จากการลงมือทำ สู่การสั่งสมองค์ความรู้ตลอด 35 ปี แนวคิดและวิธีการทำงานด้านความยั่งยืนของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังคงใช้ได้อย่างเห็นผล และเป็นฐานที่แข็งแรงในอนาคต โดยปัจจุบัน หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนเพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ในช่วงบ่ายวันหนึ่งของปลายเดือนพฤศจิกายน ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนในฤดูหนาวของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อคน การปลูกคน และความยั่งยืน ตามแนวทางของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

การนัดหมายเพื่อพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับไวในเวลาไม่นานนัก คุณดุ๊ก หรือหม่อมหลวงดิศปนัดดา ในวัยเกือบ 50 ปี นั่งเป็นหัวเรือใหญ่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

เรานัดหมายกันที่ห้องทำงานใหญ่ห้องหนึ่งในสำนักงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งมีฐานที่มั่นใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ก่อนถึงเวลานัดหมาย เราได้สำรวจบรรยากาศรอบๆ สำนักงานของมูลนิธิ ซึ่งพบว่ามีภาพจากแฟ้มข่าวภาษาอังกฤษที่รายงานถึงการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผ่านการลงพื้นที่ทำงาน ไปจนถึงคำขวัญ (Motto) ของมูลนิธิ 

หนึ่งในคำขวัญการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
หนึ่งในคำขวัญการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

...

เมื่อถึงเวลานัด เขานั่งอยู่เก้าอี้ตรงข้ามของเรา หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ตัวจริงดูหนุ่มกว่าในรูปที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต และพร้อมแล้วที่จะให้คำตอบจากคำถามของเรา

คน ต้นเหตุและทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประเด็นแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมา นั่นคือเรื่องของ “คน” ซึ่งคุณดุ๊กได้ขยายความเรื่องของการพัฒนาคนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นบนโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate change ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เป็นปัญหาของคน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา ควรต้องดูว่าทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ให้ทำในสิ่งที่มองมากกว่าปัจจัยของตัวเอง มองถึงส่วนรวมให้เพิ่มมากขึ้น 

“การทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เลยเน้นว่า ทำอย่างไรที่เราจะสร้างชุมชน สร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มองภาพใหญ่ เป็นสังคมที่มองเห็นประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อตัวเองและครอบครัว”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยกตัวอย่างว่า ดอยตุงในสมัยก่อนมีปัญหาเรื่องของการทำลายป่า และมีปัญหาเรื่องของการปลูกฝิ่น

“ต้นตอของสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการที่คนในพื้นที่อาจจะมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เรื่องของการศึกษา สาธารณสุข เรื่องของระบบงานราชการที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ คนก็เลยต้องพึ่งพาในสิ่งที่เขาจับต้องได้ จะถูกหรือจะผิด เป็นอาชีพที่สุจริตหรือไม่ เขาก็ต้องพยายามทำเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว การที่เราเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ จึงต้องมุ่งเน้นว่าทำอย่างไร ถึงจะหากระบวนการที่ทำให้คนเหล่านี้ประกอบอาชีพได้อย่างสุจริต” ซีอีโอมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อธิบายต่อไปว่า “ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีโอกาสฟื้นฟูธรรมชาติแล้วสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อที่จะต่อยอดให้กับตัวเอง ให้กับครอบครัวในระยะยาวได้ด้วย”

คุณดุ๊ก บอกเพิ่มเติมว่า จากการทำงานในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุด 

“สิ่งที่เราต้องทำก็คือ หาวิธีการการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งแรงจูงใจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ประการแรกก็คือ การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ทำแล้วเกิดรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีรายได้เข้ามาคนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เขาทำอยู่” เขากล่าวเสริมว่า “ต่อมาคือเรื่องของการสร้างความเข้าใจว่าพฤติกรรมของเขามีคุณและมีโทษอย่างไร การที่คนจะมีรายได้ด้วย ทำแล้วเกิดประโยชน์ให้กับตัวเอง กับส่วนรวมได้ด้วย” 

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล พูดคุยอย่างยิ้มแย้ม
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล พูดคุยอย่างยิ้มแย้ม

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บอกว่า ที่มูลนิธิมักใช้คำว่า Small wins กล่าวคือ ชนะไปเรื่อยๆ ทีละนิด ค่อยๆ สร้างความมั่นใจ 

...

“ผมว่าอันนี้มันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเริ่มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วก็ลุกขึ้นมาเป็นคนที่ผมใช้คำว่า ‘เสพติดความดี’ คือทำความดีอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ว่าถ้าเกิดมันไม่มีแรงจูงใจในลักษณะของเศรษฐกิจเข้ามาก่อน ไม่มีระบบที่จะมาวางให้เขาสามารถที่จะเดินไปในเส้นทางนี้ได้อย่างถูกต้อง มีกระบวนการที่จะทำให้เขาได้การเรียนรู้ ทั้งด้านองค์ความรู้ใหม่ ทางด้านวิธีการในการที่จะบริหารจัดการความเห็นที่แตกต่างของชุมชน มันก็จะไม่เกิดความยั่งยืน” เขาเล่า “อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวให้ชุมชนเล็งเห็นในภาพเดียวกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในแง่การดูแลธรรมชาติ การสร้างความยั่งยืนกับการมีรายได้ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ความไว้ใจ’ ซึ่งสิ่งนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นสำเร็จเพียงแค่ข้ามวันข้ามคืน”

ม.ล.ดิศปนัดดา ขยายความว่า การสร้างความไว้วางใจ เปรียบดั่งการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทสักคนหนึ่ง เพราะกว่าที่เราจะมีเพื่อนสนิทสักคนหนึ่ง มันต้องผ่านอะไรมาด้วยกันหลายอย่าง ทั้งการสนับสนุนกันและกัน การให้เกียรติ การให้ความเคารพ ก้าวข้ามความแตกต่าง การทะเลาะเบาะแว้ง เพื่อให้เกิดการปรับความเข้าใจ

“หลักการพัฒนามันก็เหมือนกันนะ สำหรับผมคิดว่าทำอย่างไรให้เราเข้าไปอยู่ในใจของเขา การที่เราจะไปอยู่ในใจของชุมชนได้ ให้ชุมชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจเรา มันคือเรื่องของการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องมองว่าสิ่งที่ทำอยู่มันถูกหรือผิด พยายามเข้าใจว่าทำไมชุมชนถึงทำเช่นนั้น หลังจากนั้นค่อยเสนอแนวทาง เมื่อความไว้วางใจเกิดขึ้น ทำให้เกิดบทสนทนาในหลายเรื่อง ซึ่งแต่เดิมมันอาจจะคุยกันไม่ได้เลย ก็คุยกันได้แล้ว พอเรามีกระบวนการที่มันถูกต้อง และต้องปฏิบัติได้จริง อีกทั้งต้องเคารพความเป็นตัวตนด้วย”

...

"ความเข้าใจ" หนึ่งในวิธีการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ถึงตอนนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีองค์ความรู้อยู่ในมือจากการสั่งสมประสบการณ์ด้วยการทำงานจริงมากกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำโครงการแรก ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาดอยตุง ปัจจุบันนี้มีการพัฒนาต่อเนื่อง แต่มันก็ยังคงเป็นเรื่องของพื้นฐานเดิม นั่นคือการตอบโจทย์ความต้องการของคนในระดับพื้นฐาน แล้วเมื่อทำมาเรื่อยๆ ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะถึงจุดที่ตกตะกอนแล้วว่า องค์ความรู้ชุดไหน เป็นองค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานที่ต้องมีในทุกๆ พื้นที่ที่ลงไปทำ เสร็จแล้วก็ต้องนำมาปรับใช้กับองค์ความรู้ที่อาจสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อม สภาพภูมิสังคม บางทีเราทำงานในเมืองไทย เราก็มองพวกเกษตร หรืองานหัตถกรรม แต่ถ้าเป็นต่างประเทศ มันก็เป็นอีกโจทย์หนึ่ง

“ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอัฟกานิสถาน เรื่องของเกษตรแทบจะเรียกว่าเป็นศูนย์เพราะว่าพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง สภาพอากาศยากมากต่อการเพาะปลูก ถ้าเกิดไม่มีเรื่องของปัจจัยส่งเสริมเรื่องของน้ำ เราก็ต้องไปมองเรื่องของปศุสัตว์ว่าทำไงถึงจะทำได้”

...

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ขณะกำลังอธิบายการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ขณะกำลังอธิบายการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำงานมาถึงจุดที่คิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้ นำมาให้เกิดนวัตกรรมใหม่กับภาคเอกชนได้ 

“ถ้าเกิดว่าเอกชนได้เพียงอย่างเดียว แต่ว่าผู้ประกอบการรายย่อย หรือเรียกว่า Downstream ไม่ได้อะไรเลย สุดท้ายก็จะไม่มีใครส่งสินค้า หรือส่ง Raw materials ก็อยู่กันไม่ได้”

ปัจจุบันต้องมีกระบวนการแก้ไขเรื่องที่เกี่ยวกับ Climate change เข้ามา มันเหมือนกับมันถูกเร่งรัดให้ทุกคนพยายามปรับสภาพตัวเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด กฎเกณฑ์กติกาโลกก็เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตมันอาจมีเรื่อง Barrier to entry หรือว่าการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับเรื่องของสภาพภูมิอากาศเข้ามา 

คุณดุ๊ก อธิบายว่า ถ้าประเทศไทยไม่ได้มีกระบวนการในการปรับตัว ก็จะทำให้การแข่งขันลดลง เพราะฉะนั้นเขาก็มีแรงจูงใจแล้วที่จะต้องปรับตัว ดังนั้นองค์ความรู้ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็ต้องปรับไปอีกขยักหนึ่งว่าต้องทำอย่างไร 

“จากเดิมที่เราไปเทรนชาวบ้าน ตอนนี้ต้องมาเทรนให้กับพนักงานบริษัท ผู้จัดการ หรือระดับรองประธานบริษัท เพื่อที่ให้มีความรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเหล่านี้ ถ้าเกิดทำให้ดีแล้วนอกจากจะไปตอบโจทย์ในเรื่องของการช่วยเหลือชุมชนแล้ว จะสร้างผลดีต่อมูลค่าของแบรนด์ (Brand value) ให้กับตัวองค์กรเอง อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ หรือทุนต่างๆ ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งตอนนี้ผมว่ามันเป็นจุดค่อนข้างสำคัญ เราเองตระหนักในเรื่องนี้ องค์ความรู้ที่เรามีมาโดยเฉพาะในมิติในเรื่องของคน จึงเป็นสิ่งที่มีมูลค่า และในอนาคตน่าจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น”

ภารกิจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต

เราคุยกันต่อในเรื่องของตำราแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเขาตอบว่า สิ่งที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มี เรียกว่า Common knowledge เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่สิ่งที่เป็นจุดต่างเป็นเรื่องของการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริง

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี เราใช้เวลาของตัวเราเองในฐานะนักพัฒนา เป็นสายปฏิบัติที่ทำงานในพื้นที่มาโดยตลอด อีกทั้งบุคลากรของมูลนิธิฯ ทำงานมานานมาก ดังนั้นแล้วองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลจึงมีความลึก มีประสบการณ์ที่พร้อมแก้ปัญหาในมิติต่างๆ ก็เป็นประสบการณ์ที่โชกโชน จุดนี้เป็นจุดที่เรามีความแตกต่างอย่างชัดเจน”

“บางส่วนงานเขาอาจมีโอกาสเรียนจบสูงๆ ด้านความยั่งยืน แต่ของเราอยู่ในมิติด้านความยั่งยืนมาทั้งชีวิต ซึ่งเราใช้คำว่า Passive knowledge บางทีก็เป็นมวยวัดที่เราทำออกมาแล้วมันประสบผลจริง เกิดประโยชน์จริง จับต้องได้จริง ไม่ได้เป็นทฤษฎี ไม่ได้พูดให้ฟังดูดีนะ แต่เป็นการทำให้เกิดผล แล้ววัดผลว่าชาวบ้านได้อะไร ในมิติเศรษฐกิจ มิติความเข้มแข็งของชุมชน ในมิติของการฟื้นฟู หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เรามี Output และ Outcome ที่แตกต่างกัน”

คุณดุ๊ก หม่อมหลวงดิศปนัดดา
คุณดุ๊ก หม่อมหลวงดิศปนัดดา

เมื่อเราถามต่อไปในประเด็นของ Greenwashing หรือการฟอกเขียว คุณดุ๊ก ตอบว่า Greenwashing สำคัญอยู่ที่เจตนา (Intention) มากกว่า อยากให้มันเกิดขึ้น หรือทำแล้วเกิดผลที่มาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การทำโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แปลว่ามันสามารถที่จะพัฒนาให้มันกลายเป็นดีได้ 

“ในวันนี้มันมีความสำคัญมากที่เราต้องพยายามฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นกระบวนการกระบวนการนี้มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดให้ได้ เพื่อความอยู่รอดของหลาน ของเหลน ของเราต่อไปในอนาคต สิ่งที่เราไม่มีวันนี้คือ Know-how มากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราช่วยกันพัฒนา Know-how โดยเป็น Know-how ในเรื่องของการทำ และเรื่องของการประเมิน เราอาจพูดได้ว่า วันนี้เราอาจล้ำหน้าไปก่อนกฎเกณฑ์กติกา วิทยาศาสตร์อาจไล่ตามไม่ทันในหลายปัจจัย จึงทำให้มันเกิดการทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ขึ้น”

เขาเล่าต่อไปว่า เมื่อไรก็ตามที่วิทยาศาสตร์ไล่ตามทัน กระบวนการของ Greenwashing ก็คงจะเกิดขึ้นน้อยลง ส่วนคนที่ตั้งใจทำ หรือจงใจทำ Greenwashing คนเหล่านี้ก็คงต้องมีกระบวนการทางกฎหมายมากำกับดูแลว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น

“สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือสิ่งที่เวลาที่มีคนทั่วไปอ่านข่าวว่า มี Greenwashing เยอะๆ แล้วทุกโครงการที่ทำ ถูกตั้งแง่ว่า เฮ้ย คุณกำลัง Greenwashing หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะมันจะทำให้ความพยายาม ความตั้งใจของหลายๆ องค์กรที่จะทำให้มิติของการอนุรักษ์แล้วก็ฟื้นฟูธรรมชาติมันมีความท้าทายที่ไม่มีความจำเป็น”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ความเห็นว่า มีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ แล้วก็ต้องทำโดยดีที่สุดบนความรู้ที่ชัดเจนที่สุด แล้วก็ต้องรออีกสักนิดหนึ่ง อดทนกันสักนิดหนึ่งให้เรื่องของวิทยาศาสตร์มาไล่ตามทันวิธีการ หรือวิธีการประเมิน เมื่อไล่ทันแล้ว ปัจจัยนี้น่าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

ถึงเวลาหา S-curve ใหม่

ขณะนี้เรากำลังสนทนาในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2023 ดังนั้นคำถามที่มักถูกหยิบมาถามเสมอ นั่นคือเป้าหมายของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึง มีลักษณะหน้าตาอย่างไร 

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ใช้เวลาไม่นานนักก่อนที่จะตอบว่า ในวันนี้มูลนิธิมีความจำเป็นที่ต้องหา S-curve ใหม่ จำเป็นต้องมีความพยายามที่จะมองในเรื่องของ Impact ดอยตุงก็ต้องถูกยกระดับ เช่นเดียวกับการดีลกับคนที่เป็น Generation ที่ 3 ที่เกิดจากพื้นที่ดอยตุง เพื่อหาโจทย์และตอบสนองความต้องการของเขาต่อไปอีก 10-30 ปีข้างหน้า แล้วโจทย์เหล่านี้คืออะไร นั่นคือกิจกรรมที่ดอยตุงต้องมุ่งเน้น

“ดอยตุงเป็นธุรกิจที่มีกำไร แต่กำไรของเรานำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โจทย์ของเราคือเราจะนำกำไรไปทำอย่างไร ที่จะไปเติมเต็มศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้เขามีโอกาสที่จะไปได้เท่าเทียมกับคนที่กรุงเทพฯ คนที่เชียงใหม่ คนที่ประเทศอื่นๆ อันนี้น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา บอกเล่าถึงแผนงานในปีหน้า
หม่อมหลวงดิศปนัดดา บอกเล่าถึงแผนงานในปีหน้า

อีกอันหนึ่งคือทำอย่างไรที่เราจะเอาองค์ความรู้ที่มี แล้วนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ขยายผลให้เกิดประโยชน์ในวงที่กว้างขึ้นกว่าเก่า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราต้องไปหาพันธมิตร ในการที่จะมาทำงานร่วมกับเรา มีพันธมิตรจากไหนบ้างที่อยากจะทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คนเหล่านั้นควรจะเป็นใคร ธุรกิจที่มีความต้องการในการเปลี่ยนแปลงคืออะไร แล้วองค์ความรู้ที่เรามีจะต้องถูกปรับอย่างไร เพื่อที่จะให้ไปสอดคล้องกับความต้องการของเขา ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป น่าจะเป็นมิติเรื่องนี้ที่เราให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น 

ต่อไปคือเรื่องของการดูแลฟื้นฟูป่า รักษา อนุรักษ์ป่า ปีหน้าจะเข้าปีที่ 4 แล้วที่มีการดำเนินการ โดยมีกระบวนการบูรณาการความร่วมมือ 3 ส่วนงาน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน แล้วก็ชุมชนในการที่จะใช้กลไกป่าชุมชนใน พ.ร.บ.ของภาครัฐมาเป็นตัวเปิดให้เกิดกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน 

“ถ้าชุมชนดูแลพื้นที่ป่าได้ดี เอกชนก็สามารถนำคาร์บอนเครดิต (Carbon credits) มาใช้ Offsets หรือในการ Net-zero pathways ได้ เราก็กำลังหาวิธีการในการที่จะทำให้เราสามารถที่จะสเกลธุรกิจไปได้เร็ว เพราะเราก็เห็นว่าปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องเร่ง ต้องเดินให้เร็ว แล้วก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อเราเดินไปแล้วก็ต้องเดินได้อย่างถูกต้อง ตามกฎตามเกณฑ์กติกาต่างๆ แล้วก็ไม่ไปล้ำหน้าวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และไม่เกิดประเด็น Greenwashing พยายามที่จะแสดงให้เห็นเลยว่าถ้าชุมชนได้รับโอกาส ธรรมชาติก็จะได้รับการดูแล”

คำถามสุดท้ายที่ถูกส่งไปยังคู่สนทนาที่นั่งอยู่ตรงข้าม เราได้ถามว่า จากที่พูดคุยมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนมิติด้านการพัฒนาชุมชน หรือการแก้ปัญหาให้กับ Climate change มีอะไรเป็นแรงขับผลักดัน

คุณดุ๊ก อธิบายว่า แรงบันดาลใจในการทำงานเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามย้อนไปยังตัวเองว่า ถ้าเกิดในอีก 30 ปีข้างหน้า เวลาที่ลูกของเรามีลูก สภาพแวดล้อมที่รุ่นหลานจะเติบโตขึ้นมา มันเป็นอย่างไร

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล หัวเรือใหญ่แห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล หัวเรือใหญ่แห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

“ในวันนี้เป็นวันที่เราเองกำลังอยู่ในช่วงของชีวิตที่สามารถทำอะไรได้ แล้วถ้าเราใช้เวลาของเราตรงนี้ไปสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตามให้กับหลาน ให้เหลนในอนาคต เราจะทำหรือเปล่า ซึ่งผมได้คำตอบชัดเจนว่า ‘ผมทำ’ ก็เลยเป็นเหมือนกับแรงบันดาลใจที่พยายามขับเคลื่อนตัวเอง ขับเคลื่อนองค์กร พยายามที่จะทำให้ดอยตุง หรือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ให้คนอื่นเห็นว่ามูลนิธิหนึ่งๆ ที่ไม่ได้มีทรัพยากรเยอะมาก ยังมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง” เขากล่าว

หม่อมหลวงดิศปนัดดา พูดติดตลกว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดมีโดราเอมอนขึ้นมาจริงแล้วนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาได้ แล้วเหลนของเรามาถามว่า ทวดได้ส่งต่อธรรมชาติที่ดีให้กับเขาแล้วหรือยัง ก็จะได้ตอบอย่างมั่นใจว่า “ผมทำแล้ว”