จาริง" มาเล่นให้คนไทยรู้จักเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กติกากีฬาตะกร้อของไทย สรุปได้ว่า

  • กำหนดให้ใช้วิธีการเล่นตาม "เซปัก รากา จาริง" ของประเทศมาเลเซีย
  • กำหนดขนาดอุปกรณ์การเล่น อาทิ ลูกตะกร้อ และตาข่าย ตามกติกาของประเทศไทย
  • ตั้งชื่อกีฬานี้ว่า “เซปักตะกร้อ” เป็นการใช้ภาษาของสองชาติร่วมกัน โดย “เซปัก” เป็นภาษามาเลเซียแปลว่าเตะ และ “ตะกร้อ” เป็นภาษาไทยแปลว่าลูกบอล

...

กติกาการเล่นตะกร้อของไทยคล้ายแบดมินตัน ส่วนฝั่งมาเลเซียคล้ายวอลเลย์บอล ผลของการสาธิตเล่นร่วมกันครั้งนี้เป็นแนวทางสร้างกติกากีฬาตะกร้อขึ้นใหม่ เพื่อบรรจุในการแข่งขันระดับชาติในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 โดยมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ กลายเป็นที่มาของชื่อกีฬาเซปักตะกร้อ

กีฬาตะกร้อในต่างประเทศ

การเล่นกีฬาตะกร้อในเอเชียพบว่าแต่ละประเทศมีวิธีเล่นและกติกาแตกต่างกัน และที่น่าสนใจคือชนเผ่าดายัคบนเกาะบอร์เนียว มีวิธีเล่นแบบเดียวกับประเทศไทย ลูกตะกร้อของประเทศต่างๆ มีลักษณะดังนี้

  • ประเทศเมียนมา ใช้ลูกตะกร้อที่สานด้วยหวายแบบหลวมโปร่ง มีขนาดรูลูกตะกร้อเท่ากับของไทย เรียก “ชินลง (Ching Loong)”
  • ประเทศลาว สานลูกตะกร้อด้วยหวายเส้นเล็ก มีรูถี่ น้ำหนักเบาเท่าลูกตะกร้อไทย เรียก "กะต้อ (Kator)"
  • ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน สานลูกตะกร้อด้วยหวาย มีสองหรือสามชั้น ไม่มีรู มีลูกเล็กอยู่ข้างใน น้ำหนักเบา ยืดหยุ่นน้อย มีขนาดเล็กกว่าลูกตะกร้อไทย เรียกว่า "รากา (Rage)"
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน นำขี้เถ้ามาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ห่อด้วยสำลีหรือผ้านุ่ม นำขนหางไก่ฟ้ามาปักที่ลูกบอล เรียก "แตกโก (T’EK K’AU)"
  • สาธารณรัฐเกาหลี นำเอาดินหรือขี้เถ้ามาห่อด้วยสำลีหรือผ้านุ่ม นำขนหางไก่ฟ้ามาปักที่ลูกบอลลักษณะคล้ายหัวหอมมีใบอยู่ เรียกเช่นเดียวกับภาษาจีน
  • ประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า "ราโก (Rago)"
  • ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า "ซีปา (Sipa)"

จากประวัติศาสตร์ตะกร้อในการแข่งขันระหว่างประเทศครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งนั้น มี 4 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และลาว

จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2533 เปลี่ยนลูกตะกร้อหวายมาเป็นพลาสติก (Synthetic Ball) เป็นครั้งแรก และใช้ในการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สรุปกติกาเซปักตะกร้อ 18 แบบย่อ ล่าสุด

กีฬาตะกร้อมีกฎกติกาการเล่นตามมาตรฐานสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ (ISTAF) ที่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกในวันที่ 17 มกราคม 2554 ณ กรุงเทพมหานคร สรุปกติกากีฬาเซปักตะกร้อโดยย่อทั้ง 18 ข้อได้ดังนี้

1. สนามแข่งขัน (The Court) สนามมีพื้นที่ 13.40 x 6.10 เมตร ประกอบด้วย เส้นสนาม, เส้นกลาง, เส้นเสี้ยววงกลม และเส้นวงกลมเสิร์ฟ โดยกำหนดการเขียนเส้นให้มีความกว้าง 4 เซนติเมตร และนับเป็นเขตของสนาม

2. เสา (The Post) ตำแหน่งของเสากีฬาตะกร้อต้องวางอย่างมั่นคงตรงกับเส้นกลางสนามและห่างจากเส้นข้าง 30 เซนติเมตร โดยกีฬาตะกร้อประเภทผู้ชาย ใช้เสาสูง 1.55 เมตร ประเภทหญิง 1.45 เมตร

3. ตาข่าย (The Net) ขนาดของตาข่ายกีฬาเซปักตะกร้อ กว้าง 70 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 6.10 เมตร ทำจากเชือกอย่างดี หรือไนลอน มีรูตาข่าย 6-8 เซนติเมตร ขึ้นด้วยเชือกที่แข็งแรง 

...

4. ลูกตะกร้อ (The Sepaktakraw Ball) วัสดุและวิธีการผลิตลูกตะกร้อต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจาก istaf มี 12 รู มีจุดตัดไขว้ 20 จุด ลูกตะกร้อในการแข่งขันประเภทชายต้องมีน้ำหนัก 170-180 กรัม ขนาดเส้นรอบวง 41-43 เซนติเมตร และประเภทหญิง 150-160 กรัม ขนาดเส้นรอบวง 42-44 เซนติเมตร ต้องไม่เป็นสีที่ทำให้ขีดความสามารถของผู้เล่นลดลง

5. ผู้เล่น (The Players) แบ่งออกเป็น 2 ทีม ประกอบด้วยผู้เล่นฝ่ายละ 3 คน ผู้เล่นสองคนที่อยู่ด้านหน้าฝั่งซ้าย เรียก “หน้าซ้าย” ฝั่งขวา เรียก “หน้าขวา” และผู้ที่อยู่ด้านหลังเป็นผู้เสิร์ฟ เรียก เตกอง (Tekong)

- จำนวนผู้เล่นประเภททีมเดี่ยว 1 ทีม มีผู้เล่น  3 คน สำรอง 2 คน รวมไม่เกิน 5 คน
- จำนวนผู้เล่นประเภททีมชุด มีผู้เล่น 9 คน สำรอง 3 คน รวมเป็น 12 คน

6. เครื่องแต่งกายของผู้เล่น (Player’s Attire) ทั้งสองทีมที่แข่งขันต้องสวมเสื้อผ้าสีต่างกัน และแต่ละทีมต้องเตรียมชุดแข่งขัน สีเข้ม กับสีอ่อน ลักษณะเป็นเสื้อยืดคอปก หรือคอกลมแขนสั้น กางเกงขาสั้น ถุงเท้า และรองเท้าพื้นยางไม่มีส้น กรณีอากาศหนาวอนุญาตให้สวมกางเกงวอร์มได้ ติดหมายเลข 1-36 ตรงด้านหน้าเสื้อทีม และใช้หมายเลขนั้นตลอดการแข่งขัน โดยหัวหน้าทีมสวมปลอกแขนให้แตกต่างจากผู้เล่นอื่น

7. การเปลี่ยนตัวผู้เล่น (Substitution) ในทีมชุด คนที่ลงแข่งแล้วจะไม่มีการแข่งขันซ้ำในทีมอีก จะเปลี่ยนตัวเวลาใดก็ได้ โดยให้ผู้จัดการทีมเป็นผู้ยื่นขอต่อกรรมการในช่วงที่ลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น ถ้าเปลี่ยนตัวด้วยการบาดเจ็บหรือได้รับการลงโทษ หากทีมผู้แข่งมีผู้เล่นน้อยกว่า 3 คน จึงยุติการแข่งขัน 

...

8. การเสี่ยงทาย และการอบอุ่นร่างกาย (The Toss of Coin and Worm Up) วัสดุที่นำมาเสี่ยงทายจะเป็นเหรียญหรือวัสดุกลมแบน ผู้ชนะเลือกแดนหรือเลือกเสิร์ฟ ทีมที่เสี่ยงทายชนะจะได้อบอุ่นร่างกายในสนามก่อน 2 นาที อนุญาตให้มีบุคคลในสนามเซปักตะกร้อแค่ 5 คนเท่านั้น

9. ตำแหน่งของผู้เล่นระหว่างส่งลูก (Position of Players During Service) ผู้เสิร์ฟ วางเท้าข้างหนึ่งอยู่ในวงกลมเสิร์ฟ ผู้เล่นด้านหน้าทั้งสองคนต้องยืนอยู่ในวงกลมของตนเอง และผู้เล่นฝ่ายรับจะอยู่ตรงข้าม ยืนบริเวณใดก็ได้ในแดนของตนเอง

10. การเริ่มเล่นและส่งลูก (The Start of Play and Service) ผู้เสิร์ฟต้องส่งลูกตะกร้อให้ข้ามตาข่าย ไม่ว่าลูกตะกร้อนั้นจะสัมผัสตาข่ายหรือไม่ก็ตาม ทันทีที่ผู้เสิร์ฟใช้เท้าเตะลูกตะกร้อ จะอนุญาตให้ผู้เล่นทุกคนเคลื่อนที่ในแดนของตนได้

11. การผิดกติกา (Faults) ผู้เสิร์ฟจะต้องไม่ใช้มือหรือส่วนอื่นของแขนสัมผัสเพื่อช่วยในการเตะลูกตะกร้อ ต้องเสิร์ฟหลังผู้ตัดสินขานคะแนน และอื่นๆ ส่วนฝ่ายเสิร์ฟ และฝ่ายรับ จะต้องไม่ทำการรบกวนให้อีกฝ่ายเสียสมาธิระหว่างเสิร์ฟ  

12. การนับคะแนน (Scoring System) การเล่นเซปักตะกร้อทีมเดี่ยวจะชนะ 3 ใน 5 เซต ทีมชุดชนะ 2 ใน 3 เซต ต้องทำคะแนนให้ได้ 15 คะแนนจึงจะถือว่าชนะในเซตนั้น ถ้าคะแนนเท่ากัน 14-14 ผู้ตัดสินจะต้องขานว่า “ดิวส์คู่ไม่เกิน 17 คะแนน”

13. การขอเวลานอก (Time-Out) ผู้จัดการทีมหรือผู้ฝึกสอนเท่านั้น ที่จะขอเวลานอกได้ และต้องทำขณะลูกตะกร้อไม่ได้อยู่ในการเล่น สำหรับการแข่งขันประเภทเดี่ยวระหว่างขอเวลานอกต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่นอกสนามบริเวณเส้นหลัง 5 คน และการแข่งขันประเภททีมชุด 6 คน

...

14. การหยุดการแข่งขันชั่วคราว (Temporary Suspension of Play) เมื่อผู้เล่นบาดเจ็บ กรรมการผู้ตัดสินสามารถให้หยุดการแข่งได้ชั่วคราว โดยให้เวลาทีมละไม่เกิน 5 นาที หากผู้เล่นไม่สามารถทำการแข่งขันได้ต่อไปต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่น แต่หากเปลี่ยนตัวไปแล้วครบ 2 ครั้งในเซตที่แข่งขัน การแข่งขันนั้นจะยุติลง และให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายชนะ

15. วินัยและมารยาทในการแข่งขัน (Discipline) ผู้เล่นต้องปฏิบัติตามกฎของการแข่งขัน และระหว่างการแข่งขัน อนุญาตให้หัวหน้าทีมเท่านั้นที่ติดต่อกับกรรมการผู้ตัดสิน หากผู้จัดการทีม, ผู้ฝึกสอน, นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ประจำทีมแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ก็ถือเป็นการผิดวินัยร้ายแรงตามบทลงโทษ

16. การลงโทษ (Penalty) การลงโทษทางวินัย ได้แก่ การตักเตือน, ได้รับบัตรเหลือง, ได้รับบัตรแดง, ให้ออกจากการแข่งขัน, ปรับเงิน และพักการแข่งขัน โดยต้นสังกัดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

17. ความผิดของเจ้าหน้าที่ทีม (Misconduct of Team Officials) กรณีที่เจ้าหน้าที่ทีมพฤติกรรมไม่เหมาะสม รบกวนต่อการแข่งขัน จะถูกเชิญออกจากสนามแข่ง และถูกพักปฏิบัติหน้าที่ภายในทีม จนกว่าคณะกรรมการวินัยจะมีประชุมพิจารณา

18. บททั่วไปอื่นๆ (General) หากมีเรื่องราวใดเกิดขึ้นนอกเหนือจากกติกาที่กำหนด ให้ถือคำตัดสินของกรรมการเป็นที่สิ้นสุด

ดูกติกาเซปักตะกร้อ 18 ข้อล่าสุด ทั้งหมด (คลิกที่นี่)

สรุปแล้วจากประวัติศาสตร์ กีฬาตะกร้อถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นเซปักตะกร้อ ในปี พ.ศ. 2508 เนื่องด้วยการเล่นสาธิตร่วมกันระหว่างนักกีฬาไทย และมาเลเซีย ปัจจุบันกีฬาเซปักตะกร้อถูกบรรจุในกีฬาระดับชาติ ในความดูแลของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ (ISTAF) โดยมีประเทศสมาชิกร่วมกันสร้างมาตรฐาน และส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อส่งเสริมกีฬาเซปักตะกร้อให้เป็นกีฬาระดับสากล

อ้างอิง

1. ประวัติกีฬาเซปักตะกร้อ (SEPAK TAKRAW)., เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์., http://blog.bru.ac.th

2. กติกาเซปักตะกร้อของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ (istaf)., เว็บไซต์กรมยุทธศึกษาทหารเรือ., https://www.navedu.navy.mi.th