ชวนทำความรู้จักหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค ‘สารให้ความหวานแทนน้ำตาล’ มีกี่ประเภท กินเยอะปลอดภัยหรือไม่
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กลับมามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม จึงอยากชวนทำความรู้จักสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีและการทานที่ถูกต้อง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค หากราคาน้ำตาลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Artificial sweeteners) คือ สารชนิดหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มความหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อทดแทนแทนน้ำตาล ซึ่งสารเหล่านี้มีหลากหลายประเภท ทั้งแบบให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน เป็นที่นิยมในผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาล และใช้ทางการแพทย์เพื่อเป็นเครื่องปรุงรสอาหารสำหรับผู้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ประเภทสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- สารให้ความหวานไม่ให้พลังงาน
แอสปาร์แตม (Aspartame)
...
แอสปาร์แตมถือว่าเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทรายมากที่สุด จึงเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีความหวานประมาณ 200-300 เท่าของน้ำตาลทรายในปริมาณเดียวกัน
สตีวิโอไซด์ หรือหญ้าหวาน (Stevioside)
สารสกัดจากหญ้าหวาน หนึ่งในการทดแทนน้ำตาลที่นิยมใช้เช่นกัน ให้รสหวานจัด มีความหวานประมาณ 280-300 เท่าของน้ำตาลทราย
ซูคราโลส (Sucralose)
เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive, E955) มีวัตถุดิบเริ่มต้นมาจากน้ำตาลซูโครส (sucrose) โดยแทนที่กลุ่มไฮดรอกซิล 3 ตำแหน่งด้วย อะตอมคลอไรด์ ทำให้มีโครงสร้างคล้ายน้ำตาล แต่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้
- สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน
แมนนิทอล (Mannitol)
สารที่เกิดจากกระบวนการไฮโดรจิเนชัน (Hydrogenation) ของน้ำตาลฟรักโทส สามารถพบได้ตามธรรมชาติในผลไม้ตระกูลเบอร์รี และผลไม้อีกหลายชนิด รวมทั้งเห็ดเยื่อไผ่ (bamboo mushroom) และสาหร่ายทะเล โดยเป็นสารที่มีแคลอรีต่ำ
ไซลิทอล (Xylitol)
ไซลิทอลเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่มีความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลทราย พบได้จาก พืช ผัก และผลไม้ เชื่อว่าสารชนิดนี้ไม่ทำให้ฟันผุ เพราะว่าไม่สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในช่องปากได้ รวมถึงสามารถดูดซึมในร่างกายได้ช้า การใช้สารไซลิทอลนี้ไม่ขึ้นกับสารอินซูลิน จึงไม่มีผลต่อปริมาณน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงสามารถบริโภคได้
ซอร์บิทอล (Sorbitol)
ผลิตผลทางการเกษตรชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบมาจากมันสำปะหลัง มันฝรั่ง และเมล็ดธัญพืชต่างๆ กระบวนการผลิตซอร์บิทอลเริ่มต้นจากการย่อยโมเลกุลของสตาร์ซ ให้เป็นโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส เรียกว่า Starch Hydrolysis ได้สารตั้งต้น คือ น้ำเชื่อมกลูโคส glucose syrup แล้วจึงทำปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน (Hydrogenation) โดยซอร์บิทอลเหมาะสำหรับทางการแพทย์ และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก อาหารให้พลังงานต่ำ และไม่มีน้ำตาล
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ปลอดภัยหรือไม่
- คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมวัตถุเจือปนอาหาร (JECFA) เคยกล่าวถึง แอสปาร์แตม และสารให้ความหวานแทนน้ำตาลว่า การบริโภคสารเหล่านี้มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง หากอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและจำนวนการบริโภค สรุปได้ว่า การบริโภคให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะแอสปาร์แตม และสารอื่นๆ ต้องอยู่ในปริมาณจำกัด เช่น แอสปาร์แตมจะอยู่ที่ 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถึงอย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้ยังมีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนต้องเกิดการวิจัยและพิสูจน์อย่างจริงจัง ณ เวลานี้
- เนื้อหาที่เผยแพร่ผ่าน IARC เบื้องต้นนั้นยังอยู่ในกระบวนการการทดลอง และทดสอบสารแอสปาร์แตม โดยจำแนกความอันตรายออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันดังนี้ กลุ่มที่ 1 : สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (หลักฐานเพียงพอสำหรับมะเร็งในมนุษย์), กลุ่ม 2a อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (หลักฐานจำกัดในมนุษย์ หลักฐานเพียงพอในสัตว์), กลุ่ม 2b อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (หลักฐานจำกัดในมนุษย์ หลักฐานไม่เพียงพอในสัตว์) และ กลุ่มที่ 3 จำแนกไม่ได้ (หลักฐานไม่เพียงพอทั้งในมนุษย์และสัตว์) การตรวจสอบหาสาเหตุที่เป็นไปได้ของสารก่อมะเร็งของสารแอสปาร์แตม ปัจจุบันยังอยู่ในระดับ 2b เป็นกลุ่มที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่สารแอสปาร์แตมยังคงมีความปลอดภัยอยู่ในระดับหนึ่ง อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้แนะนำการบริโภคน้ำตาล รวมถึงสารให้ความหวานแทนน้ำตาลว่า ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน รวมถึงสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้ง หากบริโภคมากเกินไป จะทำให้ค่าไขมันไตรกลีซอไรด์สูงได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส รวมถึงฟรักโทส สตีวิโอไซด์ (หญ้าหวาน) แม้เป็นสารให้ความหวานที่ปลอดภัย แต่มีข้อจำกัดในการบริโภคเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ควรบริโภคไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน รวมถึงสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ควรใช้อย่างเหมาะสม ไม่มากจนเกินไป
...
ข้อมูล : ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหาร และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ภาพ : istock