ข่าวดีสำหรับคนรักสัตว์ ล่าสุดวันที่ 13 พ.ย. 2566 มีรายงานว่าพบวาฬสีน้ำเงินในไทยแถวหมู่เกาะสุรินทร์ หลังจากที่เคยพบล่าสุดเมื่อ 6 ปีก่อน แถวทะเลพังงา

รู้จักวาฬสีน้ำเงิน ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล

วาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) จัดว่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทั่วไปจะมีขนาดยาวประมาณ 30-34 เมตร ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมีความยาวถึง 60 เมตร ซึ่งเทียบได้กับความยาวของช้างในปัจจุบันจำนวนแปดเชือกมาต่อกันเรียงแถว น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ ประมาณ 100-200 ตัน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ลูกแรกเกิดมีขนาดยาว 7-8 เมตร อายุยืน 80-90 ปี

ลูกวาฬสีน้ำเงินหย่านมเมื่ออายุ 8 เดือน วัยเจริญพันธุ์อายุ 8-10 ปี ตัวเมียมีวงรอบการตกลูกทุก 2-3 ปี ในฤดูหนาว ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว

นอกจากขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว วาฬสีน้ำเงินยังมีลักษณะเด่นที่น่าสนใจคือส่วนหัวมีสีน้ำเงินสม่ำเสมอ ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำเงินอมเทา ส่วนท้องสีจางกว่าเล็กน้อย ด้านหลังและด้านข้างมีลายสีน้ำเงิน หรือเทาอ่อน มีลักษณะเป็นดวงๆ เหมือนรอยด่าง ลำตัวเพรียวยาว ส่วนหัวกว้างคล้ายตัวยู (U-shaped) เมื่อมองจากด้านบน

มีสันกลางหัว 1 สัน มีช่องหายใจขนาดใหญ่ 2 รู มีซี่กรอง 260-400 คู่ แต่ละซี่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ลักษณะของซี่กรองค่อนข้างหยาบ มีร่องใต้คาง 60-88 ร่อง ยาวเกือบถึงสะดือ ครีบหลังมีขนาดเล็กอาจมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม หรือลาดเอียง ปลายครีบแหลม หรือกลมมน ฐานครีบหลังตั้งอยู่ค่อนไปทางหาง คอดหางหนา ครีบข้างเพรียวยาว ปลายครีบแหลม และมีสีอ่อนกว่าส่วนอื่นของครีบ มีความยาวได้ถึงร้อยละ 15 ของความยาวลำตัว ครีบหางกว้างประมาณ 1 ส่วน 4 ของความยาวลำตัว มีร่องกึ่งกลางระหว่างแพนหาง

...

ขนาดของวาฬสีน้ำเงินเมื่อเทียบกับสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ
ขนาดของวาฬสีน้ำเงินเมื่อเทียบกับสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ

อาหารของวาฬสีน้ำเงินคือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น เคยสายพันธุ์ต่างๆ (Krill) วิธีการกินอาหารโดยการอ้าปากขยายร่องใต้คางให้ใหญ่ขึ้น และพุ่งเข้าหาเหยื่อโดยมักจะตะแคงตัว หรือหงายท้อง โดยกินอาหารทั้งผิวน้ำ และที่ระดับความลึกถึง 300 เมตร สามารถดำน้ำได้นานถึง 36 นาที ว่ายน้ำ 3-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 7-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมีสิ่งรบกวน วาฬสีน้ำเงินใช้เสียงในการส่งสัญญาณสื่อสารกันในระยะทางไกล เป็นเสียงแบบอินฟราโซนิก (Infra Sonic) 17-20 เฮิร์ตซ์ ซึ่งต่ำเกินไปสำหรับมนุษย์ที่จะได้ยิน วาฬสีน้ำเงินจะโผล่ส่วนหัว และช่องหายใจเหนือผิวน้ำมากกว่าวาฬชนิดอื่นๆ

การพบวาฬสีน้ำเงินในไทย

ถิ่นอาศัยของวาฬสีน้ำเงินจะอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้, แอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงในมหาสมุทรแอนตาร์กติกด้วย

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาเคยมีรายงานว่าพบวาฬสีน้ำเงินในทะเลไทยเพียง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นบริเวณฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ต่อมาพบเข้ามาเกยตื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี พ.ศ.2556 ครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2560 พบที่หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา

พบล่าสุดครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 พฤศิจิกายน พ.ศ.2566 ได้มีรายงานว่าพบวาฬสีน้ำเงินที่บริเวณทะเลหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ซึ่งเป็นที่ตื่นเต้นในหมู่คนรักสัตว์และวาฬเป็นอย่างมาก กับการพบวาฬสีน้ำเงินในครั้งนี้

วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมกันของภูมิภาคและระดับโลก ประชากรปลาวาฬสีน้ำเงินโตเต็มวัยทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 5,000-15,000 ตัว

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้ “วาฬสีน้ำเงิน” เป็นสัตว์ป่าสงวน จากเดิมเป็นสัตว์ป่าควบคุม อนุรักษ์เข้มงวดไม่ให้สูญพันธุ์

เนื่องจากในอดีต วาฬสีน้ำเงิน มักถูกล่าจับเป็นจำนวนมากเพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเป็นกรดในทะเล ส่งผลต่อการสืบพันธุ์ จึงเป็นที่มาของการเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวนในครั้งนี้.

ข้อมูลอ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : Getty Image